คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8876/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ ผู้เสียหายที่ 2 ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานนี้ไม่ได้โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกาเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ จึงฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาของโจทก์และเป็นหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจา เพื่อสะดวกที่ศาลจะบันทึกการฟ้องด้วยวาจาลงในแบบพิมพ์ของศาลได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดข้อหาใดและขอให้ลงโทษตามบทกฎหมายใดบ้าง จึงต้องพิจารณาจากฟ้องที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้และบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์ประกอบกัน แม้บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์จะไม่ได้อ้างกฎหมายและบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดมาด้วยก็ตาม แต่ฟ้องที่ศาลบันทึกไว้ระบุว่าขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 300 พ.ร.บ. จราจรทางบก มาตรา 43, 157 อันเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้จึงชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 19 วรรคสอง
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 19 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ฟ้องหรือให้การด้วยวาจา ให้ศาลบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐานและให้คู่ความลงชื่อไว้” มีความหมายว่าให้คู่ความลงชื่อไว้ก็เพื่อเป็นหลักฐานว่าศาลบันทึกฟ้องด้วยวาจาถูกต้องเท่านั้น เมื่อพิจารณาแล้ว การที่คู่ความไม่ได้ลงชื่อไว้ในคดีนี้เกิดจากเจ้าพนักงานศาลไม่ได้นำไปให้คู่ความลงชื่อจึงเป็นเพียงความบกพร่องเท่านั้น กระบวนการพิจารณาดังกล่าวหาได้เสียไปไม่จึงไม่ต้องเพิกถอน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยและเพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาล เห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เฉพาะความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 เวลากลางวันจำเลยได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 1 ว – 2463 ไปตามถนนเอกชัยในช่องเดินรถที่ 3 ด้วยความประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงเปลี่ยนช่องทางกะทันหันกีดขวางทางเดินรถของผู้อื่น อันเป็นการขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สิน เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 8 ล – 4070 ซึ่งนายมานพ จั่งสันเที๊ยะหรือจั่วสันเที๊ยะ ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ขับ โดยมีนายสุรชัย เชี่ยวชาญประพันธ์ ผู้เสียหายที่ 2 นั่งซ้อนท้าย ทำให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายสาหัสและรถจักรยานยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุเฉี่ยวชนกันแล้ว จำเลยได้ขับรถหลบหนีไปโดยไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตนและแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานที่ใกล้เคียงทันที
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายสุรชัย เชี่ยวชาญประพันธ์ ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 300
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องรับลดกึ่งฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสจำคุก 6 เดือน ฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย มีผู้ได้รับอันตรายสาหัสและหลบหนีไม่แจ้งเหตุจำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 7 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า บันทึกฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์มิได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ดังนั้น จึงเป็นคำฟ้องที่มิชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ก็ตาม แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานหลบหนีไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ ผู้เสียหายที่ 2 ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานนี้ไม่ได้เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกาเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ จึงฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า บันทึกฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์มิได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ฟ้องโจทก์สำหรับความฐานนี้จึงไม่ชอบ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาปัญหานี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมประการแรกว่า ฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องด้วยวาจาของโจทก์และเป็นหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจาเพื่อสะดวก ที่ศาลจะบันทึกการฟ้องด้วยวาจาลงในแบบพิมพ์ของศาลได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดข้อหาใดและขอให้ลงโทษตามบทกฎหมายใดบ้าง จึงต้องพิจารณาจากฟ้องที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้และบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์ประกอบกันคดีนี้ เมื่อพิจารณาฟ้องที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้และบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์ประกอบกันแล้ว แม้บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์จะไม่ได้อ้างกฎหมายและบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดมาด้วยก็ตาม แต่ฟ้องที่ศาลบันทึกไว้ระบุว่าขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 300 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 อันเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้จึงชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 วรรคสอง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมประการต่อไปว่า การที่คู่ความไม่ได้ลงชื่อในบันทึกคำฟ้องของศาล เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดพลาดที่ศาลจะต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ฟ้องหรือให้การด้วยวาจา ให้ศาลบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐานและให้คู่ความลงชื่อไว้” มีความหมายว่าให้คู่ความลงชื่อไว้ก็เพื่อเป็นหลักฐานว่าศาลบันทึกฟ้องด้วยวาจาถูกต้องเท่านั้น เมื่อพิจารณาแล้ว การที่คู่ความไม่ได้ลงชื่อไว้ในคดีนี้เกิดจากเจ้าพนักงานศาลไม่ได้นำไปให้คู่ความลงชื่อ จึงเป็นเพียงความบกพร่องเท่านั้น คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ และระหว่างสืบเสาะและพินิจจำเลยในกำหนด 15 วัน และนัดฟังคำพิพากษา ผู้เสียหายที่ 2 ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอถ่ายเอกสารบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาที่ศาลบันทึกไว้และเอกสารอื่น ๆ อีก จนกระทั่งถึงวันนัดฟังคำพิพากษาศาลได้แจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจให้จำเลยทราบ และศาลอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้วโดยโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยได้ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาแล้ว ซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งถึงความบกพร่องดังกล่าว อีกทั้งโจทก์และโจทก์ร่วมก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์จึงถือว่าคู่ความทุกฝ่ายยอมรับโดยปริยายแล้ว กระบวนการพิจารณาดังกล่าวหาได้เสียไปไม่ จึงไม่ต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว
อนึ่ง คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย และเพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาล เห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เฉพาะความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share