คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เพียงแต่กล่าวอ้างในทำนองว่า ตามหลักฐานที่โจทก์จดทะเบียนไว้ต่อกรมทะเบียนการค้าตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนเอกสารท้ายฟ้อง ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสาขาหรือตัวแทนอยู่ต่างประเทศเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดอื่นเชื่อมโยงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์แต่อย่างใด จึงไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นคำให้การปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้น
โจทก์ฟ้องบังคับจำนองสำหรับทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 เท่านั้น และศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับเรื่องการบังคับจำนองร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้
ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ต่อสู้ฟ้องโจทก์ในเรื่องการบังคับจำนองมาเพียงว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวบังคับจำนองโจทก์จึงไม่อาจฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลบังคับจำนองโดยนำที่ดินตามฟ้องออกขายทอดตลาดได้ ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองดังที่โจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องดังนี้ จึงเห็นได้ว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างมาในอุทธรณ์ข้อนี้ทำนองว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วน จึงถือว่าโจทก์ยอมสละเรื่องเวลาที่ได้กำหนดในเรื่องการบังคับจำนอง และหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองสิ้นผลนั้นเป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่จำเลยที่ 1 เพิ่งยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในข้อกฎหมายดังกล่าว ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 43,350,862.66 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 26,429,352.07บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์จำนวน 15,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับจากวันที่ 11 เมษายน 2540จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้นำทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์หากไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดอยู่จนครบถ้วน

จำเลยที่ 1, 2 และ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 43,350,862.66 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของเงินต้น 26,429,352.07 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 26 มิถุนายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดภายในวงเงิน 15,000,000 บาท หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ดังกล่าวก็ให้บังคับจำนองเอาที่ดินโฉนดเลขที่ 45378, 45379,44669 และ 44670 ตำบลลำปลาทิว (แสนแสบ) อำเภอลาดกระบังกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวงเงิน 28,920,000 บาท หากได้เงินไม่พอแก่หนี้ก็ให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 จนครบ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสิทธิพร มหาสวัสดิ์ ฟ้องคดีนี้หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้โจทก์มีนายสิทธิพร มหาสวัสดิ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า พยานได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ ฟ้องคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเท่ากับว่านายสิทธิพรได้รับรองว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงโดยนายบัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการของโจทก์ได้ลงลายมือชื่อพร้อมกับประทับตราสำคัญของโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจตามเงื่อนไขที่โจทก์จดทะเบียนไว้ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนเอกสารหมาย จ.1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้อ้างว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายสิทธิพรฟ้องคดีนี้ เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นหนังสือมอบอำนาจปลอมนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาสืบตามข้ออ้างเพื่อหักล้างพยานโจทก์ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสิทธิพรฟ้องคดีนี้จริงนายสิทธิพรจึงมีอำนาจแต่งตั้งนายธนพจน์ มุกดาสถิต เป็นทนายความฟ้องคดีนี้ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ขึ้นมาร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 สำหรับข้อที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้มาในคำให้การจำเลยที่ 1 อีกประการหนึ่งว่าโจทก์มิได้มีสาขาหรือตัวแทนอยู่ต่างประเทศตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และจำเลยทั้งสามได้ยกเหตุดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ร่วมกันมาในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องว่า โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ธนาคารตัวแทนที่โจทก์อ้างถึงคือธนาคารอะไรในต่างประเทศ และธนาคารดังกล่าวเป็นตัวแทนของโจทก์ได้อย่างไรและมีหลักฐานใดที่แสดงว่าเป็นสาขาของโจทก์ อีกทั้งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากธนาคารในต่างประเทศได้อย่างไร จำเลยทั้งสามจึงเห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า เฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้มาในคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นอุทธรณ์ที่ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นเช่นเดียวกัน เพราะตามคำให้การจำเลยที่ 1ดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 เพียงแต่กล่าวอ้างในทำนองว่า ตามหลักฐานที่โจทก์จดทะเบียนไว้ต่อกรมทะเบียนการค้าตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนเอกสารท้ายฟ้อง ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสาขาหรือตัวแทนอยู่ต่างประเทศเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดอื่นเชื่อมโยงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์แต่อย่างใดจึงไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นคำให้การปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้ง ไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นได้ ดังจะเห็นได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มิได้ยกปัญหาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ขึ้นวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องที่ได้กำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ แต่อย่างใด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศย่อมไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ให้จำเลยที่ 1เช่นเดียวกัน

ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2540นั้น เห็นว่า แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ในวงเงิน15,000,000 บาท แต่ก็มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดชำระดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ด้วย และเงินจำนวนที่จำเลยที่ 2และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ก็เป็นจำนวนน้อยกว่าต้นเงินจำนวน26,492,352.07 บาท ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะวินิจฉัยประเด็นเรื่องดอกเบี้ยในอุทธรณ์ข้อนี้ไปในทางใดก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นอย่างอื่นได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อนี้จึงถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในข้อนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คงรับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ให้จำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้ารายใหญ่ของโจทก์ทั้งนี้โดยพิจารณาจากคำจำกัดความของลูกค้ารายใหญ่ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยและอัตราส่วนลดเงินให้กู้ยืมของโจทก์เอกสารหมาย จ.31(ที่ถูกเอกสารหมาย จ.40) ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกค้าประเภทใด ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงพึงได้รับสิทธิการเสนออัตราดอกเบี้ยโดยอิงกับอัตราดอกเบี้ย เอ็ม แอล อาร์ และ เอ็ม โอ อาร์ ตามประกาศของโจทก์ดังกล่าวฉบับลงวันที่ 19 กันยายน 2540 ที่โจทก์คิดคำนวณดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม2540 จึงไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี เท่านั้น คดีได้ความจากคำเบิกความของนายศิรโรจน์กุลสุมิตราวงศ์ เจ้าหน้าที่โจทก์ตำแหน่งธนกรศูนย์ธุรกิจต่างประเทศ 2ศูนย์ธุรกิจต่างประเทศดาวคนอง ซึ่งรับผิดชอบดูแลหนี้รายนี้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ตายตัวตามสัญญา แต่หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้วอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยที่ 1 จะขึ้นลงตามประกาศของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ต้นเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 และจ.14 ถึง จ.23 แก่โจทก์จริง ดังนั้น โจทก์จึงอาจปรับอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยที่ 1 ให้สูงขึ้นตามประกาศของโจทก์ตามประเภทลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้ ดังจะเห็นได้ว่า ตามเครดิตสลิปเอกสารหมาย จ.33 ถึง จ.35 ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ยอมเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราระหว่างร้อยละ15.5 ถึง 18 ต่อปี ตามที่โจทก์เรียกเก็บตลอดมา ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการเสียดอกเบี้ยในอัตราที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1ตกลงกันไว้ตามที่พยานโจทก์เบิกความ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ประเภทผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเอ็ม แอล อาร์ และ เอ็ม โอ อาร์ ดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ได้ แต่อย่างไรก็ตามศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่าการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามปกติในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ตามใบแจ้งเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย จ.29 แผ่นที่ 7 ถึงแผ่นที่ 10 แต่หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงปรับอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากจำเลยที่ 1ให้สูงขึ้นเป็นประเภทที่ผิดนัดชำระหนี้ ตามประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นดังที่ปรากฏในตารางแสดงอัตราดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.38 และ จ.39ประกอบการ์ดบัญชีแสดงยอดหนี้เอกสารหมาย จ.41 ถึง จ.50 ตามพฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยกรณีผิดนัดไม่ชำระหนี้ ถือได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเดิมมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383วรรคหนึ่ง ให้อำนาจไว้โดยไม่จำต้องมีฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาดการเงินในปัจจุบันรวมทั้งค่าดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระแก่โจทก์ไปตามเครดิตสลิปเอกสารหมาย จ.33 ถึง จ.37 แล้ว เห็นสมควรกำหนดเบี้ยปรับให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์เท่ากับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเดิมอีกร้อยละ 6.5 ต่อปี เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเดิมอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ก่อนผิดนัด จึงรวมเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีแต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 อุทธรณ์มาเพียงว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1ในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2540 ไม่ถูกต้องโดยจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราสูงกว่าร้อยละ 9 ต่อปี ก่อนวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ไม่ถูกต้องด้วย จึงชอบที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ15.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปเท่านั้น และเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องในต้นเงินจำนวน 26,429,352.07 บาท ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วย ส่วนดอกเบี้ยก่อนฟ้องระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน 2541ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2541 โจทก์มิได้ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุที่จะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2540 ตามการ์ดบัญชีแสดงยอดหนี้เอกสารหมายจ.41 ถึง จ.50 เมื่อคิดคำนวณแล้วคงเป็นเงินค่าดอกเบี้ยทั้งสิ้น 14,013,667.47บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์นำสืบ

ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ข้อต่อมาอีกว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำนองนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำนองสำหรับทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจำนองระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เท่านั้น และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มิได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเกี่ยวกับเรื่องการบังคับจำนองร่วมกับจำเลยที่ 1ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ข้อนี้ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยอ้างเหตุผลมาว่าปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังจากที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองตามหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.7 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วน ซึ่งโจทก์เองก็ยอมรับชำระหนี้ ดังนั้น จึงถือได้ว่าโจทก์ยอมสละเรื่องเวลาที่ได้กำหนดในเรื่องการบังคับจำนองและการฟ้องร้องตามที่ปรากฏในหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวข้างต้นแล้ว หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองตามเอกสารหมาย จ.7 ย่อมสิ้นผล หากโจทก์จะฟ้องบังคับจำนองโจทก์จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองใหม่โดยกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระใหม่เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับจำนองได้ เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1คงให้การต่อสู้ฟ้องโจทก์ในเรื่องการบังคับจำนองมาเพียงว่า ก่อนฟ้องคดีโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวบังคับจำนอง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลบังคับจำนองโดยนำที่ดินตามฟ้องออกขายทอดตลาดได้ ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองตามสำเนาหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองท้ายฟ้องดังที่โจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้อง ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างมาในอุทธรณ์ข้อนี้เป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่จำเลยที่ 1 เพิ่งยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในข้อกฎหมายดังกล่าว ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศย่อมไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ให้จำเลยที่ 1

ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งสามใช้แทนโจทก์สูงเกินไปนั้น เห็นว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันเป็นจำนวนเงินสูงถึง 43,350,862.66 บาท ฝ่ายจำเลยให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กำหนดไว้ถึง 5 ข้อ ทั้งโจทก์ต้องนำสืบเกี่ยวกับจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งมีข้อยุ่งยากซับซ้อนพอสมควร ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดใช้แทนโจทก์เป็นเงินเพียง 20,000 บาท มานั้น นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามอย่างมากแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวอีกสรุปแล้วอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ชำระต้นเงินจำนวน26,492,352.07 บาท กับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดคิดคำนวณถึงวันที่ 2ธันวาคม 2540 รวมเป็นเงิน 14,013,667.47 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน26,492,352.07 บาท ดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2540 ถึงวันที่ 21มิถุนายน 2541 หลังจากนั้นจึงให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวต่อไปในต้นเงินจำนวน 26,429,352.07 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 26 มิถุนายน 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share