แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540มาตรา 264 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติให้ศาลส่งความเห็น ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่ศาลเห็นเอง หรือในกรณีที่คู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ต้องด้วยมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ก็ต่อเมื่อศาลดังกล่าว จะใช้บทกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลนั้นและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่ เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ดังนั้น หากคดีดังกล่าวได้เสร็จสิ้นถึงที่สุดไปแล้ว ศาลหรือบุคคลใดจะกล่าวอ้างว่ากฎหมายขัดหรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญและจะส่งเรื่องหรือขอให้ศาลนั้นส่งเรื่อง ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยหาได้ไม่ เมื่อคดีนี้ ศาลฎีกาได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา ของโจทก์และศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งนั้นให้คู่ความฟังแล้ว จึงต้องถือว่าคดีระหว่างโจทก์และจำเลยได้เสร็จสิ้นถึงที่สุด ไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ใช้บังคับในคดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ ได้อีกต่อไป หากโจทก์ประสงค์จะโต้แย้งว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ โจทก์ชอบที่จะ โต้แย้งก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งดังกล่าว การที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งว่า มาตรา 264 แห่งรัฐธรรมนูญฯควรใช้บังคับกับกฎหมายสารบัญญัติซึ่งเป็นแก่น แท้ของคดีที่ฟ้อง ส่วนกฎหมายวิธีสบัญญัติเป็นคำสั่งเรื่องวิธีพิจารณาและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันทำให้กฎหมายสารบัญญัติที่พิพาทกันต้องยุติลงโดยไม่ชอบ เพราะคดีไม่ได้ขึ้นไปสู่ศาลฎีกา และการไม่ชอบเช่นนี้มีรัฐธรรมนูญฯมาตรา 26,27,28 รองรับให้คำสั่งที่ทำให้คดีต้องยุติโดยไม่ชอบนั้นดำเนินต่อไปได้โดยต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้วินิจฉัยนั้น ถือเป็นเพียงความเห็นของโจทก์ ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 264 หาได้มีความหมายดังที่ โจทก์ฎีกาไม่ประกอบกับขณะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในคดีอื่นแล้วว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ไม่ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 26,27,28 และ 272 ซึ่งคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้ได้ในคดีทั้งปวงตามมาตรา 264 วรรคสาม กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 264
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องจากการที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 174, 177, 180 วรรคสอง, 267, 268 และ 328 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาอ้างว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(5) และ (6)ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 สั่งไม่รับฎีกาโจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกานั้นชอบแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องโจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 26, 27, 28 และ 272 ขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ประกอบมาตรา 6
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ส่ง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 174, 177, 180 วรรคสอง, 267, 268 และ 328 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาอ้างว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(5) และ (6) ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จึงสั่งไม่รับฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกานั้นชอบแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า ศาลจะต้องส่งข้อโต้แย้งของโจทก์ที่ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นและศาลฎีกาได้ใช้เป็นหลักในการสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 26, 27, 28 และ 272 หรือไม่พิเคราะห์แล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย” ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว บัญญัติให้ศาลส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่ศาลเห็นเองหรือในกรณีที่คู่ความโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ ก็ต่อเมื่อศาลดังกล่าวจะใช้บทกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลนั้นและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ดังนั้น หากคดีดังกล่าวได้เสร็จสิ้นถึงที่สุดไปแล้วศาลหรือบุคคลใดจะกล่าวอ้างว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและจะส่งเรื่องหรือขอให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยหาได้ไม่ ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ที่ว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว” และในมาตรา 264 วรรคสาม ที่ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว” ดังนี้ เมื่อศาลฎีกาได้มีคำสั่งคำร้องที่ 683/2541 ยืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของโจทก์และศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งคำร้องของ ศาลฎีกาดังกล่าวให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2541 แล้ว จึงต้องถือว่าคดีระหว่างโจทก์และจำเลยได้เสร็จสิ้นถึงที่สุดไปแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับในคดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป หากโจทก์ประสงค์จะโต้แย้งว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โจทก์ชอบที่จะโต้แย้งก่อนที่ศาลฎีกา จะมีคำสั่งดังกล่าว ที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งว่า มาตรา 264 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ควรใช้บังคับกับเรื่องกฎหมายสารบัญญัติซึ่งเป็นแก่นแท้ของคดีที่ฟ้องส่วนบทกฎหมายวิธีสบัญญัติเป็นคำสั่งเรื่องวิธีพิจารณาและเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันทำให้กฎหมายสารบัญญัติที่พิพาทกันต้องยุติลงโดยไม่ชอบ เพราะคดีไม่ได้ขึ้นไปสู่ศาลฎีกาและการไม่ชอบเช่นนี้ในปัจจุบันได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 26, 27, 28 รองรับให้คำสั่งที่ทำให้คดีต้องยุติโดยไม่ชอบนั้นดำเนินต่อไปได้ โดยต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยนั้น ก็เป็นเพียงความเห็นของโจทก์แต่ถ้อยคำในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 หาได้มีความหมายดังที่โจทก์ฎีกาไม่ อีกทั้งขณะที่คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 16/2541ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ในคดีอื่นแล้วว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 26, 27, 28 และ 272 ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้ได้ในคดีทั้งปวงตามมาตรา 264 วรรคสาม กรณีที่โจทก์ร้องขอจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งไม่ส่งข้อโต้แย้งของโจทก์ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน