คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเรือที่รับขนสินค้าของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ผิดสัญญารับขนสินค้าดังกล่าวต่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 2ต้องรับผิดตามสัญญารับขนในฐานะเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนสินค้ากับโจทก์แทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ อันจะต้องรับผิดแต่ลำพังตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 824 จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าท่อเหล็กชุบสังกะสี จำนวน 960 มัด น้ำหนัก 1,000 เมตริกตันจากประเทศไทยไปยังเมืองซัวเถา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยจำเลยที่ 1 ตกลงใช้เรือเชียงอันในการขนส่งสินค้าให้โจทก์แต่เรือเชียงอันไม่อาจขนส่งสินค้าให้โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อเรืออันไตเจียงของจำเลยที่ 2 เพื่อรับขนส่งสินค้าดังกล่าว ต่อมาโจทก์ได้ขนสินค้าจากโรงงานมาที่ท่าเรือเพื่อจะขนลงเรืออันไตเจียงของจำเลยที่ 2 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยอมรับสินค้าดังกล่าวของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อที่เมืองชัวเถาไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรจุและรื้อหีบสินค้าค่าขนส่งสินค้าระหว่างโรงงานของโจทก์กับท่าเรือมหาวงศ์ จังหวัดสมุทรปราการรวม 2 ครั้ง ค่าธรรมเนียมประกันภัยในการส่งสินค้าค่าใช้จ่ายในการทำพิธีการทางศุลกากรเพื่อส่งสินค้าออก และค่าขาดประโยชน์จากการขายสินค้าไม่ได้ รวมเป็นเงินจำนวน 1,935,273.10 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองยังไม่ชำระเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเรืออันไตเจียงจะเข้ามาที่ท่าเรือกรุงเทพล่าช้าจนถึงฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน 138,188 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 2,073,461.10 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,073,461.10 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,935,273.10 บาทนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ประสานงานกับเจ้าของเรือเพื่อให้โจทก์นำสินค้าบรรทุกลงเรือไปส่งยังจุดหมายปลายทาง โดยโจทก์จะจ่ายค่าป่วยการให้แก่จำเลยที่ 1 ตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ได้ทดรองจ่ายไปหากติดต่อเรือไม่สำเร็จจำเลยที่ 1 ก็จะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายดังกล่าวคืนการที่โจทก์ไม่สามารถส่งสินค้าไปเมืองซัวเถา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าของเรือ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการเป็นนายหน้าตัวแทนในกิจการขนส่งของทางทะเลโดยได้รับค่าบำเหน็จตัวแทนจากเจ้าของเรือจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ขนส่งเพราะไม่ใช่เจ้าของเรืออันไตเจียงและไม่ได้เป็นคู่สัญญาในการรับขนส่งสินค้ากับโจทก์ การที่นายเรืออันไตเจียงปฏิเสธไม่รับบรรทุกสินค้าของโจทก์เพราะจะทำให้น้ำหนักเกินความสามารถของเรือที่จะบรรทุกได้ตามมาตรฐานการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินจำนวน 1,335,273.10 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้รับจ้างขนส่งสินค้าท่อเหล็กชุบสังกะสีจำนวน 960 มัด น้ำหนัก1,000 เมตริกตัน จากโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายวศิน สมบูรณ์พาโชคผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศไทยไปส่งให้แก่ลูกค้าของโจทก์ที่เมืองซัวเถา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยติดต่อผ่านนายกฤติ ถาวรกชกรพนักงานของจำเลยที่ 1 วันที่ 17มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 1 โดยนายกฤติได้ส่งโทรสารแจ้งโจทก์ให้ทราบเกี่ยวกับเรือที่จะรับขนสินค้าดังกล่าวว่าคือเรือเชียงอัน ซึ่งจะเข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ในระหว่างวันที่ 25 ถึง 27 มิถุนายน2541 วันที่ตามสำเนาข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับเรือเอกสารหมาย จ.7 โจทก์จึงส่งโทรสารใบจองระวางเรือกับจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 1 โดยนายกฤติแจ้งให้โจทก์ทราบว่าขอยกเลิกการใช้เรือเชียงอันขนสินค้าของโจทก์เนื่องจากใบอนุญาตของเรือใกล้หมดอายุ และจะจัดหาเรือลำอื่นให้ ต่อมาเมื่อประมาณวันที่ 24 มิถุนายน2541 จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อเรืออันไตเจียงของจำเลยที่ 2 ให้ขนสินค้าของโจทก์แทนเรือเชียงอันและแจ้งรายละเอียดของเรืออันไตเจียงให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงจองระวางเรืออันไตเจียงกับจำเลยที่ 1 ตามสำเนารายละเอียดเกี่ยวกับเรือและการจัดส่งสินค้าพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 วันที่ 29 มิถุนายน 2541 โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 เตรียมสำเนาใบตราส่งให้โจทก์ตรวจสอบความถูกต้องว่าตรงกับใบกำกับสินค้า ใบจองระวางเรือ และเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือไม่จำเลยที่ 1 ส่งโทรสารเกี่ยวกับรายละเอียดในใบตราส่งซึ่งออกโดยจำเลยที่ 2 มาให้โจทก์ ตามสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 ต่อมาวันที่ 30มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเรืออันไตเจียงจะเข้าเทียบท่าเรือมหาวงศ์ จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2541และสามารถรับสินค้าลงเรือได้ในวันรุ่งขึ้น ให้โจทก์ขนสินค้ามาจากจังหวัดระยองเพื่อดำเนินการตามพิธีการทางศุลกากรเกี่ยวกับสินค้าขาออก วันที่ 1 ถึง 2 กรกฎาคม 2541 โจทก์ขนสินค้าที่จะขนส่งมาจากจังหวัดระยองโดยรถยนต์บรรทุกจำนวน 10 คัน ไปถึงท่าเรือมหาวงศ์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 เช้าวันเดียวกันนายกฤติแจ้งให้โจทก์ทราบว่า เรืออันไตเจียงไม่ยอมรับสินค้าของโจทก์ลงเรือให้โจทก์ระงับการขนสินค้าส่วนที่ยังไม่ได้ขนมาจากโรงงานที่จังหวัดระยองไว้ก่อนและขอให้ขนสินค้านั้นกลับไปคลังสินค้าของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1จะรับผิดชอบค่าขนส่งในครั้งนี้ ต่อมาช่วงบ่ายวันเดียวกันจำเลยที่ 1แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมจ่ายค่าระวางเรือเพิ่มให้จำเลยที่ 2อีกจำนวน 5 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อ 1 เมตริกตัน โดยจำเลยที่ 1 จะรับผิดในค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นเอง และจำเลยที่ 2 ตกลงรับสินค้าของโจทก์ลงเรือหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ส่งโทรสารสำเนาใบตราส่งที่แก้ไขรายการต่าง ๆให้ถูกต้องแล้วมาให้โจทก์ พร้อมกับให้โจทก์ขนสินค้ามาที่ท่าเรือมหาวงศ์อีกครั้งโดยกำหนดให้สินค้าไปถึงท่าเรือในวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2541ตามสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 วันที่ 6 ถึง 7 กรกฎาคม 2541โจทก์ขนสินค้าของโจทก์มาถึงท่าเรือมหาวงศ์และขนถ่ายสินค้าลงเรือฉลอมไปเทียบกราบเรืออันไตเจียงเพื่อเตรียมขนถ่ายสินค้าลงเรืออันไตเจียงแต่นายเรืออันไตเจียงปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้าของโจทก์ลงเรือโดยอ้างว่าจะต้องบรรทุกข้าวสารของลูกค้ารายอื่นลงเรือก่อน ในการนี้ปรากฏตามที่นายวศินเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 เรียกเก็บเงินค่าระวางสินค้าและค่าใบตราส่งจากโจทก์จำนวนประมาณ 1,000,000 บาท แต่โจทก์ยังไม่ได้ชำระให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 โดยนายปัญจพล สุนทรตันติกุล ตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.16 ส่วนจำเลยที่ 1 มีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและคำเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านของนายปัญจพลกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าโจทก์ติดต่อให้จำเลยที่ 1ขนส่งสินค้าของโจทก์จากประเทศไทยไปส่งให้แก่ลูกค้าที่เมืองซัวเถาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และติดต่อจองระวางเรือกับจำเลยที่ 1ในกรณีจำเลยที่ 1 มีระวางเรือว่างในเรือ ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ก็จะจัดเตรียมระวางเรือและรับสินค้าลงเรือ หากไม่มีระวางเรือว่างหรือไม่มีเรือไปในเส้นทางที่โจทก์ต้องการ จำเลยที่ 1 ก็จะติดต่อตัวแทนเรืออื่นที่แล่นไปในเส้นทางที่โจทก์ต้องการและจองระวางเรือให้โจทก์เห็นว่า โจทก์ติดต่อให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าของโจทก์และโจทก์จองระวางเรือกับจำเลยที่ 1 โดยตรง เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 แจ้งกำหนดการเข้าเทียบท่าเรือมหาวงศ์ จังหวัดสมุทรปราการของเรืออันไตเจียงให้โจทก์ทราบทุกระยะ และให้โจทก์ขนสินค้าจากจังหวัดระยองมาที่ท่าเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าลงเรือฉลอมไปลงเรืออันไตเจียงแล้วเรียกเก็บค่าระวางเรือจากโจทก์ เมื่อนายเรืออันไตเจียงปฏิเสธไม่ยอมขนสินค้าของโจทก์ลงเรือจำเลยที่ 1 ก็ยินดีที่จะจ่ายค่าระวางเรือเพิ่มให้จำเลยที่ 2 อีกจำนวน 5 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อ 1 เมตริกตัน ครั้นโจทก์ขนถ่ายสินค้าลงเรืออันไตเจียงไม่ได้และได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1ก็มีหนังสือยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.16ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงเข้าทำสัญญารับจ้างขนสินค้าของโจทก์จากประเทศไทยไปยังเมืองซัวเถา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนกับโจทก์ผู้ส่งของอันเป็นสัญญารับขนของทางทะเลโดยตรง หาได้กระทำการในฐานะที่เป็นตัวแทนของโจทก์ในการจองระวางเรืออันไตเจียงไม่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถขนสินค้าดังกล่าวไปส่งให้แก่ลูกค้าของโจทก์ที่เมืองซัวเถาได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญารับขนของทางทะเลและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในข้อ 1 ถึง ข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของเรืออันไตเจียงที่รับขนส่งสินค้าของโจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของบริษัทกวางเจาโอเชียน ชิปปิ้ง จำกัด เจ้าของเรืออันไตเจียงซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองกวางเจา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตามสำเนารายละเอียดเกี่ยวกับเรืออันไตเจียงเอกสารหมาย ล.13และตามหนังสือเอกสารหมาย ล.12 และ ล.15 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องตั้งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้จำเลยที่ 2รับผิดต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเรืออันไตเจียงที่รับขนสินค้าของโจทก์และจำเลยที่ 2 ผิดสัญญารับขนสินค้าดังกล่าวต่อโจทก์ โจทก์หาได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญารับขนในฐานะเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนสินค้ากับโจทก์แทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศอันจะต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 824แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ กรณีจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2รับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 824 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นผู้ขนส่งสินค้าหรือไม่นั้นในข้อนี้โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.11ในการรับขนสินค้าของโจทก์โดยเรืออันไตเจียง แต่ปรากฏตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 ว่า บริษัทไซน่าโอเชียนชิปปิ้ง จำกัด เป็นผู้ออกใบตราส่งจำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ออกใบตราส่งดังกล่าวแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเรืออันไตเจียงที่รับขนสินค้าของโจทก์ดังที่โจทก์อ้างในคำฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 2รับผิดต่อโจทก์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 445,000 บาท59,701.20 บาท 139,109.30 บาท 124,825 บาท 113,334.80 บาท139,780 บาท 38,284.40 บาท 43,569.80 บาท 15,729 บาท100,000 บาท และ 115,939 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2541 วันที่ 28 สิงหาคม 2541วันที่ 28 สิงหาคม 2541 วันที่ 8 กันยายน 2541 วันที่ 18 กันยายน2541 วันที่ 18 กันยายน 2541 วันที่ 17 สิงหาคม 2541 วันที่ 8กรกฎาคม 2541 วันที่ 3 กรกฎาคม 2541 และวันที่ 14 กันยายน2541 ตามลำดับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

Share