คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14015/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะที่ ส. ซื้อที่ดินแปลงแรก และต่อมา พ. ซื้อที่ดินแปลงที่ 2 นั้น ส. และ พ. อยู่กินฉันสามีภริยาแล้ว แม้จะไม่ได้ความว่า ส. และ พ. ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน ทั้งการที่จะมีภาระจำยอมได้จะต้องมีที่ดินสองแปลงโดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง และการที่จะได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 จะต้องเป็นการใช้เพื่อตน มิใช่เป็นการอาศัยเมื่อการใช้สิทธิในที่ดินของ ส. ทั้งสองแปลงเป็นการใช้ในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมกันกับ พ. มิใช่เป็นการใช้ในที่ดินของผู้อื่นอันจะเป็นผลให้ได้สิทธิภาระจำยอมในช่วงเวลาดังกล่าว โจทก์จะนำสิทธิที่ ส. มีอยู่ในที่พิพาทมานับต่อเนื่องกับสิทธิที่โจทก์ได้รับเพื่อให้ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินแปลงพิพาทหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินมีโฉนดจาก ส. ในปี 2536 นับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ถึง 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมโดยอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ทางพิพาทกว้าง 6 เมตร เยาว 16.80 เมตร บนที่ดินโฉนดเลขที่ 41325 เลขที่ดิน 1195 ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ทางด้านทิศใต้เป็นทางภาระจำยอมและทางจำเป็นของที่ดินโจทก์ให้จำเลยนำโฉนดที่ดินดังกล่าวจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมหรือทางจำเลยเป็นในส่วนที่พิพาท หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมหรือทางจำเป็น ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนประตูเหล็กและโรงจอดรถสิ่งกีดขวางทางพิพาทออกจากทางพิพาท
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยเปิดทางพิพาทกว้าง 3 เมตร จากที่ดินของโจทก์ยาวตลอดแนวที่ดินจำเลยออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์บนโฉนดเลขที่ 41325 เลขที่ดิน 1195 ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ด้านทิศใต้ตามฟ้อง และให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมกว้าง 3 เมตร ยาวตลอดที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้จนจรดทางสาธารณประโยชน์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนประตูเหล็ก โรงจอดรถ สิ่งกีดขวางทางพิพาทออกจากทางพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลให้จำนวน 4,500 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นบุตรเขยและจำเลยเป็นบุตรของนายแสวง กับนางสมพร เมื่อปี 2506 นายแสวงซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 16477 ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาจากนายชัง แล้วอาศัยที่ดินของนายชังเดินออกสู่ทางสาธารณะ ต่อมาเมื่ปี 2530 นายสมพรซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 41325 ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาจากนายแก้ว ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของนายแสวงเพื่อเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะเมื่อปี 2536 นายแสวงขายที่ดินที่ซื้อจากนายชังให้โจทก์ ต่อมาปี 2538 นางสมพรโอนที่ดินแปลงที่ซื้อจากนายแก้วให้จำเลย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความหรือไม่ โจทก์มีนายแสวงเบิกความว่า ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 16477 ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จากนายชัง เมื่อปี 2506 จากนั้นอีก 1 ปี จึงได้ปลูกบ้านพักอาศัยกับบุตรสาวคนโตและบุตรเขย เมื่อปลูกบ้านเสร็จแล้วจะออกถนนใหญ่จะต้องผ่านที่ดินของนายชัง ต่อมานายแก้วได้จัดสรรที่ดินขายและสร้างถนนกว้าง 4 เมตร เป็นทางสาธารณะเพื่อออกสู่ถนนพิมาย-ตลาดแค นางสมพรภริยาพยานได้ซื้อที่ดินจัดสรรของนายแก้วโฉนดเลขที่ 41325 เมื่อปี 2530 และได้ใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะตลอดมา นอกจากนี้โจทก์มีนางสมพรและพยานโจทก์ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบุตรของนายแสวงกับนางสมพรและเป็นที่สาวจำเลยเบิกความในทำนองเดียวกันว่า นางสมพรได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับนายแสวง และได้ซื้อที่ดินของนายชังเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย ต่อมานางสมพรได้ซื้อที่ดินของนายแก้วเพื่อเป็นทางออกสู่ถนนสาธารณะ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบทั้งหมดจึงรับฟังโดยสรุปได้ว่า ขณะที่นายแสวงซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 16477 ของนายชัง และต่อมานางสมพรซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 41325 ของนายแก้ว นายแสวงและนางสมพรอยู่กินฉันสามีภริยาและมีบุตรด้วยกันแล้ว แม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบจะไม่ได้ความว่านายแสวงและนางสมพรได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน ฉะนั้น การที่จะมีภาระจำยอมได้จะต้องมีที่ดินสองแปลงโดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่งและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 กำหนดในเรื่องที่จะได้ภาระจำยอมโดยอายุความจะต้องเป็นการใช้เพื่อตน มิใช่เป็นการอาศัย ข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น เห็นว่า การใช้สิทธิในที่ดินของนายแสวงทั้งสองแปลงเป็นการใช้ในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมกันกับนางสมพร มิใช่เป็นการใช้ในที่ดินของผู้อื่นอันจะเป็นผลให้ได้สิทธิภาระจำยอม ในช่วงเวลาดังกล่าว โจทก์จะนำสิทธิที่นายแสวงมีอยู่ในที่พิพาทมานับต่อเนื่องกับสิทธิที่โจทก์ได้รับเพื่อให้ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินแปลงพิพาทหาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบปรากฏว่า โจทก์ได้รับโอนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 16477 จากนายแสวงเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2536 นับถึงวันฟ้องคดีนี้ (วันที่ 1 ธันวาคม 2542) ยังไม่ถึง 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท

Share