คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง ซึ่งบัญญัติแยกไว้ในส่วนที่ 3 ของหมวด 2 อายุความฟ้องร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิด จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 ซึ่งบัญญัติเป็นบทเบ็ดเสร็จทั่วไปในส่วนที่ 1 ของหมวดเดียวกัน อันเป็นกำหนดอายุความที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจเทียบได้กับกรณีประกันชีวิตซึ่งบัญญัติไว้ในหมวดอื่นและไม่อาจนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีประกันภัยค้ำจุนได้
การเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดในค่าสินไหมทดแทนนั้น ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง บัญญัติว่า “บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง…ฯลฯ” โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 ให้รับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาก่อน ทั้งอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยก็เป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้นับแต่วันเกิดวินาศภัย จึงไม่อาจนำหลักทั่วไปในการนับอายุความตามมาตรา 193/12 มาบังคับใช้แก่กรณีนี้หรือนำมาตีความเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-3203 อุบลราชธานี ตามคำสั่งและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย โดยสัญญาว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชดใช้เงิน 296,862.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 254,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรับผิดชดใช้เงิน 296,862.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 254,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่ากำหนดอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 น่าจะใช้บังคับในกรณีที่วินาศภัยเกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัยเองอันเป็นการประกันวินาศภัยตามนัยทั่วๆ ไป แต่ไม่รวมถึงกรณีประกันภัยค้ำจุนซึ่งวินาศภัยเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกเพราะมีลักษณะแตกต่างกัน และเมื่อเทียบกับกรณีประกันชีวิตแล้วควรใช้อายุความสิบปีซึ่งเป็นอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 20 หมวด 2 ว่าด้วยประกันภัยวินาศภัยนั้น การประกันภัยค้ำจุนตามมาตรา 887 เป็นประกันวินาศภัยอย่างหนึ่งซึ่งบัญญัติแยกไว้ในส่วนที่ 3 ของหมวดดังกล่าว อายุความฟ้องร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดจึงต้องบังคับตามมาตรา 882 ซึ่งบัญญัติเป็นบทเบ็ดเสร็จทั่วไปในส่วนที่ 1 ของหมวดเดียวกัน อันเป็นกำหนดอายุความที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจเทียบได้กับกรณีประกันชีวิตซึ่งบัญญัติไว้ในหมวดอื่นและไม่อาจนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีประกันภัยค้ำจุนได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การประกันภัยค้ำจุนเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 4 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 374 ทั้งในวันเกิดวินาศภัยคดีนี้โจทก์ยังไม่ทราบและไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดอันเป็นต้นเหตุของสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยได้ จึงไม่อาจตีความว่าอายุความเริ่มนับแต่วันเกิดวินาศภัยโดยนำมาตรา 882 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ เพราะไม่สอดคล้องกับหลักทั่วไปในการนับอายุความตามมาตรา 193/12 ที่ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า การเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดในค่าสินไหมทดแทนนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคสอง บัญญัติว่า “บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันโดยตรง ฯลฯ” โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 ให้รับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาก่อน ทั้งอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปี นับแต่วันวินาศภัยนั้น ก็เป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้นับแต่วันเกิดวินาศภัย จึงไม่อาจนำหลักทั่วไปในการนับอายุความตามมาตรา 193/12 มาบังคับใช้แก่กรณีนี้หรือนำมาตีความเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้พ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย คดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ซึ่งต้องสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้สั่งแก้ไขในเรื่องนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน

Share