แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ฉ้อโกง ++
++
++
++ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า สมควรลงโทษจำเลยทั้งสามสถานเบาและรอการลงโทษหรือไม่
++ เห็นว่า จากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 278/2541 เป็นตัวการสำคัญในการกระทำความผิดโดยเป็นผู้ลักหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิของมารดามาขูดชื่อมารดาออกแล้วพิมพ์ชื่อของตนเองแทน โดยจำเลยทั้งสามมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยทั้งสามไปติดต่อขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหายให้จำเลยในคดีหมายเลขดำที่278/2541 และเป็นพยานรับรองว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวเป็นของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 278/2541 ก็เพื่อมุ่งหวังจะได้ค่านายหน้าเท่านั้นพฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งสามจึงไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับจำเลยทั้งสามได้บรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์ร่วม โดยยอมร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมตามจำนวนที่โจทก์ร่วมประสงค์เรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสามแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แก้โทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามสถานเบาและรอการลงโทษ แต่คุมประพฤติจำเลยทั้งสามไว้เพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสามได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงนับว่าเป็นดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในส่วนนี้
++ แต่สำหรับโทษปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 นั้น มีระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ 8,000 บาท จึงเป็นการลงโทษปรับต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำตามกฎหมายและเบาเกินไป โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือได้ว่าโจทก์ร่วมฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสามให้หนักขึ้นอยู่ในตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212ประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงแก้ไขโทษปรับสำหรับจำเลยทั้งสามให้ถูกต้องเหมาะสมได้ ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสามด้วยโดยมิได้กล่าวถึงการบังคับให้ชำระค่าปรับนั้น เป็นการไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ30,000 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงปรับคนละ 15,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๗๘/๒๕๔๑ แต่คดีสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๙ เวลากลางวันถึงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๙ เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน (น.ส.๓ ก.)ทะเบียนฉบับเลขที่ ๒๖๔๖ เล่ม ๒๗ ก หน้า ๔๖ เลขที่ดิน ๔๖๑ ตำแหน่งที่ดินตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ซึ่งทางราชการออกให้เพื่อแสดงว่า นางคล่อง วาระหัส สัญชาติไทย บ้านเลขที่ ๑๔๖ หมู่ที่ ๑ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว จำนวนเนื้อที่ ๗๙ ตารางวา ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการที่แท้จริง โดยการขูดลบคำว่า “คล่อง”ในช่องชื่อผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินและพิมพ์ข้อความว่า “ณัฐรัตน์”อันหมายถึงจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๘/๒๕๔๑ ลงไปแทน ซึ่งเมื่อแก้ไขดังนั้นแล้วจะทำให้ชื่อผู้ครอบครองและทำประโยชน์เปลี่ยนไปจาก”นางคล่อง วาระหัส” เป็นนางณัฐรัตน์ วาระหัส จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๘/๒๕๔๑ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางคล่อง วาระหัส และประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสามกับพวกได้กระทำเพื่อให้นายประวิ ศักดิ์สวัสดิ์ และประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการที่แท้จริง เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม๒๕๔๐ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันหลอกลวงนายประวิศักดิ์สวัสดิ์ ผู้เสียหายด้วยการร่วมกันขอกู้ยืมเงินจำนวน ๒๑๐,๐๐๐ บาทจากผู้เสียหายโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) ที่จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันปลอมขึ้นมาใช้อ้างแสดงว่าเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) ซึ่งจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๘/๒๕๔๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการดังกล่าวนั้นค้ำประกันการกู้ยืมเงินในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนและผู้เสียหาย และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเอกสารตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) นั้น จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๘/๒๕๔๑เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่นำมาค้ำประกันเงินกู้จริง จึงได้มอบเงินจำนวน๒๑๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยทั้งสามกับพวก ต่อมาวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๐เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ ๓ ได้ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๐ จับจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ได้ นำส่งพนักงานสอบสวน เหตุเกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘, ๓๔๑ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินที่ร่วมกันฉ้อโกงแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณานายประวิ ศักดิ์สวัสดิ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โจทก์ร่วมแถลงว่าโจทก์ร่วมติดใจเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ร่วม ๒๐,๐๐๐ บาทโจทก์ไม่คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๖ (๑), ๒๖๘ วรรคแรก, ๓๔๑ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ จำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และร่วมกันนำเอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวไปใช้ จึงต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง แต่เพียงกระทงเดียว แต่ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการกับความผิดฐานฉ้อโกงนั้น จำเลยทั้งสามกระทำขึ้นและนำไปใช้หลอกลวงโจทก์ร่วมในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๖ (๑)ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๘ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ ลงโทษจำคุกคนละ ๖ ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงลงโทษจำคุกคนละ ๓ ปีให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินแก่โจทก์ร่วมจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ ๔ ปี ปรับคนละ ๘,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสามรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกคนละ ๒ ปี และปรับคนละ๔,๐๐๐ บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยทั้งสามให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด๒ ปี คุมความประพฤติจำเลยทั้งสามไว้โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด ๑ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า สมควรลงโทษจำเลยทั้งสามสถานเบาและรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า จากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๘/๒๕๔๑ เป็นตัวการสำคัญในการกระทำความผิดโดยเป็นผู้ลักหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิของมารดามาขูดชื่อมารดาออกแล้วพิมพ์ชื่อของตนเองแทน โดยจำเลยทั้งสามมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยทั้งสามไปติดต่อขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหายให้จำเลยในคดีหมายเลขดำที่๒๗๘/๒๕๔๑ และเป็นพยานรับรองว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวเป็นของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๘/๒๕๔๑ ก็เพื่อมุ่งหวังจะได้ค่านายหน้าเท่านั้นพฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งสามจึงไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับจำเลยทั้งสามได้บรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์ร่วม โดยยอมร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ร่วมตามจำนวนที่โจทก์ร่วมประสงค์เรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสามแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ แก้โทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามสถานเบาและรอการลงโทษ แต่คุมประพฤติจำเลยทั้งสามไว้เพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสามได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงนับว่าเป็นดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในส่วนนี้ แต่สำหรับโทษปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๖ นั้น มีระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ ๘,๐๐๐ บาท จึงเป็นการลงโทษปรับต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำตามกฎหมายและเบาเกินไป โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือได้ว่าโจทก์ร่วมฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสามให้หนักขึ้นอยู่ในตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ ศาลฎีกาจึงแก้ไขโทษปรับสำหรับจำเลยทั้งสามให้ถูกต้องเหมาะสมได้ ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสามด้วยโดยมิได้กล่าวถึงการบังคับให้ชำระค่าปรับนั้น เป็นการไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ๓๐,๐๐๐ บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ แล้ว คงปรับคนละ ๑๕,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.