คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5757/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยให้รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินแปลงพิพาท โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยยอมรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินแปลงพิพาท ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าที่พิพาททั้งแปลงเป็นของจำเลย การที่โจทก์มายื่นฟ้องว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองที่ดินแปลงพิพาทบางส่วนมาก่อน จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์แล้วหาได้ไม่ เพราะมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทอีก ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องจำเลยให้การว่า ในคดีก่อนที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากที่ดินพิพาทได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว โดยโจทก์ยอมรื้อถอนบ้านออกไป ต่อมาโจทก์กลับบุกรุกที่ดินพิพาทอีกเป็นเวลาไม่ถึงปี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2297 เป็นของจำเลย ให้โจทก์คดีนี้รื้อถอนบ้านเลขที่ 791ออกไปและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินอีก คดีถึงที่สุดของโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2297 แม้ในคดีก่อนจะไม่ปรากฏว่า ที่ดินพิพาทซึ่งปลูกบ้านเลขที่ 791 มีเนื้อที่เท่าใด และมิได้มีการทำแผนที่ว่าอยู่ที่ใดในโฉนดเลขที่ 2297 ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าคู่ความต่างทราบดีว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่เท่าใด อยู่ที่ใดจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันดังกล่าว ซึ่งมีผลเท่ากับว่าโจทก์ยอมรับว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2297 ทั้งแปลงเป็นของจำเลยนั่นเองคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเมื่อปี 2513 ซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์ถูกฟ้องในคดีก่อน นายผุยได้ออกโฉนดเลขที่ 2297 ดังกล่าวรุกล้ำที่ดินโจทก์ทางทิศเหนือส่วนหนึ่งเนื้อที่ประมาณ 2 งาน โจทก์ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ขอให้พิพากษาว่าที่ดินส่วนนั้นเป็นของโจทก์จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า ที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตโฉนดเลขที่ 2297 นั้น เป็นของโจทก์หรือจำเลย เป็นที่เห็นได้ชัดว่าโจทก์จำเลยพิพาทกันในคดีนี้เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดเลขที่ 2297 อีก ซึ่งโจทก์จำเลยได้เคยพิพาทกันในประเด็นเดียวกันนี้มาแล้ว ทั้งโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ และศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วในคดีก่อนนั่นเอง ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันต้องห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์นั้นเป็นการชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share