คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4627/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์จะสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาอุทธรณ์ทั้งฉบับมิใช่พิจารณาเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดเท่านั้น แม้อุทธรณ์ของโจทก์มิได้กล่าวถึงข้อความทั้งหมดที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ว่าอย่างไร หรืออีกนัยหนึ่งมิได้ คัดลอกข้อความวรรคสุดท้ายทั้งหมดของคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาลงไว้ในอุทธรณ์ แต่อุทธรณ์ของโจทก์ก็ได้กล่าวว่าไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย การคิดดอกเบี้ยทบต้น และค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย และยังได้กล่าวถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อที่โจทก์ไม่เห็นพ้อง กับมีข้อโต้แย้งของโจทก์ด้วยเช่นนี้ จึงเป็นอุทธรณ์ที่สมบูรณ์แล้ว สัญญากู้เงินระบุว่าจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี ดังนี้ แม้ว่านับแต่วันทำสัญญากู้เงินจนถึงวันก่อนที่โจทก์จะปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงร้อยละ 12.75 ต่อปีก็ตามกรณีเป็นเรื่องโจทก์ยอมสละประโยชน์ที่จะพึงได้ตามสัญญาเท่านั้น กรณีหาใช่คู่สัญญามิได้ยึดถืออัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเป็นข้อสำคัญไม่ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นการใช้สิทธิตามสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิกระทำได้ แม้ว่าตามสัญญากู้เงิน จำเลยตกลงยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ย ในจำนวนที่ทบเข้ากันนั้นได้ แม้จะมีจำเลยลงลายมือชื่อฝ่ายเดียวก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าข้อสำคัญที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินและตามข้อตกลง ต่อท้ายสัญญาจำนองซึ่งโจทก์และจำเลยต่างลงลายมือชื่อกันไว้ระบุว่า จำเลยตกลงให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้า กับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนที่ทบเข้ากันนั้นได้ การตกลง ดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือ ดังนี้ โจทก์จึงมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยต่อไปได้ ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยที่โจทก์ชำระแทนจำเลยไป โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวได้ตามข้อตกลงที่ระบุกันไว้ในสัญญากู้เงิน ส่วนเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยรายปีจนกว่าจำเลยผู้กู้จะชำระหนี้เงินกู้คืนแก่โจทก์เสร็จนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์บอกเลิกสัญญากู้เงินแก่จำเลยเสียแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดิ่งที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ดังนั้นหลังจากสัญญาเลิกกันแล้วจำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยให้แก่โจทก์อีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2536 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 2,432,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า28,950 บาท หากผิดนัดยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ตามประกาศกระทรวงการคลัง โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า และหากดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 1 ปี ยอมให้ทบดอกเบี้ยที่ค้างชำระเข้ากับต้นเงินได้ จำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้โจทก์ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันที่ จำเลยได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 49641 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันไว้แก่โจทก์ และจำเลยสัญญาว่าจะทำประโยชน์อัคคีภัยสิ่งก่อสร้างโดยจำเลยเสียค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยคงค้างชำระต้นเงินซึ่งได้ทบดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 1 ปีแล้ว จำนวน 2,501,028.83 บาท และดอกเบี้ยที่ค้างชำระอีกส่วนหนึ่งถึงวันฟ้องจำนวน 768,233.39 บาท ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 2,363 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,271,625.22 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 2,501,028.83 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยครั้งละ 2,363 บาท ทุก 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2540 จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,623,145.21 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี จากต้นเงิน 2,432,000 บาทนับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที 49641 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มิได้กล่าวถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่สมบูรณ์และพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ต้องพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดมิใช่พิจารณาเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดเท่านั้น แม้อุทธรณ์ของโจทก์มิได้กล่าวถึงข้อความทั้งหมดที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ว่าอย่างไร หรืออีกนัยหนึ่งมิได้คัดลอกข้อความวรรคสุดท้ายทั้งหมดของคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาลงไว้ในอุทธรณ์ แต่อุทธรณ์ของโจทก์เริ่มตั้งแต่ข้อ 2 ได้กล่าวว่าไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย การคิดดอกเบี้ยทบต้นและค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย ส่วนในข้อ 2.1 ถึง 2.3ได้กล่าวถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อที่โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยและมีข้อโต้แย้งของโจทก์ด้วย เช่นนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่สมบูรณ์แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปีหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 ระบุว่าจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แม้ว่านับแต่วันทำสัญญากู้เงินจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2537 อันเป็นวันก่อนที่โจทก์จะปรับอัตราดอกเบี้ยโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงร้อยละ 12.75ต่อปีก็ตามกรณีเป็นเรื่องโจทก์ยอมสละประโยชน์ที่จะพึงได้ตามสัญญาหาใช่คู่สัญญามิได้ยึดถืออัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเป็นข้อสำคัญ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากอัตราร้อยละ12.75 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2537 เป็นการใช้สิทธิตามสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิกระทำได้
มีปัญหาต่อไปว่าโจทก์มีสิทธินำดอกเบี้ยจำนวน 69,028.83 บาทอันเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้หรือไม่ เห็นว่าตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4 วรรคสาม จำเลยตกลงยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนที่ทบเจ้ากันนั้นได้ แม้ว่าสัญญากู้เงินจะมีจำเลยลงลายมือชื่อฝ่ายเดียวก็ตามแต่ตามสัญญาข้อ 7 ระบุว่าข้อสัญญาที่ระบุไว้ในสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินและตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 วรรคแรกซึ่งโจทก์และจำเลยต่างลงลายมือชื่อกันไว้ระบุว่าจำเลยตกลงให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยจนกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนที่ทบข้ากันนั้นได้ ดังนั้น จึงฟังได้ว่าการตกลงดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือ โจทก์จึงมีสิทธินำดอกเบี้ยจำนวน69,028.83 บาท ทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยต่อไปได้
มีปัญหาต่อไปว่าโจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 2,363 บาทแทนจำเลยหรือไม่ โจทก์ก็มีนายวุฒิชัย ศาสตรชัย นิติกรของโจทก์เบิกความว่าโจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยแทนจำเลยเมื่อวันที่2 เมษายน 2537 จำนวน 2,363 บาท ส่วนใบเสร็จรับเงินและกรมธรรม์ประกันภัยโจทก์ส่งให้แก่จำเลยและได้บันทึกการจ่ายเงินแทนจำเลยตามบัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.9 และตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.10 โจทก์ได้ทวงถามเงินจำนวนดังกล่าวด้วยแต่ระบุไว้ว่าเป็นค่าธรรมเนียมค้างชำระ เห็นว่า นายวุฒิชัยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนและมีหน้าที่ติดตามหนี้สินให้แก่โจทก์ เชื่อว่าเบิกความตามความจริงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าโจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยแทนจำเลยไปจริง โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวได้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมายจ.4 ข้อ 5 แต่ที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยปีละ 2,363 บาท ทุก 3 ปี จนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จนั้นเห็นว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2538ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.10 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ดังนั้นหลังจากสัญญาเลิกกันแล้วจำเลยไม่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 3,271,625.22 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงิน 2,501,028.83 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share