แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 132 พนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่รวบรวมหลักฐานในคดีความ เมื่อผู้เสียหายอ้างว่า ลายมือชื่อในใบถอนเงินตามเอกสารพิพาทไม่ใช่ลายมือชื่อของตน แต่จำเลยอ้างว่าเป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายซึ่งลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลย จึงมีปัญหาว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายหรือไม่ การที่พนักงานสอบสวนจัดให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อต่อหน้าตนในกระดาษหลายแผ่นและขวนขวายจัดหาลายมือชื่อและลายมือเขียนของ ผู้เสียหายที่เคยลงลายมือชื่อหรือเขียนไว้ในที่อื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควรแล้วรวมส่งไปให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานตรวจเปรียบเทียบที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แม้จะไม่ได้ตัวอย่างลายมือชื่อที่ผู้เสียหายให้ไว้แก่ธนาคารขณะเปิดบัญชีรวมไปด้วย ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบแล้วในเมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่เพียงพอแล้วสำหรับพิสูจน์ความผิดของจำเลย ส่วนจะมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใดเป็นดุลพินิจของศาล
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ใช่ผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหาข้อนี้ยุติไป ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนตามฟ้องโดยจำเลยมิได้อุทธรณ์ จำเลยจึงฎีกาต่อมาไม่ได้ แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มาด้วย ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้าม มิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้คำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๑, ๙๓, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ และไม่รับว่าเคยต้องโทษตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ กระทงเดียว (ที่ถูก มาตรา ๒๖๕, ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ ตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง) จำคุก ๕ ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓ คงจำคุก ๗ ปี ๖ เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกา พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ก่อนเกิดเหตุนายพงษ์สิทธิ์ เจริญสุข สามีของนางสาวดารุณี ถามะณี ผู้เสียหายถูกฟ้องข้อหารับของโจร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลโดยใช้สมุดเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอำเภอสามโคก เป็นหลักประกัน ศาลตีราคาค่าประกัน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๑ ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษ จากนั้นผู้เสียหายมอบฉันทะให้จำเลยรับสมุดเงินฝากคืนจากศาลโดยผู้เสียหายลงลายมือชื่อในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและใบมอบฉันทะให้จำเลยไว้ ต่อมาใน วันเกิดเหตุจำเลยได้นำเอกสารดังกล่าว พร้อมทั้งใบถอนเงินไปติดต่อพนักงานธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอำเภอสามโคก เพื่อขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายจำนวน ๑๐๑,๐๐๐ บาท และพนักงานธนาคารได้ จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยรับไปแล้ว มีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อมีปัญหาระหว่างใบถอนเงิน กับตัวอย่าง ลายมือชื่อที่ผู้เสียหายให้ไว้แก่ธนาคารขณะเปิดบัญชีจึงต้องตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบเอกสารดังกล่าว การที่พนักงานสอบสวนให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อต่อหน้าและแสวงหาลายมือชื่อของผู้เสียหายจากที่อื่น ๆ ส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์โดยไม่มีตัวอย่างลายมือชื่อที่ผู้เสียหายให้ไว้แก่ธนาคารขณะเปิดบัญชีจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๒ พนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่รวบรวมหลักฐานในคดีความ คดีนี้เมื่อ ผู้เสียหายอ้างว่าลายมือชื่อในใบถอนเงิน ไม่ใช่ลายมือชื่อของตน แต่จำเลยอ้างว่าเป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายซึ่ง ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลย จึงมีปัญหาว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายหรือไม่ ฉะนั้นการที่พนักงานสอบสวนจัดให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อต่อหน้าตนในกระดาษหลายแผ่น และขวนขวายจัดหาลายมือชื่อและลายมือเขียนของผู้เสียหายที่เคยลงลายมือชื่อหรือเขียนไว้ในที่อื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควร แล้วรวมส่งไปให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานตรวจเปรียบเทียบที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แม้จะไม่ได้ตัวอย่างลายมือชื่อที่ ผู้เสียหายให้ไว้แก่ธนาคารขณะเปิดบัญชีรวมไปด้วย ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบแล้วในเมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่เพียงพอแล้วสำหรับพิสูจน์ความผิดของจำเลย ส่วนจะมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใดนั้น เป็นดุลพินิจของศาล ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ใช่นายตวงเกียรติ ศรีนคร ผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลจะเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้นั้น ปัญหาข้อนี้ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนตามฟ้องโดยจำเลยมิได้อุทธรณ์ จำเลยจึงจะฎีกาต่อมาไม่ได้ แม้ศาลอุทธรณ์ จะวินิจฉัยปัญหาข้อนี้มาด้วย ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน