คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18042/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดความรับผิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาตามสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินราย ก. เนื่องจากไม่รายงานและประเมินราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันอย่างถูกต้องตามความจริง โจทก์คิดค่าเสียหายจากต้นเงินส่วนที่ธนาคารให้สินเชื่อไปเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามมติคณะกรรมการควบคุมบริษัทประเมินของโจทก์ ทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเท่ากับจำนวนเงินสินเชื่อที่โจทก์อนุมัติให้ ก. กู้ก็ไม่ปรากฏว่าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ มติดังกล่าวระบุด้วยว่า กรณีลูกหนี้ผ่อนชำระปกติ ให้บริษัทประเมินรับสภาพหนี้ยังไม่ต้องชำระค่าเสียหาย ถ้าลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้จนหลักประกันคุ้มยอดหนี้ บริษัทประเมินหลุดพ้นจากการรับสภาพหนี้ แสดงว่าโจทก์เห็นว่ากรณีที่ผู้กู้ยังคงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น เพียงแต่มีความเสี่ยงว่าผู้กู้จะไม่ชำระหนี้ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เสียหายอย่างอื่นหรือจะเสียประโยชน์จากการนำเงินจำนวนนี้ไปเพื่อการอย่างอื่นและจะได้ประโยชน์มากกว่าการได้ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อแก่ ก. การที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหาย 300,000 บาท จึงสูงเกินไป
สัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินกำหนดหน้าที่ของบริษัทประเมินต้องสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามแบบและวิธีปฏิบัติที่ธนาคารกำหนด แบบสำรวจและประเมินกำหนดรายการประเมินราคาหลักประกันไว้ คือ ราคาประเมินซึ่งเป็นราคาสำหรับการประเมินที่ดินต่อตารางวาและราคาอาคาร กับราคารับเป็นหลักประกันซึ่งเป็นการประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยคำนวณจากข้อมูลเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นราคาประเมินหรือราคารับเป็นหลักประกัน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องให้ความเห็นตามมาตรฐานหลักวิชาและจรรยาบรรณในวิชาชีพเพื่อให้โจทก์พิจารณาให้สินเชื่อได้อย่างถูกต้อง หลักประกันราย ร. จำเลยที่ 1 กำหนดราคาประเมิน 10,844,626 บาท ราคารับเป็นหลักประกัน 22,000,000 บาท โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับโครงการเดียวกัน อ. นักประเมินราคาหลักทรัพย์ของโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันสูงกว่าราคาประเมินของธนาคารร้อยละ 127.41 อ. ประเมินใหม่ได้ราคาประเมิน 8,081,085 บาท ราคารับเป็นหลักประกัน 9,674,000 บาท โดยเปรียบเทียบกับโครงการเดียวกัน นอกจากนี้ปรากฏว่าบริษัทประเมินอื่นรวมทั้งจำเลยที่ 1 เคยประเมินราคาในโครงการดังกล่าว ราคาประเมินกับราคารับเป็นหลักประกันจะต่างกันไม่เกินร้อยละ 30 โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันไม่เกินร้อยละ 20 มาตรฐานการประเมินราคารับเป็นหลักประกันจึงไม่เกินกึ่งหนึ่งของราคาประเมิน การที่จำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันถึง 22,000,000 บาท จึงเป็นการประเมินราคารับเป็นหลักประกันเกินกว่าราคาประเมินกว่าร้อยละ 100 เป็นเรื่องผิดปกติ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประเมินราคารับเป็นหลักประกันตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นการผิดสัญญา
การให้สินเชื่อ โจทก์ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพื่ออนุมัติวงเงินกู้ โดยฝ่ายประเมินสินทรัพย์ของโจทก์ต้องตรวจสอบข้อมูลว่าน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ราคาที่จำเลยที่ 1 ประเมินนั้นเหมาะสมหรือไม่ และต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย ทั้งโจทก์ได้เสนอคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อเพื่อวิเคราะห์สินเชื่อด้วย ไม่ได้ใช้ราคาประเมินของจำเลยที่ 1 แต่เพียงอย่างเดียว ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เมื่อโจทก์ได้รับรายงานการประเมินราคาจากจำเลยที่ 1 แล้วต้องทราบว่าราคาประเมินซึ่งเป็นราคาต้นทุนกับราคารับเป็นหลักประกันซึ่งเป็นราคาตลาดต่างกันกว่าร้อยละ 100 เป็นเรื่องผิดปกติ แต่ยังคงอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ ต้องถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดทั้งหมดในส่วนต่างจากการให้สินเชื่อย่อมเป็นการโอนภาระความเสี่ยงของโจทก์แก่ผู้ประเมินราคาหลักประกัน ทั้งที่เป็นความผิดของโจทก์ที่วิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาดและไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือทางการเงินของลูกค้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 7,077,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 6,777,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วยในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 100,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์ประกอบกิจการธนาคาร ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้สำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินที่ลูกค้าโจทก์นำมาจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้กับโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 500,000 บาท จำเลยที่ 1 ประเมินราคาทรัพย์สินรายสิบเอกก้อน ผิดแปลง ส่วนรายนางรัตติญาพร จำเลยที่ 1 รายงานว่าหลักประกันเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 167029 เลขที่ดิน 2565 ตำบลท่าแร้ง (กูบแดง) อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 128 ตารางวา บนที่ดินมีอาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เลขที่ 5/412 อยู่ในโครงการหมู่บ้านชัยพฤกษ์รามอินทรา จำเลยที่ 1 ประเมินราคา 10,844,626 บาท และราคารับเป็นหลักประกัน 22,000,000 บาท โจทก์ให้กู้ 15,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ทบทวนหลักประกันใหม่ราคาเพียง 9,674,000 บาท นางรัตติญาพรผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินรายสิบเอกก้อนคู่ความไม่ฎีกา จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญารายสิบเอกก้อนหรือไม่เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นแก่โจทก์ทันทีที่จำเลยที่ 1 รายงานผลการประเมินราคาทรัพย์สินหลักประกันไม่ถูกต้องตามความจริง และกรณีสำรวจทรัพย์สินผิดแปลงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเต็มจำนวนที่โจทก์หลงเชื่อ เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดความรับผิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาตามสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สิน ข้อ 6 วรรคแรก ว่า “บริษัทประเมินยอมรับผิดในการสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินหรือรายงานผลการก่อสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเกิดโดยความประมาทเลินเล่อ จงใจ หรือทุจริต อาทิเช่น รายงานผลการสำรวจในเรื่องตำแหน่งที่ตั้งที่ดิน หรืออาคารชุดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง หรือรายงานผลการสำรวจที่ดินว่ามีถนนใช้เป็นทางเข้าหรือออกสู่ทางสาธารณะ ได้สะดวกอันเป็นความเท็จหรือไม่ว่าด้วยประการใดๆ ซึ่งมีผลให้มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินราคาสูงขึ้น หรือต่ำกว่าตามปกติที่เป็นจริง หรือผิดไปจากวิชาชีพการประเมินราคา โดยบริษัทประเมิน ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือตัวแทนของบริษัทประเมินความรับผิดดังกล่าวนั้นบริษัทประเมินยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ธนาคารเป็นผู้กำหนด” วรรคสอง กำหนดว่า “นอกจากความรับผิดดังกล่าวข้างต้นแล้ว บริษัทประเมินยังต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ธนาคารซึ่งได้รับความเสียหายอันเกิดจากการปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ หรือที่บริษัทประเมิน ผู้จัดการ พนักงาน ตัวแทน บริวารก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ” ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินรายสิบเอกก้อน เนื่องจากไม่รายงานและประเมินราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันอย่างถูกต้องตามความจริง ปัญหาว่าค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญามีเพียงใด โจทก์นำสืบหลักเกณฑ์ในการคิดค่าเสียหายกรณีบริษัทประเมินสำรวจหลักประกันผิดแปลงว่า ให้คิดค่าเสียหายจากต้นเงินส่วนที่ธนาคารให้สินเชื่อไปเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามมติคณะกรรมการควบคุมบริษัทประเมินของโจทก์ ครั้งที่ 1/2546 โดยนายสงกรานต์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความว่า หากโจทก์ทราบว่าที่ดินเป็นหลักประกันเป็นที่ดินเปล่า โจทก์จะไม่อนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากในปี 2547 โจทก์จะไม่ให้สินเชื่อแก่ผู้ขอกู้เงินเพื่อซื้อที่ดินเปล่า ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจึงเป็นจำนวนเงินที่โจทก์ให้สินเชื่อแก่ผู้กู้รายนี้ 300,000 บาท เห็นว่า มติคณะกรรมการควบคุมบริษัทประเมินดังกล่าวเป็นการประชุมภายในธนาคารโจทก์เป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดเอาฝ่ายเดียว ทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเท่ากับจำนวนเงินสินเชื่อที่โจทก์อนุมัติให้สิบเอกก้อนกู้ก็ไม่ปรากฏว่าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยมติดังกล่าวระบุด้วยว่า กรณีลูกหนี้ผ่อนชำระปกติ ให้บริษัทประเมินรับสภาพหนี้ ยังไม่ต้องชำระค่าเสียหาย ถ้าลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้จนหลักประกันคุ้มยอดหนี้ บริษัทประเมินหลุดพ้นจากการรับสภาพหนี้ แสดงว่าโจทก์ก็เห็นว่ากรณีที่ผู้กู้ยังคงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นเพียงแต่มีความเสี่ยงว่าผู้กู้จะไม่ชำระหนี้ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เสียหายอย่างอื่นหรือจะเสียประโยชน์จากการนำเงินจำนวนนี้ไปเพื่อการอย่างอื่นและจะได้ประโยชน์มากกว่าการได้ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อแก่สิบเอกก้อน การที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหาย 300,000 บาท จึงสูงเกินไปเมื่อพิจารณาความผิดพลาดบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประกอบความเสี่ยงที่โจทก์อาจได้รับจากการที่ผู้กู้ไม่ชำระหนี้ และค่าจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากผู้กู้ 1,700 บาท เห็นสมควรกำหนดให้ 30,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินรายนางรัตติญาพร คุณสาร หรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาที่ประเมินราคาทรัพย์สินซึ่งเป็นหลักประกันสูงเกินจริง จำเลยที่ 1 ประเมินราคาทรัพย์สินรายนี้ 10,844,626 บาท และราคารับเป็นหลักประกัน 22,000,000 บาท ราคารับเป็นหลักประกันเป็นเพียงความเห็น ไม่ผูกมัดโจทก์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลโดยตรงจากรายงานการประเมินของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากการทุจริตของพนักงานของโจทก์ เห็นว่า สัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สิน กำหนดหน้าที่ของบริษัทประเมินว่า “บริษัทประเมินจะต้องสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินหรือรายงานผลการก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จและครบถ้วนตามแบบและวิธีปฏิบัติที่ธนาคารกำหนด” และแบบสำรวจและประเมินราคาหลักประกันได้กำหนดรายการประเมินราคาหลักประกันไว้สองช่อง คือ ช่องที่หนึ่ง “ราคาประเมิน” ซึ่งเป็นราคาสำหรับการประเมินที่ดินต่อตารางวาและราคาอาคาร ส่วนช่องที่สอง “ราคารับเป็นหลักประกัน” ซึ่งเป็นการประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยคำนวณจากข้อมูลเปรียบเทียบ เช่น ทำเลที่ตั้ง สาธารณูปโภคและราคาตลาด ทั้งสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ประเมินราคาหลักประกันก็เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาให้สินเชื่อของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ประเมินราคารับหลักประกันให้โจทก์ตั้งแต่ปี 2544 ตามแบบสำรวจและประเมินราคาหลักประกันของนายคเชนทร์ ในบันทึกข้อความโจทก์ เรื่องการตอบชี้แจงผลการทบทวนราคาลูกค้ารายนางรัตติญาพร ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นราคาประเมินหรือราคารับเป็นหลักประกัน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องให้ความเห็นตามมาตรฐานหลักวิชาและจรรยาบรรณในวิชาชีพเพื่อให้โจทก์พิจารณาให้สินเชื่อได้อย่างถูกต้อง ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ประเมินราคาทรัพย์สินและราคารับเป็นหลักประกันตามมาตรฐานวิชาชีพตามสัญญาหรือไม่ เห็นว่า หลักประกันรายนี้เป็นที่ดินเนื้อที่ 128 ตารางวา พร้อมอาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ก่อสร้างมา 11 ปี จำนวน 1 หลัง อยู่ในโครงการหมู่บ้านชัยพฤกษ์รามอินทรา จำเลยที่ 1 ประเมินที่ดินตารางวาละ 65,000 บาท รวม 8,320,000 บาท ประเมินอาคาร 2,524,626 บาท รวม 10,844,626 บาท ประเมินราคารับเป็นหลักประกัน 22,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 วิเคราะห์เปรียบเทียบกับราคาที่ดินและอาคารในโครงการเดียวกัน 3 แปลง ได้แก่ อาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เนื้อที่ 127 ตารางวา (แปลงมุม) เสนอขาย 16,000,000 บาท อาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เนื้อที่ 140 ตารางวา เสนอขาย 18,000,000 บาท และอาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เนื้อที่ 133 ตารางวา (แปลงมุม) เสนอขาย 9,200,000 บาท ตามแบบสำรวจและประเมินราคาหลักประกัน นายอภินันท์ นักประเมินราคาหลักทรัพย์ของโจทก์เบิกความประกอบหนังสือแจ้งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบขอให้ทบทวนราคาประเมินหลักประกัน ลงวันที่ 16 มีนาคม 2549 ว่า ได้ตรวจสอบหลักประกันของผู้กู้รายนี้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันสูงกว่าราคาประเมินของธนาคารร้อยละ 127.41 นายอภินันท์ประเมินราคาใหม่ โดยประเมินราคาที่ดินตารางวาละ 40,000 บาท เป็นเงิน 5,120,000 บาท ส่วนราคาอาคารเท่ากับที่จำเลยที่ 1 ประเมิน รวม 8,081,085 บาท และประเมินราคารับเป็นหลักประกัน 9,674,000 บาท โดยเปรียบเทียบกับที่ดินพร้อมอาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น จำนวน 3 หลัง ได้แก่ อาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เนื้อที่ 155 ตารางวา (แปลงมุมติดถนนเมน) อยู่ภายในโครงการเดียวกันกับหลักประกัน แต่คนละแบบ ทำเลที่ตั้งและสาธารณูปโภคใกล้เคียงกับหลักประกัน อาคารสภาพถูกปล่อยทิ้งร้าง จึงด้อยกว่าหลักประกันราคาขาย 8,000,000 บาท หลังที่ 2 อาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เนื้อที่ 116 ตารางวา (แปลงมุมติดถนนเมน) อยู่ภายในโครงการเดียวกับหลักประกัน มีรูปแบบอาคารเหมือนกับหลักประกัน มีเนื้อที่ดินน้อยกว่าหลักประกัน ทำเลที่ตั้งและสาธารณูปโภคดีกว่าหลักประกัน มีการต่อเติมและตกแต่งดีกว่าหลักประกัน ราคาขาย 12,300,000 บาท ส่วนหลังที่ 3 อาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เนื้อที่ 188 ตารางวา (แปลงมุมติดถนนเมน) มีทำเลที่ตั้งและสาธารณูปโภคดีกว่าหลักประกัน สภาพอาคารมีการต่อเติม ราคาขาย 12,000,000 บาท นอกจากนี้ บันทึกข้อความโจทก์ เรื่องการตอบชี้แจงผลการทบทวนราคาลูกค้ารายนางรัตติญาพร ปรากฏว่าบริษัทประเมินอื่นรวมทั้งจำเลยที่ 1 เคยประเมินราคาเมื่อปี 2544 ถึงปี 2547 ในโครงการหมู่บ้านชัยพฤกษ์รามอินทรา (โซนด้านหลัง) ทำเลที่ตั้งอยู่ในกลุ่มเดียวกับหลักประกัน โดยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 จำเลยที่ 1 ประเมินราคาที่ดินเนื้อที่ 77 ตารางวา อาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เป็นเงิน 3,252,834 บาท โดยประเมินราคาที่ดินตารางวาละ 25,000 บาท และราคารับเป็นหลักประกัน 3,800,000 บาท ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2547 บริษัท 1989 คอนซัลแทนส์ จำกัด ประเมินที่ดินเนื้อที่ 133 ตารางวา พร้อมอาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ในโครงการเดียวกัน โซนด้านหลัง ราคา 5,862,327 บาท โดยประเมินราคาที่ดินตารางวาละ 30,000 บาท และราคารับเป็นหลักประกัน 7,000,000 บาท และวันที่ 7 ธันวาคม 2547 บริษัทจัสติสพร็อพเพอร์ตี้แอนด์แอพไพรซัล จำกัด ประเมินราคาที่ดินเนื้อที่ 70 ตารางวา พร้อมอาคารตึกบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เป็นเงิน 3,142,550 บาท โดยประเมินราคาที่ดินตารางวาละ 32,000 บาท และราคารับเป็นหลักประกัน 4,000,000 บาท ราคาประเมินหลักประกันที่จำเลยที่ 1 บริษัท 1989 คอนซัลแทนส์ จำกัด และบริษัทจัสติสพร็อพเพอร์ตี้แอนด์แอพไพรซัล จำกัด ประเมินนั้น ราคาประเมินที่ดินและอาคารกับราคารับเป็นหลักประกันจะต่างกันไม่เกินร้อยละ 30 โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันไม่เกินร้อยละ 20 มาตรฐานการประเมินราคารับเป็นหลักประกันจึงไม่เกินกึ่งหนึ่งของราคาประเมินที่ดินพร้อมอาคาร การที่จำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันถึง 22,000,000 บาท จึงเป็นการประเมินราคารับเป็นหลักประกันเกินราคาประเมินที่ดินและอาคารกว่าร้อยละ 100 เป็นเรื่องผิดปกติ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประเมินราคารับเป็นหลักประกันตามมาตรฐานวิชาชีพ เป็นการผิดสัญญา ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ เพียงใด นายสงกรานต์ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความว่า การประเมินราคาผิดพลาดของจำเลยที่ 1 โจทก์หลงเชื่อจึงใช้ราคาประเมินดังกล่าวให้สินเชื่อแก่ผู้กู้ 15,000,000 บาท โจทก์คิดค่าเสียหายจากต้นเงินส่วนที่โจทก์ให้สินเชื่อเกินกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันที่ดินและอาคารขณะให้สินเชื่อเมื่อปี 2547 เป็นเงิน 22,000,000 บาท โจทก์อนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ 15,000,000 บาท โจทก์ทบทวนราคาหลักประกันใหม่เป็นเงิน 9,674,000 บาท โจทก์อนุมัติให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 85 ของราคาหลักประกัน จึงอนุมัติให้กู้ได้เพียง 8,222,900 บาท ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการที่โจทก์ให้สินเชื่อเกินกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเงิน 6,777,100 บาท เห็นว่า การให้สินเชื่อ โจทก์ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพื่ออนุมัติวงเงินกู้ โดยฝ่ายประเมินสินทรัพย์ของโจทก์ต้องตรวจสอบข้อมูลว่าน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ราคาที่จำเลยที่ 1 ประเมินนั้นเหมาะสมหรือไม่ และต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าด้วยดังที่นายกิตติพงศ์ หัวหน้างานกำกับและประเมินราคาของโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า กรณีที่หลักทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันมีมูลค่าสูง แต่ถ้าผู้กู้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ โจทก์ก็ไม่ให้สินเชื่อ ทั้งโจทก์ได้เสนอคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อเพื่อวิเคราะห์สินเชื่อรายนี้ด้วย ไม่ได้ใช้ราคาประเมินของจำเลยที่ 1 แต่เพียงอย่างเดียวในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ นอกจากนี้นายอภินันท์ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า เหตุที่โจทก์แยกราคาประเมินเป็นราคาประเมินและราคารับเป็นหลักประกัน เนื่องจากโจทก์ต้องการทราบราคาซึ่งเป็นราคาต้นทุน เมื่อโจทก์ได้รับรายงานการประเมินราคาจากจำเลยที่ 1 แล้ว ต้องทราบว่าราคาประเมินที่ดินและอาคารซึ่งเป็นราคาต้นทุนกับราคารับเป็นหลักประกันซึ่งเป็นราคาตลาดที่จำเลยที่ 1 ประเมินนั้นต่างกันกว่าร้อยละ 100 โจทก์ประกอบกิจการธนาคารต้องรู้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ยังคงอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ ต้องถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหาย 6,777,100 บาท โดยเปรียบเทียบกับผลขาดทุนที่เกิดจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันจึงสูงเกินไป ทั้งการให้สินเชื่อของโจทก์ย่อมต้องมีความเสี่ยง และต้องระมัดระวัง หากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประเมินราคาหลักประกันต้องรับผิดทั้งหมดในส่วนต่างจากการให้สินเชื่อ ย่อมเป็นการโอนภาระความเสี่ยงของโจทก์แก่ผู้ประเมินราคาหลักประกันทั้งที่เป็นความผิดของโจทก์ที่วิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาดและไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือทางการเงินของลูกค้า จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1 รับผิด 1,000,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,030,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share