คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7804/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าดอกเบี้ยจำนวนที่โจทก์นำไปวางพร้อมเงินต้นที่สำนักงานวางทรัพย์ เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองที่ค้างชำระเป็นระยะเวลา 5 ปี เท่ากับสิทธิเรียกร้องของผู้รับจำนองที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับโอนสิทธิจำนองซึ่งมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้รับจำนอง จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยในส่วนเกินกำหนดเวลาดังกล่าวนี้หาได้ไม่ และโจทก์ในฐานะลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 331

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินเลขที่ 16257, 16258 และ 16259 พร้อมจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 16257, 16258 และ 16259 ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2526 นายสันติกู้ยืมเงินจากนางสาววิมลรัตน์ 250,000 บาท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 16257, 16258 และ 16259 ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2536 นายสันติถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นวันที่ 23 มกราคม 2550 นางสาววิมลรัตน์ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นนางสาวชนิดาภาได้จดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวให้แก่นายอาภากร และวันที่ 30 ตุลาคม 2555 นายอาภากรจดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองที่ดินทั้งหมดให้แก่จำเลย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสันติประสงค์จะชำระหนี้กู้ยืม 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่ค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี คิดเป็นเงิน 187,500 บาท ให้แก่จำเลยจึงได้มีหนังสือแจ้งจำเลยให้ไปรับชำระหนี้ดังกล่าว และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาพนัสนิคม ในวันที่ 7 มีนาคม 2557 จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ไปตามนัด ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2557 โจทก์จึงนำเงิน 437,500 บาท ไปวางต่อเจ้าพนักงานวางทรัพย์ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี เพื่อชำระหนี้แก่จำเลย โดยโจทก์และเจ้าพนักงานวางทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งการวางทรัพย์ให้จำเลยทราบแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระแก่จำเลยเกินกว่าจำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์ได้นำไปวางต่อเจ้าพนักงานวางทรัพย์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระโดยนำไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ให้แก่จำเลยในฐานะผู้รับโอนสิทธิจำนองนั้นเป็นการชำระให้จำเลยเพียง 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาจำนอง ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับจากวันที่โจทก์นำไปวางให้แก่จำเลยที่สำนักงานวางทรัพย์ย้อนหลังขึ้นไป 5 ปี โจทก์ยังมิได้ชำระให้แก่จำเลยแต่อย่างใด และการชำระดอกเบี้ยของโจทก์ในกรณีดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจในสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความไม่สามารถเรียกคืนได้ โจทก์ยังคงมีภาระหนี้ค่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระแก่จำเลยอีกต่อไป เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตามแต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าดอกเบี้ยจำนวนที่โจทก์นำไปวางพร้อมเงินต้น เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองที่ค้างชำระเป็นระยะเวลา 5 ปี เท่ากับสิทธิเรียกร้องของผู้รับจำนองที่มีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับโอนสิทธิจำนองซึ่งมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้รับจำนอง จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยในส่วนเกินกำหนดเวลาดังกล่าวนี้หาได้ไม่ และเมื่อโจทก์ได้วางทรัพย์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยอันเป็นวัตถุแห่งหนี้เพื่อประโยชน์แก่จำเลยครบถ้วนตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยแล้ว โจทก์ในฐานะที่เป็นลูกหนี้ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแทนโจทก์ 5,000 บาทค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาอย่างอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share