คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1204/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โดยคงจำคุกจำเลยคนละไม่เกิน 5 ปี คดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 218 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า การที่รถจักรยานยนต์ของกลางอยู่ที่จำเลยทั้งสาม พฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 กับพวกรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสอง เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ในการจับกุมมีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นสัญญาบัตรของตำรวจทางหลวงและสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางร่วมจับกุมด้วย จึงถือว่าจำเลยทั้งสามถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจับกุมตามกฎหมายโดยชอบและการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันบรรทุกรถจักรยานยนต์ 2 คันของกลางบนรถยนต์กระบะเดินทางมาเขตอำเภอกบินทร์บุรีเพื่อจะนำไปจำหน่ายยังประเทศเขมรนั้น เป็นการกระทำผิดฐานรับของโจรต่อเนื่องกันและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ตามมาตรา 19(3)แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น ร้อยตำรวจเอก อ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดทั้งยังมีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกในท้องที่อำเภอกบินทร์บุรีด้วยร้อยตำรวจเอกอ. จึงเป็นพนักงานผู้รับผิดชอบในการสอบสวนแล้วเข้ากรณีตาม มาตรา 19 วรรคสาม (ข) เพราะเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ พบการกระทำผิดอยู่ก่อนโดยเริ่มสอบสวนตั้งแต่ยังจับตัว จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกถูกจับกุมที่ท้องที่ อำเภอกบินทร์บุรีก็ตาม ก็หาทำให้ร้อยตำรวจเอก อ. พ้นจากการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไปไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้พนักงานอัยการจังหวัดลำปางโจทก์จึงฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ โดยถือว่ามีการสอบสวน โดยชอบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 357, 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง, 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคหนึ่ง, 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืนโดยคงจำคุกจำเลยคนละไม่เกิน 5 ปี คดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าการที่รถจักรยานยนต์ของกลางอยู่ที่จำเลยทั้งสาม พฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสอง เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า คดีนี้จำเลยทั้งสามถูกจับในเขตตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกบินทร์บุรีซึ่งเป็นท้องที่ที่จับจำเลยได้อยู่ในเขตอำนาจ จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 19 วรรคสาม (ก) การที่ร้อยตำรวจเอกอุรุพงศ์ ธงศิลาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง ได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับตัวจำเลยทั้งสามได้แล้ว ผู้เสียหายที่ 1เพิ่งร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีฐานยักยอกทรัพย์ ร้อยตำรวจเอกอุรุพงศ์จึงมิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น จะสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการจังหวัดลำปางพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 และ 141 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จคดี ก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ความว่า ก่อนถูกจับกุมจำเลยทั้งสามได้ขับรถยนต์กระบะบรรทุกรถจักรยานยนต์ 2 คันของกลางมุ่งออกจากจังหวัดปราจีนบุรีจะข้ามไปฝั่งประเทศเขมรแล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวง 5 กองกำกับการ 3อำเภอกบินทร์บุรี ตรวจค้นและควบคุมตัวไว้ ทางเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงได้ประสานงานแจ้งไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจึงทราบว่าผู้เสียหายได้แจ้งความไว้ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางถูกยักยอกไป ต่อมานายดาบตำรวจประหยัด จำป๋า เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เดินทางไปร่วมจับกุมจำเลยทั้งสามกับเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงดังกล่าว นายดาบตำรวจประหยัดพร้อมกับนายศุภชัยหุ้นส่วนผู้จัดการผู้เสียหายที่ 1 ได้เดินทางมาที่ทำการตำรวจทางหลวง 5 กองกำกับการ 3 อำเภอกบินทร์บุรีจังหวัดปราจีนบุรี และนายศุภชัยได้ตรวจดูรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดไว้ แล้วยืนยันว่ารถจักรยานยนต์ของกลางคันหนึ่งเป็นของตนจึงชี้ให้จับกุมจำเลยทั้งสามคดีนี้นายดาบตำรวจประหยัดกับพวกได้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสามไว้และได้ทำบันทึกการจับกุมตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งในบันทึกการจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมก็ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทั้งสามทราบ ทั้งการจับกุมครั้งนี้มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นสัญญาบัตรของตำรวจทางหลวงและสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางร่วมจับกุมด้วย จึงถือว่าจำเลยทั้งสามถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจับกุมตามกฎหมายโดยชอบ และการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันบรรทุกรถจักรยานยนต์ 2 คันของกลางบนรถยนต์กระบะเดินทางมาเขตอำเภอกบินทร์บุรีเพื่อจะนำไปจำหน่ายยังประเทศเขมรนั้นเป็นการกระทำผิดฐานรับของโจรต่อเนื่องกันและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตามมาตรา 19(3)แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้นร้อยตำรวจเอกอุรุพงศ์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดทั้งยังมีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกในท้องที่อำเภอกบินทร์บุรีด้วย ร้อยตำรวจเอกอุรุพงศ์จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนแล้วเข้ากรณีตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำผิดอยู่ก่อนโดยเริ่มสอบสวนตั้งแต่ยังจับตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้แม้ภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกถูกจับกุมที่ท้องที่อำเภอกบินทร์บุรีก็ตาม ก็หาทำให้ร้อยตำรวจเอกอุรุพงศ์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางพ้นจากเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไปไม่ ไม่เข้ากรณีตามมาตรา 19 วรรคสาม (ก)ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้พนักงานอัยการโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ โดยถือว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2539 ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 อ้างนั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงนำมาปรับกับคดีนี้มิได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อดังกล่าวฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share