คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1219/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ร่วมตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 โดยจำเลยออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.3 เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวบางส่วนให้แก่โจทก์ร่วม ทั้งนี้โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยเข้าครอบครองใช้สอยประโยชน์ในทรัพย์สินที่ตกลงจะซื้อจะขายนับแต่วันทำสัญญา ซึ่งจำเลยได้ออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.9 เพื่อชำระหนี้ค่าใช้สอยดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม การที่โจทก์ร่วมปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์ร่วมถูกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องและศาลพิพากษาให้ชำระหนี้ 115 ล้านบาทเศษเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2539 และสัญญาจะซื้อจะขายในคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ทำกันเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้โจทก์ร่วมชำระหนี้เพียง 12 วัน น่าเชื่อได้ว่าขณะทำสัญญาดังกล่าวจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ร่วมถูกธนาคารฟ้องให้ชำระหนี้และยึดทรัพย์ซึ่งรวมถึงที่ดินที่จะขายให้แก่จำเลยด้วย อันเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ร่วมไม่สามารถโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะขายตามสัญญาให้แก่จำเลยได้ ทั้งในวันที่ตกลงจะจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญานั้น โจทก์ร่วมและเจ้าของร่วมคนอื่นก็มิได้ไปทำการโอนให้จำเลย เมื่อจำเลยทราบเหตุที่โจทก์ร่วมถูกศาลพิพากษาให้โจทก์ร่วมชำระหนี้และโจทก์ร่วมไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยตามกำหนด การที่จำเลยเห็นว่าการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 นั้น มีปัญหาที่อาจจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ดังนั้น การที่จำเลยไปแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งเป็นการสั่งจ่ายในการที่จำเลยได้ครอบครองหรือใช้สอยทรัพย์สินที่จะซื้อขายกันจึงเป็นการระงับการสั่งจ่ายโดยสุจริต แม้ว่าตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 10 วรรคสองจะระบุว่าสำหรับเงินที่ผู้จะซื้อชำระให้แก่ผู้จะขายเป็นรายเดือนเดือนละ 300,000 บาท ตามความในข้อ 6 นั้นไม่อยู่ในข้อบังคับของวรรคแรกคงปล่อยให้ตกเป็นของผู้จะขายตลอดไป เพราะถือว่าเป็นค่าตอบแทนของการเข้าครอบครองและใช้สอยประโยชน์แล้ว ก็หาทำให้จำเลยมีความผิดเพราะแจ้งธนาคารระงับการจ่ายเงินโดยสุจริตไม่
อนึ่ง คดีความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 นั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17, 25 และต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวงพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22, 22 ทวิ ซึ่งใช้บังคับแก่ศาลจังหวัดในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการด้วยตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่ากรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริต โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ความว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริตเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการเขต 2 รักษาการในตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 ทวิ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไม่มีผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งอนุญาตให้อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ชอบที่จะวินิจฉัยให้ยกเสีย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมาด้วยเป็นการไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทฟายน์โฮมส์ อินเตอร์คอร์ปปอเรชั่น จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการเขต 2 รักษาการในตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติตามเช็ค (ที่ถูก พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534) มาตรา 4 (5) จำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ร่วมกับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกันตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ความว่าโจทก์ร่วมและนายเรวัตร กับนายโดม ตกลงจะขายและจำเลยตกลงจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1436 ถึง 1444 ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินในราคา 24,000,000 บาท จำเลยชำระเงินมัดจำ 2,000,000 บาท และออกเช็คหลายฉบับรวมทั้งเช็คธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สั่งจ่ายเงิน 660,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.3 แก่โจทก์ร่วมเป็นการชำระราคาบางส่วน ราคาส่วนที่เหลือจะชำระภายในวันที่ 21 มีนาคม 2540 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยเข้าครอบครองใช้สอยประโยชน์ในทรัพย์สินที่ตกลงจะซื้อจะขายตามสัญญานับแต่วันทำสัญญา โดยจำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมเดือนละ 300,000 บาท ซึ่งจำเลยได้ออกเช็คให้แก่โจทก์ร่วมหลายฉบับรวมทั้งเช็คธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 4483667 สั่งจ่ายเงิน 300,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาโจทก์ร่วมนำเช็คทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย” โจทก์ร่วมและเจ้าของร่วมคนอื่นจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยและข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินของโจทก์ร่วมและเจ้าของร่วมคนอื่นซึ่งได้ทำสัญญาจะขายให้จำเลยส่วนหนึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 นั้น ได้ถูกนำไปจำนองกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และถูกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ยืม 115 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2538 และศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้พิพากษาคดีดังกล่าวให้โจทก์ร่วมใช้เงินธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 115,378,296.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2539 ซึ่งก่อนจะถึงวันกำหนดนัดโอนตามสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นผลทำให้โจทก์ร่วมและเจ้าของร่วมคนอื่นไม่สามารถโอนที่ดินและอาคารพาณิชย์ให้จำเลยได้ตามสัญญา และวันนัดโอนวันที่ 21 มีนาคม 2540 จำเลยไปรอโจทก์ร่วมและเจ้าของร่วมคนอื่นที่สำนักงาที่ดินจังหวัดระยอง แต่บุคคลดังกล่าวไม่ไปตามนัด สำหรับการออกเช็คของจำเลยตามเช็คเอกสารหมาย จ.3 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องข้อหาสำหรับการกระทำความผิดของจำเลยในส่วนนี้จึงยุติ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.9 โดยมีเจตนาทุจริตหรือไม่ เมื่อพิเคราะห์จากพฤติการณ์ที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและข้อตกลงขอเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินก่อนกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ โดยจำเลยซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์จำนวน 9 ห้อง มาเพื่อขยายกิจการร้านค่าเฟ่จาก 3 ห้องเดิม เป็น 12 ห้อง ซึ่งปรากฏในคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2830/2540 ของศาลจังหวัดระยองที่จำเลยฟ้องโจทก์ร่วมในข้อหาฉ้อโกงว่า จำเลยได้เข้าปรับปรุงอาคารพาณิชย์ที่จำเลยได้ตกลงขอเข้าใช้ประโยชน์ก่อนเป็นเงิน 11 บ้านบาทเศษ ย่อมแสดงว่าจำเลยมีจุดประสงค์ที่จะใช้อาคารดังกล่าวตลอดไป มิใช่ชั่วครั้งชั่วคราวเพียง 6 เดือน เพราไม่มีใครที่จะยอมลงทุนปรับปรุงสถานที่เป็นจำนวนเงินมากถึง 11 ล้านบาทเศษ โดยใช้อาคารดังกล่าวเพียง 6 เดือน ก่อนมีการโอนที่ดินเพราะเป็นที่เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจะไม่คุ้มทุนที่ลงไปอย่างแน่นอน ดังนั้นย่อมแสดงได้ว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์เดียวกันในการซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์และการขอเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารพาณิชย์คือ เพื่อขยายกิจการร้านคาเฟ่จาก 3 ห้อง เป็น 12 ห้อง และปรับปรุงอาคารพาณิชย์เพื่อเป็นร้านคาเฟ่ เมื่อโจทก์ร่วมปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าถูกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องและศาลพิพากษาให้ชำระหนี้ 115 ล้านบาทเศษ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2539 และสัญญาจะซื้อจะขายในคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ทำกันเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้โจทก์ร่วมชำระหนี้เพียง 12 วัน น่าเชื่อได้ว่าขณะทำสัญญาดังกล่าวจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ร่วมถูกธนาคารฟ้องให้ชำระหนี้และยึดทรัพย์ซึ่งรวมถึงที่ดินที่จะขายให้แก่จำเลยด้วย อันเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ร่วมไม่สามารถโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะขายตามสัญญาให้แก่จำเลยได้ ทั้งในวันที่ตกลงจะจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญานั้น โจทก์ร่วมและเจ้าของร่วมคนอื่นก็มิได้ไปทำการโอนให้จำเลย เมื่อจำเลยทราบเหตุที่โจทก์ร่วมถูกศาลพิพากษาให้โจทก์ร่วมชำระหนี้และโจทก์ร่วมไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยตามกำหนด การที่จำเลยเห็นว่าการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 นั้น มีปัญหาที่อาจจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ดังนั้นการที่จำเลยไปแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งเป็นการสั่งจ่ายในการที่จำเลยได้ครอบครองหรือใช้สอยทรัพย์สินที่จะซื้อขายกันจึงเป็นการระงับการสั่งจ่ายโดยสุจริต แม้ว่าตามสัญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 10 วรรคสอง จะระบุว่าสำหรับเงินที่ผู้จะซื้อชำระให้แก่ผู้จะขายเป็นรายเดือน เดือนละ 300,000 บาท ตามความในข้อ 6 นั้น ไม่อยู่ในบังคับของวรรคแรกคงปล่อยให้ตกเป็นของผู้จะขายตลอดไป เพราะถือว่าเป็นค่าตอบแทนของการเข้าครอบครองและใช้สอยประโยชน์แล้วก็หาทำให้จำเลยมีความผิดเพราะแจ้งธนาคารระงับการจ่ายเงินโดยสุจริตไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดที่ได้ห้ามธนาคารมิให้จ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.9 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง คดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 นั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17, 25 และต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวง พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22, 22 ทวิ ซึ่งใช้บังคับแก่ศาลจังหวัดในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการด้วยตามพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่ากรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริตโจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ความว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริตเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการเขต 2 รักษาการในตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบที่จะรับไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไม่มีผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งอนุญาตให้อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ชอบที่จะวินิจฉัยให้ยกเสีย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมาด้วยเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดตามเช็คเลขที่ 4483667 ที่สั่งจ่ายหนี้ค่าใช้สอยที่ดินและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share