คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8823/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “Caramelts” เป็นคำที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรม เป็นคำที่ไม่มีความหมาย ไม่มีคำแปล ถือว่าเป็นคำประดิษฐ์ขึ้น แม้คำว่า “Caramelts” จะมีอักษรโรมัน คำว่า “Caramel” รวมอยู่ด้วย แต่ก็มิได้ทำให้เข้าใจไปได้ว่าหมายถึง คาราเมลที่มีสีน้ำตาลอมเหลือง น้ำตาลไหม้ ขนมหวาน คำว่า “Caramelts” จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง ย่อมนำมาใช้กับสินค้าขนมหวานช็อกโกแลต เครื่องดื่มช็อกโกแลต อาหารที่มีชื่อช็อกโกแลตเป็นส่วนผสมหลักได้ คำว่า “Caramelts” จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าวโดยตรง และมีลักษณะเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนในแบบ ตค. 1 ที่ พณ. 0704/3903 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2554 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 207/2555 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 761689 ของโจทก์กับให้จำเลยมีคำสั่งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 761689 ของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ที่ 207/2555 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ 761689 ของโจทก์ ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไปดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า Caramelts เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบตัวอักษรที่ประกอบเป็นคำและเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าโจทก์ คำว่า “Caramelts” กับคำว่า “Caramel” เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมัน 7 ตัวแรกเป็นอักษรตัวเดียวกันกับคำว่า “Caramel”คงแตกต่างกันเพียงเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษร “t” และ “s” เพิ่มขึ้นมาในตอนท้ายของคำเท่านั้น จึงถือได้ว่ารูปลักษณะและคำทั้งสองมีรูปลักษณะที่คล้ายกันอย่างมาก เมื่อพิจารณาถึงเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับคำว่า “Caramel”คำทั้งสองมีเสียงเรียกขานที่คล้ายกันมาก มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในเสียงเรียกขานของพยางค์ที่สาม ส่วนโจทก์แก้อุทธรณ์ว่า Caramelts เป็นคำประดิษฐ์ที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้น หากพิจารณาจำนวนตัวอักษรหรือเปรียบเทียบกับเสียงเรียกขานแล้วในภาษาอังกฤษยังมีคำอีกจำนวนมากที่อ่านออกเสียงและมีสำเนียงเหมือนหรือใกล้เคียงกันแต่เขียนต่างกัน และคำดังกล่าวเป็นคำที่มีความหมายหรือคำแปลทั้งสิ้น และมีความหมายที่แตกกต่างกันออกไป ในภาษาอังกฤษเรียกคำเหล่านี้ว่า Words Homonyms ซึ่งหมายถึงคำที่เขียนแตกต่างกันแต่มีการอ่านออกเสียงที่เหมือนคล้ายใกล้เคียงกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยเครื่องหมายการค้าคำว่า Caramelt ของโจทก์เป็นคำประดิษฐ์ที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบและถูกต้องแล้วนั้น เห็นว่า คำว่า “Caramelts” เป็นคำที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรม เป็นคำที่ไม่มีความหมาย ไม่มีคำแปล ถือว่าเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้น แม้คำว่า “Caramelts” จะมีอักษรโรมัน คำว่า “Caramel” รวมอยู่ด้วย แต่ก็มิได้ทำให้เข้าใจไปได้ว่าหมายถึง คาราเมลที่มีสีน้ำตาลอมเหลือง น้ำตาลไหม้ ขนมหวาน คำว่า “Caramelts” จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง ย่อมนำคำว่า “Caramelts” มาใช้กับสินค้าขนมหวานช็อกโกแลต ขนมช็อกโกแลต เครื่องดื่มช็อกโกแลต อาหารที่มีชื่อช็อกโกแลตเป็นส่วนผสมหลักได้ ดังนี้ คำว่า “Caramelts” จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าวโดยตรง และมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าวได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 207/2555 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยและคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะอันเกิดจากการใช้จนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share