คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การทำสวนยางพาราเป็นกิจการอย่างหนึ่งของโจทก์ และโจทก์ใช้ที่ดินพิพาทบางแปลงทำสวนยางพารา ดังนี้ ต้นยางพาราซึ่งเป็นไม้ยืนต้นย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทรวมทั้งต้นยางพาราอันเป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสิบเอ็ดแต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 11 ให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ มีผลเท่ากับเป็นการโต้เถียงสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและต้นยางพาราอันเป็นส่วนควบของที่ดิน ถือได้ว่าต้นยางพาราในที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พิพาทกันในคดีด้วย ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ดำเนินการให้บุคคลภายนอกเข้ามาตัดต้นยางพาราในที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขาย อันเป็นการกระทำให้เปลืองไปเปล่าหรือบุบสลายหรือโอนไปยังผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 (2) หากภายหลังโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ จึงสมควรสั่งห้ามไม่ให้จำเลยที่ 2 เข้าตัดฟันต้นยางพาราในที่ดินพิพาทระหว่างพิจารณาคดีไว้เป็นการชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดจดทะเบียนโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันพิพากษาโดยให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบเอ็ด
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 11 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การจำเลยที่ 4
ก่อนสืบพยาน โจกท์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยยื่นคำร้องขอในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 2 ตัดต้นยางพาราที่ปลูกในที่ดินโฉนดเลขที่ 1337 และ 1338 ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่ให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหาย 200,000 บาท ก่อนออกหมาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นตัวการฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า การทำสวนยางพาราเป็นกิจการอย่างหนึ่งของโจทก์และโจทก์ใช้ที่ดินพิพาทบางแปลงทำสวนยางพารา ดังนี้ ต้นยางพาราซึ่งเป็นไม้ยืนต้นย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทรวมทั้งต้นยางพาราอันเป็นส่วนควบของที่ดิน เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสิบเอ็ด แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 11 ให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์มีผลเท่ากับเป็นการโต้เถียงสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและต้นยางพาราอันเป็นส่วนควบของที่ดิน ถือได้ว่าต้นยางพาราในที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พิพาทกันในคดีด้วย ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ดำเนินการให้บุคคลภายนอกเข้ามาตัดต้นยางพาราในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1337 และ 1338 ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำออกขาย อันเป็นการกระทำให้เปลืองไปเปล่าหรือบุบสลายหรือโอนไปยังผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 (2) หากภายหลังโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ จึงสมควรสั่งห้ามไม่ให้จำเลยที่ 2 เข้าตัดฟันต้นยางพาราในที่ดินพิพาทระหว่างพิจารณาไว้เป็นการชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำร้องของโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share