แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่ ป. และมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โดยมิได้กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้ ป. จะได้ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน ป. ไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่ง ป. ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ แต่เมื่อ ป. และโจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาได้ร่วมกันครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ยังครอบครองที่ดินอยู่ จึงถือได้ว่า ป. และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปแบ่งแยกโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ได้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่มีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 9 ไม่อาจนำที่ดินพิพาทบางส่วนไปจดทะเบียนจำนอง
สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามกฎหมายที่มิให้โอนที่ดินพิพาท การที่ ป. ได้สิทธิครอบครองในที่ดินเป็นการได้ตามผลของกฎหมายจึงหาอาจเรียกให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. ได้ไม่
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2553)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2741 ตำบลบ่อกรุ (ปัจจุบันตำบลหนองกระทุ่ม) อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ 20 ไร่ ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของนายเปี้ยน ให้จำเลยทั้งสิบออกจากที่ดินดังกล่าว และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินของนายเปี้ยน โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จดทะเบียนโอนที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวคืนแก่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 9 ไถ่ถอนจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของนายเปี้ยน และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินคืนแก่นายเปี้ยน หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการไม่ได้เข้าทำประโยชน์ปีละ 60,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้กลับเข้าครอบครองที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลยทั้งสิบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสิบแก้ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายเปี้ยนซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และนายเปี้ยนกับโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามฟ้องนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 2741 ให้แก่นายเปี้ยน และนายเปี้ยนกับโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แต่ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่ทางราชการห้ามโอนภายใน 10 ปี การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายเปี้ยนกับจำเลยที่ 1 กระทำภายในกำหนดเวลาห้ามโอนจึงเป็นโมฆะ การครอบครองที่ดินพิพาทของนายเปี้ยนกับโจทก์จึงเป็นการครอบครองแทนจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นายเปี้ยนกับโจทก์ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการครอบครอง นายเปี้ยนกับโจทก์จึงไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้ยกปัญหาข้อเท็จจริงว่า นายเปี้ยนได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ และนายเปี้ยนกับโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ ขึ้นกล่าวแก้เป็นประเด็น ปัญหาทั้งสองข้อดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสิบในส่วนนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น (เฉพาะจำเลยที่ 1) และในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสิบจึงยกขึ้นกล่าวแก้เป็นประเด็นในคำแก้ฎีกาในชั้นฎีกาไม่ได้ด้วย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า นายเปี้ยนกับโจทก์ได้สิทธิในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ทางราชการออกให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2519 โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายเปี้ยน แล้วนายเปี้ยนเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับนายเปี้ยน โจทก์กับนายเปี้ยนก็ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่นายเปี้ยนในขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนที่ดิน ตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้นายเปี้ยนกับโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวตลอดมา โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกจนเลยกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดห้ามโอนที่ดิน นายเปี้ยนกับโจทก์ก็ยังครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาโดยตลอด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่นายเปี้ยนโดยมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นายเปี้ยน โดยมิได้กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้นายเปี้ยนจะได้ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน นายเปี้ยนไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ แต่เมื่อนายเปี้ยนและโจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับนายเปี้ยนได้ร่วมกันครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ยังครอบครองที่ดินอยู่ จึงถือได้ว่านายเปี้ยนและโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปแบ่งแยกโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ได้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่มีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และจำเลยที่ 9 ไม่อาจนำที่ดินพิพาทบางส่วนไปจดทะเบียนจำนอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า นายเปี้ยนและโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์เบิกความว่า นายฟองเป็นผู้ไถต้นอ้อยของโจทก์เสียหาย แล้วเบิกความลอย ๆ ว่า ทราบว่าไม่ใช่นายฟองคนเดียว แต่จำเลยที่ 1 และบุตรของนายฟองร่วมไถต้นอ้อยของโจทก์ ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสิบมีส่วนทำละเมิดทำให้ต้นอ้อยของโจทก์เสียหายหรือไม่ จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ได้ ส่วนการที่จำเลยทั้งสิบเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินไม่ได้ ซึ่งโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในที่ดินปีละ 60,000 บาท นั้น ปรากฏเพียงว่าโจทก์ได้สืบถึงความเสียหายในส่วนนี้ไว้ แต่ฟ้องว่าจะขายอ้อยได้ แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงจำนวนที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 20 ไร่ ปลูกอ้อยขายได้ไร่ละ 4,000 บาท จึงสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ปีละ 40,000 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสิบจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้แก่นายเปี้ยนนั้น เห็นว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามกฎหมายที่มิให้โอนที่ดินพิพาท การที่นายเปี้ยนได้สิทธิครอบครองในที่ดินเป็นการได้ตามผลของกฎหมาย จึงหาอาจเรียกให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายเปี้ยนได้ไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องนายเปี้ยน เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยทั้งสิบและบริวารเกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล. 1 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ให้จำเลยทั้งสิบใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินปีละ 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาทตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล. 1 ให้จำเลยที่ 9 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 57 ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี หากไม่ไถ่ถอนให้โจทก์ไถ่ถอนได้เองโดยให้จำเลยที่ 9 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ให้จำเลยทั้งสิบใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยให้คิดค่าขึ้นศาลเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท