คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12639/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าโจทก์รับโอนที่ดินมาจาก ห. โดยไม่สุจริต โดยไม่ปรากฏว่าไม่สุจริตอย่างไร และทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏเรื่องนี้ ถือว่าคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทนี้
จำเลยให้การว่าจำเลยคัดค้านการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ เนื่องจากเป็นที่ดินของจำเลย เป็นคำให้การที่ยืนยันว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลย จึงไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทหรือไม่ แม้จำเลยจะให้การด้วยว่า จำเลยกับมารดาร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้วก็ตาม เพราะจะขัดกับคำให้การที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะการครอบครองปรปักษ์จะต้องกระทำต่ออสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น
โจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท จำเลยยื่นคำคัดค้านว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินพิพาทของโจทก์ เท่ากับขอให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์นั่นเอง ซึ่งจำเลยก็ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย เมื่อคดีฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 3015 ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐม หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับเป็นว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3015 ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐม ภายในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 เฉพาะเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา เป็นของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินที่พิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาว่า ที่ดินพิพาทคือที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3015 ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยโจทก์ซื้อมาจากนางแหยม ป้าของโจทก์เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2543 ซึ่งเป็นใบแทนของสำเนาโฉนดที่ดิน จำเลยมีชื่อเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 23 ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 70 ตารางวา โดยได้รับการยกให้มาจากนางอำไพ มารดาของจำเลย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2541 ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.3 นางอำไพได้ที่ดินแปลงนี้มาจากการที่นางเล็ก มารดาของโจทก์ขายฝากแก่นางอำไพเมื่อปี 2507 แล้วไม่ได้ไถ่ถอนคืนภายในกำหนด นางเล็กเป็นน้องสาวของนางแหยม วันที่ 25 มิถุนายน 2541 จำเลยยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินตาม น.ส.3 เอกสารหมาย จ.3 เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน นางแหยมยื่นคำคัดค้านว่า น.ส.3 ดังกล่าว จำเลยขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทของตน เจ้าพนักงานที่ดินไกล่เกลี่ยแล้วไม่อาจตกลงกันได้ ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ล.4 วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทจำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดิน น.ส.3 เอกสารหมาย จ.3 ของจำเลย โจทก์จำเลยตกลงกันไม่ได้ โจทก์ขอยกเลิกการรังวัดสอบเขตที่ดินแล้วฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยต่างนำชี้แนวเขตที่ดินต่อเจ้าพนักงานตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 โดยที่ดินพิพาทอยู่ในกรอบเส้นสีแดง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 โจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท จำเลยยื่นคำคัดค้าน ทำให้โจทก์ดำเนินการไม่ได้ ขอให้บังคับจำเลยถอนคำคัดค้าน จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทจริงแต่โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว เพราะโจทก์รับโอนที่ดินมาจากนางแหยมโดยไม่สุจริต โดยไม่ปรากฏว่าไม่สุจริตอย่างไร ตามทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏเรื่องนี้ จึงต้องถือว่าไม่มีประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ จำเลยให้การต่อมาว่า จำเลยคัดค้านการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์เนื่องจากเป็นที่ดินของจำเลย ถือได้ว่าเป็นคำให้การที่ยืนยันว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลย ตามเอกสารหมาย จ.3 กรณีจึงไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทหรือไม่ แม้ในคำให้การจำเลยจะบรรยายไว้ด้วยว่า จำเลยและมารดาร่วมกันครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 เอกสารหมาย จ.3 ซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วย ต่อเนื่องกันมาโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้ว เพราะจะขัดกับคำให้การที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะการครอบครองปรปักษ์จะต้องกระทำต่ออสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรืออยู่ในเขตที่ดินของจำเลยตาม น.ส.3 เอกสารหมาย จ.3 ประเด็นนี้โจทก์นำสืบโดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า ที่ดินของจำเลยตาม น.ส.3 เอกสารหมาย จ.3 มีที่มาจากที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ตามเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งระบุว่าเนื้อที่ดินขณะนั้นมี 8 ไร่ 1 งาน 70 ตารางวา และทิศตะวันออกของที่ดินจดที่ดินของนางแหยม ทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่านางแหยมมีที่ดินแปลงอื่น ส.ค.1 ตามเอกสารหมาย จ.16 นี้สำรวจไว้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2498 ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนเป็น น.ส.3 ตามเอกสารหมาย จ.3 ในวันที่ 23 มิถุนายน 2507 เนื้อที่ดินจึงเปลี่ยนเป็น 10 ไร่ 1 งาน 70 ตารางวา ต่างกับที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งออกไว้ตั้งแต่รัตนโกสินทร์ศก 128 หรือ พ.ศ. 2452 คงมีเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อจำเลยยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อออกโฉนดตามเนื้อที่ใน น.ส.3 เอกสารหมาย จ.3 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2541 นางแหยมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทในขณะนั้นไปยื่นคำคัดค้านโต้แย้งว่า การขอออกโฉนดที่ดินของจำเลยทับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของนางแหยม จำเลยก็มิได้ฟ้องร้องหรือดำเนินการอย่างไรกับนางแหยม จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 ที่โจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทจำเลยจึงค่อยโต้แย้ง กรณีจึงเชื่อได้ว่าที่ดินส่วนที่เกินมาจากที่ดิน ส.ค.1 ตามเอกสารหมาย จ.16 ในที่ดิน น.ส.3 ตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นส่วนที่นางเล็กได้แจ้งการครอบครองทับที่ดินพิพาทของนางแหยมในขณะนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยรายละเอียดส่วนนี้ไว้ชัดเจนและชอบด้วยเหตุผลแล้ว และที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินพิพาทของโจทก์ ก็เพราะจำเลยไปยื่นคำคัดค้านโดยอ้างว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงอยู่ในเขตที่ดิน น.ส.3 ของจำเลย ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.10 จนทำให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดให้ตามที่โจทก์ต้องการไม่ได้ คำขอของโจทก์จึงเท่ากับขอให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์นั่นเอง ซึ่งจำเลยก็ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า เป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (1) จึงเป็นคำพิพากษาที่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขี้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

Share