แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 21 บัญญัติว่า “ผู้อำนวยการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย คือ (1) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือนและค่าจ้าง ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้…” ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจผู้อำนวยการจำเลยเป็นผู้ลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง และการลงโทษทางวินัยต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้ ซึ่งข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัย คือ ข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544 ตามข้อบังคับดังกล่าวกำหนดเรื่องการสอบสวนและการลงโทษไว้ในหมวด 9 ตั้งแต่ข้อ 59 ถึงข้อ 70 โดยข้อ 62 กำหนดเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการเสนอรายงานการสอบสวนและความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยเร็วเท่านั้น ส่วนอำนาจในการสั่งลงโทษทางวินัยพนักงานหรือลูกจ้างโดยทั่วไปก็มิได้จำกัดอำนาจผู้อำนวยการจำเลยไว้ คงมีข้อบังคับข้อ 66 กำหนดว่าในกรณีที่ผู้อำนวยการจำเลยจะลงโทษทางวินัยพนักงานตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการฝ่าย หรือตำแหน่งซึ่งเทียบเท่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน ผู้อำนวยการจำเลยจึงสั่งได้เท่านั้น อันแสดงว่าตามข้อบังคับให้อำนาจผู้อำนวยการใช้ดุลพินิจลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้างทั่วไปได้โดยลำพัง เว้นแต่กรณีเป็นพนักงานหรือลูกจ้างระดับสูงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนตามข้อ 66 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่พนักงานที่ดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในข้อ 66 และข้อบังคับไม่ได้กำหนดถึงกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอรายงานและความเห็นต่อผู้อำนวยการแล้วต่อมาผู้อำนวยการได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมและมีการเสนอรายงานการสอบสวนโดยมีความเห็นในครั้งแรกกับครั้งหลังไม่ตรงกันดังเช่นกรณีของโจทก์ว่าให้ผู้อำนวยการดำเนินการอย่างไร การที่ อ. รักษาการแทนผู้อำนวยการจำเลยในขณะนั้นพิจารณาสำนวนการสอบสวนทั้งหมดแล้วเห็นว่าโจทก์ทุจริตและฝ่าฝืนระเบียบโดยเจตนาเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ลงโทษไล่ออกและลดโทษเป็นให้ออก โดยไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพิจารณาก่อนจึงชอบด้วย พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 21 และข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยยกเลิกคำสั่งจำเลยที่ 119/2550 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2550 และออกคำสั่งให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่ง และอัตราเงินเดือนเดิมก่อนถูกเลิกจ้างเลื่อนขั้นเงินเดือนตามปกติในแต่ละปี ให้สิทธิประโยชน์พร้อมสวัสดิการต่าง ๆ ที่พนักงานของจำเลยได้รับแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหาย 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินเดือนละ 39,250 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะมีคำสั่งรับโจทก์กลับเข้าทำงานแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 มีนายอนุชัย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจำเลย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2520 จำเลยว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง โจทก์มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นนักบริหารงานการตลาด 6 ประจำสำนักงานองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 39,250 บาท ในปี 2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากราคาลำไยตกต่ำ ด้วยการทำโครงการจัดการตลาดลำไยปี 2547 โดยมอบหมายให้จำเลยดำเนินการแทรกแซงรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรในราคานำตลาด แล้วนำมาแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งโดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนกรกฎาคม 2547 ถึงเดือนกันยายน 2547 ในการดำเนินการตามโครงการจำเลยออก “ระเบียบองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ว่าด้วยการรับซื้อลำไยสด (ร่วง) เพื่อแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งตามโครงการจัดการตลาดลำไย ปี 2547” และ “คู่มือวิธีปฏิบัติในการรับซื้อลำไย” กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนปฏิบัติในการรับซื้อลำไยจากเกษตรกรว่าเกษตรกรที่สามารถนำลำไยมาขายต้องมีหลักฐานการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในปี 2547 (แบบใบ ลย.1) ซึ่งออกโดยกรมส่งเสริมการเกษตร โดยต้องแสดงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทำใบเสนอขายที่มีรายการแสดงจำนวนผลผลิตลำไยที่เกษตรกรประสงค์นำมาขาย เมื่อเกษตรกรส่งมอบลำไยแล้วจำเลยจะออกใบรับมอบและใบสำคัญจ่ายเงินค่าสินค้า (ใบ สพ.01) ที่มีรายละเอียดแสดงขนาด คุณภาพ และปริมาณลำไยที่เกษตรกรนำมาขาย และเป็นหลักฐานการรับมอบลำไยและการจ่ายเงินค่าลำไยให้แก่เกษตรกรจากนั้นหัวหน้าหน่วยรับซื้อลำไยสด (ร่วง) จะจ่ายค่าลำไยแก่เกษตรกรเป็นเช็คสั่งจ่ายขีดคร่อมในนามเกษตรกร เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 จำเลยแต่งตั้งให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยรับซื้อลำไยสด (ร่วง) ประจำอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และกำหนดจุดรับซื้อลำไยประจำอำเภอให้โจทก์รับผิดชอบ จำนวน 5 จุด คือ บริษัทแท่นทอง จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่สินเกษตร สหกรณ์ชาวสวนลำไยภาคเหนือ สหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง และบริษัทพาราไดส์ฟรุตส์ อินดัสเตรียล จำกัด โดยกำหนดให้หน่วยรับซื้อบริษัทแท่นทอง จำกัด เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2547 ในการรับซื้อลำไย ณ จุดรับซื้อบริษัทแท่นทอง จำกัด นอกจากมีโจทก์เป็นหัวหน้าหน่วยแล้ว ยังมีนางจินดา เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารใบ ลย.1 นางสาวกรรณิการ์ และนางสาวมยุรา ลูกจ้างชั่วคราวที่จำเลยว่าจ้างให้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานประจำหน่วย นางสาวน้ำค้าง เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมตรวจสอบคุณภาพลำไยที่เกษตรกรนำมาขาย นอกจากนี้ยังมี นายศิริผู้จัดการ อตก. เขต 5 เป็นผู้ประสานงานในโครงการมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการของโจทก์ ลำไยสดที่จำเลยรับซื้อจากเกษตรกร ณ จุดรับซื้อบริษัทแท่นทอง จำกัด จะถูกนำมาอบแห้ง โดยจำเลยทำสัญญาว่าจ้างบริษัทปอเฮงอินเตอร์เทรด จำกัด ให้อบแห้งและเก็บรักษาลำไยอบแห้งไว้ให้จำเลย และบริษัทปอเฮงอินเตอร์เทรด จำกัด ตั้งนางศศอร เจ้าของบริษัทแท่นทอง จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการแทน ภายหลังปิดหน่วยรับซื้อลำไยบริษัทแท่นทอง จำกัด ในวันที่ 20 สิงหาคม 2547 นางศศอรร้องเรียนโจทก์ต่อนายศิริ ผู้จัดการ อตก. เขต 5 ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรว่าภายหลังปิดหน่วยรับซื้อลำไยบริษัทแท่นทอง จำกัด แล้ว โจทก์ไม่ยอมจ่ายเช็คค่าลำไยให้เกษตรกร 7 ราย นายศิริจึงให้โจทก์ชี้แจง โจทก์ชี้แจงว่าได้จ่ายเช็คให้เกษตรกรเรียบร้อยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 แล้ว แต่ยังไม่มีการส่งเช็คมาเรียกเก็บเงินจากธนาคาร โจทก์แจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็ค แต่ธนาคารขอให้โจทก์แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจก่อน โจทก์จึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสันป่าตองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2547 ต่อมาในวันที่ 23 กันยายน 2547 เกษตรกรแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอดอยหล่อว่าเช็คค่าลำไยสูญหาย โจทก์ทำบันทึกลงวันที่ 25 กันยายน 2547 ถึงผู้ประสานงานจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งเรื่องเกษตรกร 6 ราย ทำเช็คสูญหาย และขออนุมัติออกเช็คฉบับใหม่ จำนวน 22 ฉบับ เป็นเงินรวม 742,225 บาท ผู้ประสานงานจังหวัดส่งเรื่องให้ผู้อำนวยการจำเลยพิจารณา แต่ผู้อำนวยการจำเลยสั่งให้กองตรวจสอบทรัพย์สินตรวจสอบหาข้อเท็จจริง กองตรวจสอบทรัพย์สินเห็นว่าการที่เช็คสูญหายมีความผิดปกติ เห็นควรระงับจ่ายเช็คให้เกษตรกรไว้ก่อนจนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นเช็คค่าลำไยของเกษตรกรที่แท้จริง มีการนำลำไยสดไปขายจริง และหน่วยรับซื้อบริษัทแท่นทอง จำกัด ได้ส่งมอบลำไยอบแห้งให้จำเลยครบถ้วนแล้ว ผู้อำนวยการจำเลยพิจารณาแล้วมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น และให้ระงับการจ่ายเช็คไว้จนกว่าจะได้ผลการตรวจสอบ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสอบปากคำเกษตรกรที่โจทก์อ้างว่าได้ทำเช็คหายแล้วมีเกษตรกร จำนวน 5 ราย ประกอบด้วยนายปัญจะ นายแก้ว นางศรีจันทร์ นายสมปอง และนางเรือน ให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่าไม่เคยนำลำไยมาขายให้จำเลยที่หน่วยรับซื้อลำไยบริษัทแท่นทอง จำกัด แต่ได้ขายใบ ลย.1 ให้นายหน้าในราคากิโลกรัมละ 50 สตางค์ โดยนายหน้าพาเกษตรกรทั้ง 5 ราย ไปเปิดบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาหางดง และเก็บสมุดเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม ใบถอนเงินที่ให้เกษตรกรลงลายมือชื่อในช่องเจ้าของบัญชีและช่องใบมอบฉันทะไว้ไปและนายหน้าจัดให้เกษตรกรลงลายมือชื่อในเอกสารประกอบการขายอื่น ๆ ที่บ้านของนายหน้า โดยโจทก์เป็นผู้ชี้ให้เกษตรกรลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ จากนั้นได้มีการออกเช็คค่าลำไยและให้เกษตรกรลงลายมือชื่อหลังต้นขั้วเช็คแล้วนายหน้าและโจทก์ เอาเช็คไป ส่วนเกษตรกรรายนางอุไรวรรณ์ ให้ถ้อยคำว่ามอบให้บุตรชายดำเนินการขายลำไยให้กับจำเลยแทน คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสอบสวนแล้วมีความเห็นว่าเกษตรกรมิได้นำลำไยสดมาขายให้จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าลำไย การขอออกเช็คใหม่แก่เกษตรกรโดยอ้างเหตุเช็คสูญหายจึงไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง แต่เป็นเรื่องการไม่ปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามระเบียบวิธีปฏิบัติในการรับซื้อลำไยสด (ร่วง) ปี 2547 ของหัวหน้าหน่วยรับซื้อและผู้ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเสนอรายงานผลการสอบสวนให้ผู้อำนวยการจำเลยพิจารณา ผู้อำนวยการจำเลยพิจารณาแล้ว มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ประกอบด้วย นายสุรัตน์ เป็นประธาน นายสมพร และนายสวัสดิ์ เป็นกรรมการ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้สอบสวนมาแล้วเห็นว่าการที่โจทก์นำเอกสารประกอบ การขายลำไยไปให้เกษตรกรลงลายมือชื่อที่บ้านของนายหน้าซึ่งอยู่นอกเขตรับซื้อ โดยโจทก์เป็นผู้ชี้ให้เกษตรกรลงลายมือชื่อ เป็นการกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนระเบียบองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ว่าด้วยการรับซื้อลำไยสด (ร่วง) เพื่อแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งตามโครงการจัดการตลาดลำไยปี 2547 ข้อ 5 และข้อ 9 และเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง อันเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544 ข้อ 58 (4) (7) และข้อ 60 (4) (5) เห็นควรลงโทษไล่ออกตามรายงานการสอบสวนทางวินัย นายสมพรกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่ยอมลงลายมือชื่อในรายงานการสอบสวน โดยมีความเห็นว่าควรสอบพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดใหม่ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเสนอรายงานผลการสอบสวนให้ผู้อำนวยการจำเลยพิจารณา ภายหลังส่งรายงานการสอบสวนแล้ว คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยทำหนังสือถึงจำเลยเพื่อขอลาออกจากการเป็นกรรมการแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ นายอนุชัยผู้อำนวยการจำเลยในขณะนั้นสั่งให้กองกฎหมายพิจารณากลั่นกรอง กองกฎหมายของจำเลยพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าควรให้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องใหม่ และให้พยานลงลายมือชื่อหรือให้พยานยืนยันข้อเท็จจริงความถูกต้องของถ้อยคำที่ให้ไว้ต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผู้อำนวยการจำเลยจึงมีคำสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยดำเนินการตามที่กองกฎหมายเสนอมา ในระหว่างนั้นนายอนุชัย ผู้อำนวยการจำเลย ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2549 ทำให้ตำแหน่งผู้อำนวยการจำเลยว่างลง จำเลยแต่งตั้งให้นายโอวาท รองผู้อำนวยการจำเลย รักษาการแทนผู้อำนวยการจำเลย ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2549 นายโอวาทมีคำสั่งที่ 124/2549 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเพิ่มอีก 2 คน คือนางพรจันทร์ และนางจุฑานาถ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจึงมีหนังสือสอบถามไปยังพยานที่เคยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่ายังยืนยันข้อเท็จจริงที่เคยให้ถ้อยคำไว้ต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือไม่ พยานที่เป็นเกษตรกรทั้งห้ารายที่เคยให้ปากคำไว้ตอบกลับว่ายังยืนยันให้ข้อเท็จจริงตามเดิม ส่วนนางศศอรตอบกลับมาว่า ไม่ยืนยันคำให้การเดิมเนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว จึงจำความไม่ได้ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเห็นว่าจำเลยยังไม่ได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นเพียงการทำผิดวินัยธรรมดา ไม่ใช่กรณีร้ายแรง เห็นควรให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 2 ขั้น นายโอวาทสั่งการให้หัวหน้ากองกฎหมายกลั่นกรอง ซึ่งหัวหน้ากองกฎหมายทำความเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นดุลพินิจของนายโอวาท ในวันที่ 30 เมษายน 2550 นายโอวาทมีคำสั่งให้นางสาวธัญลักษณ์ หัวหน้ากองทรัพยากรบุคคล ออกคำสั่งลงโทษทางวินัยตามที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเสนอมา ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2550 นางสาวธัญลักษณ์ มีความเห็นว่าคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้ทำรายงานการสอบสวนไว้ 2 ครั้ง ครั้งแรกเห็นควรให้ลงโทษด้วยการไล่ออก แต่ในครั้งที่ 2 กลับเห็นควรลงโทษด้วยการลดขั้นเงินเดือนสองขั้น จึงเห็นควรให้พิจารณาเชื่อมโยงผลการสอบสวนทั้งสองครั้งเพื่อสรุปผลอีกครั้งหนึ่ง นายโอวาทจึงให้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยทั้งห้าคนพิจารณาและยืนยันมาเพื่อให้ชัดเจน ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแจ้งยืนยันตามรายงานผลการสอบสวนที่เสนอมาในครั้งที่ 2 ที่ให้ลงโทษด้วยการลดขั้นเงินเดือนสองขั้น แต่นายโอวาทพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำทุจริต ไม่ซื่อสัตย์ต่อองค์กรและกระทำการฝ่าฝืนระเบียบโดยเจตนา จึงเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง ให้ลงโทษไล่ออก แต่เนื่องจากโจทก์ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้ลดโทษเป็นลงโทษให้ออก ตามคำสั่งจำเลยที่ 119/2550 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2550 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อประธานกรรมการของจำเลย ประธานกรรมการของจำเลยพิจารณาแล้ว ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ และศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า เกษตรกรทั้งห้ารายไม่เคยนำลำไยมาขาย ณ หน่วยรับซื้อลำไยบริษัทแท่นทอง จำกัด แต่เกษตรกรทั้งห้ารายได้ขายใบ ลย.1 ให้แก่นางกัญญาหรือเล็ก นายหน้า ในราคากิโลกรัมละ 50 สตางค์ โดยนางกัญญาพาเกษตรกรทั้งห้ารายไปเปิดบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาหางดง และเก็บสมุดเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม ใบถอนเงินที่ให้เกษตรกรลงชื่อในช่องเจ้าของบัญชีและช่องใบมอบฉันทะไว้ แล้วนางกัญญาจัดให้เกษตรกรทั้งห้าลงลายมือชื่อในเอกสารประกอบการขายลำไยที่บ้านของนางกัญญา โดยโจทก์เป็นผู้ชี้ให้เกษตรกรลงลายมือชื่อในเอกสาร จากนั้นโจทก์ออกเช็คระบุชื่อเกษตรกร โดยให้เกษตรกรลงลายมือชื่อรับเช็คไว้เป็นหลักฐานที่ด้านหลังต้นขั้วเช็คแล้ว เกษตรกรมอบเช็คและเอกสารประกอบการขายลำไยให้นางกัญญาและโจทก์ไป แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตนซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยรับซื้อลำไยสด (ร่วง) ประจำจุดบริษัทแท่นทอง จำกัด จัดให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้ที่มีชื่อเป็นเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกลำไยปี 2547 ซื้อเอกสารใบ ลย.1 จากเกษตรกรเพื่อที่บุคคลภายนอกจะได้ใช้สิทธิในชื่อของเกษตรกรในการขายลำไยของตนเองให้จำเลย ณ หน่วยรับซื้อลำไยบริษัทแท่นทอง จำกัด อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก การกระทำของโจทก์ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทุจริตในโครงการ จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ว่าด้วยการรับซื้อลำไยสด (ร่วง) เพื่อแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งตามโครงการจัดการตลาดลำไยปี 2547 ข้อ 5 และข้อ 9 อันเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง ตามข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544 ข้อ 58 (4) และข้อ 60 (4) (5)
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า ผู้อำนวยการจำเลยมีอำนาจออกคำสั่งจำเลยที่ 119/2550 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ลงโทษโจทก์ให้ออกจากงานได้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า กรณีของโจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยไม่ได้ให้ผู้อำนวยการจำเลยคนเดียวมีอำนาจเด็ดขาดที่จะพิจารณาสั่งลงโทษโจทก์ได้เองโดยลำพัง ผู้อำนวยการจำเลยต้องเสนอคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เพื่อพิจารณาก่อน เห็นว่า พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 21 บัญญัติว่า “ผู้อำนวยการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย คือ (1) บรรจุแต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน และค่าจ้าง ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้…” ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจผู้อำนวยการจำเลยเป็นผู้ลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง และการลงโทษทางวินัยต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้ ซึ่งข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยคือข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544 ตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวกำหนดเรื่องการสอบสวนและการลงโทษไว้ในหมวด 9 ตั้งแต่ข้อ 59 ถึงข้อ 70 โดยข้อ 62 กำหนดเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการเสนอรายงานการสอบสวนและความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยเร็วเท่านั้น ส่วนอำนาจในการสั่งลงโทษทางวินัยพนักงานหรือลูกจ้างโดยทั่วไปก็มิได้จำกัดอำนาจผู้อำนวยการจำเลยไว้ คงมีข้อบังคับข้อ 66 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้อำนวยการจำเลยจะลงโทษทางวินัยพนักงานตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการฝ่าย หรือตำแหน่งซึ่งเทียบเท่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน ผู้อำนวยการจำเลยจึงสั่งได้เท่านั้น อันแสดงว่าตามข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้างให้อำนาจผู้อำนวยการใช้ดุลพินิจลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้างทั่วไปได้โดยลำพัง เว้นแต่กรณีเป็นพนักงานหรือลูกจ้างระดับสูงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนตามข้อ 66 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่พนักงานที่ดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในข้อ 66 และข้อบังคับของจำเลยไม่ได้กำหนดถึงกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอรายงานและความเห็นต่อผู้อำนวยการแล้วต่อมาผู้อำนวยการได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมและมีการเสนอรายงานการสอบสวนโดยมีความเห็นในครั้งแรกกับครั้งหลังไม่ตรงกันดังเช่นกรณีของโจทก์ว่าให้ผู้อำนวยการดำเนินการอย่างไร การที่นายโอวาท รักษาการแทนผู้อำนวยการจำเลยในขณะนั้นพิจารณาสำนวนการสอบสวนทั้งหมดแล้วเห็นว่าโจทก์ทุจริต และฝ่าฝืนระเบียบโดยเจตนาเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ลงโทษไล่ออกและลดโทษเป็นให้ออก โดยไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพิจารณาก่อนจึงชอบด้วยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 21 และข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน