คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองทำร้ายผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์ในโรงเรียนแต่ผู้เสียหายไม่ใช่คนร้ายการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงแต่ขณะถูกทำร้ายผู้เสียหายได้ร้องบอกว่า”อย่าทำผม”เวลาที่เกิดเหตุไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากกองไม้อีกทั้งผู้เสียหายไม่มีอาวุธติดตัวการไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายไม่ใช่คนร้ายเข้ามาลักทรัพย์จึงเกิดขึ้นด้วยความประมาทของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทสำหรับการกระทำนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา62วรรคสองเมื่อผู้เสียหายถูกจำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ไม้ท่อนยาวประมาณ1 เมตร หนา 2 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร เป็นอาวุธตีทำร้ายร่างกายนายทวีชัย ชัยสวัสดิ์ ผู้เสียหาย ที่บริเวณศีรษะด้านขวาและด้านซ้าย บาดแผลลึกถึงกะโหลกศีรษะ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 297
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางเถียนหรือเถี้ยน ชัยสวัสดิ์ มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของทวีชัย ชัยสวัสดิ์ ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 3 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 62, 69ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนเห็นสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2ไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำเบิกความของผู้เสียหายว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ตีทำร้ายผู้เสียหายครั้งแรกจำเลยที่ 1ได้ร้องเรียกนายสำรองว่า “ครูสำรอง โจร ๆ” เมื่อจำเลยที่ 1และนายสำรองช่วยกันจับผู้เสียหายข้ามกำแพงมาที่หลังบ้านจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 พูดว่า “มึงเข้ามาเอาอะไร ไม่บอกเอาให้ตาย”นายสำรองข้ามกำแพงมาเตะผู้เสียหายที่หน้าอกแล้วพูดว่า”ยังแกล้งไม่บอกอีก” เกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจโทสุริยา รัตนกาญจนพันธ์ พนักงานสอบสวนว่าผู้เสียหายเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์ในโรงเรียนชุมชนย้านย่านดินแดง ร้อยตำรวจโทสุริยาก็เบิกความรับรองในข้อนี้แสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ร้องบอกนายสำรองว่าโจรก็ดี จำเลยที่ 2 ว่า มึงเข้ามาเอาอะไรก็ดี และที่นายสำรองพูดว่า “ยังแกล้งไม่บอก” ก็ดี แสดงว่าจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 กับนายสำรองสำคัญผิดว่า ผู้เสียหายกับพวกเป็นคนร้ายจะลักทรัพย์จริง ทั้งทางนำสืบของจำเลยทั้งสองตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทสุริยาว่ามีการลักทรัพย์ในบริเวณแถวนั้นบ่อย ๆแต่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับพวกไม่ใช่คนร้าย การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง แต่ขณะผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ตีที่ศีรษะในบริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านย่านดินแดงผู้เสียหายได้ร้องบอกว่า “อย่าทำผมโอ๋” และนายชนะเพื่อนของผู้เสียหายเข้าไปห้ามบอกว่า “อย่าตี” จำเลยที่ 1 ไม่ยอมเชื่อฟังและที่เกิดเหตุก็เป็นบริเวณโรงเรียนมีแต่กองไม้ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอย่างอื่นอีก ที่จำเลยทั้งสองเกรงว่าคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 กับนายสำรองช่วยกันจับผู้เสียหายข้ามไปกำแพงอีกด้านหนึ่ง จำเลยที่ 2 ก็ดีทำร้ายผู้เสียหายอีก หากผู้เสียหายเป็นคนร้ายและมีอาวุธน่าจะทำร้ายจำเลยที่ 1และนายสำรองขณะช่วยกันจับผู้เสียหายข้ามกำแพงแล้ว แสดงว่าผู้เสียหายไม่มีอาวุธติดตัว อีกทั้งจำเลยทั้งสองและนายสำรองมีจำนวนถึง 3 คน น่าจะช่วยกันจับผู้เสียหายไว้โดยไม่ต้องทำร้ายร่างกายผู้เสียก็ได้ พฤติการณ์แห่งการกระทำขอจำเลยทั้งสองเช่นนี้จึงเป็นการไม่ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควร การไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายมิใช่คนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ จึงเกิดขึ้นด้วยความประมาทของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทสำหรับการกระทำนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 62 วรรคสอง เมื่อผู้เสียหายถูกจำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ประกอบด้วยมาตรา 62 วรรคสองให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี และปรับคนละ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยทั้งสองไว้โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 เดือนต่อหนึ่งครั้งตลอดระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 28, 30

Share