แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรมธรรม์ประกันภัยระบุข้อยกเว้นความรับผิดไม่คุ้มครองความสูญหายของรถยนต์อันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า เมื่อ ส. ถูกออกหมายจับในข้อหายักยอกและฉ้อโกงรถจักรยานยนต์ของผู้ให้เช่าซื้อไปก่อนเกิดเหตุในคดีนี้เพียง 4 เดือน และ ส. เช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 2 วัน โดยต้องคืนรถยนต์ในวันที่ 29 เมษายน 2547 แต่กลับแจ้งออกจากโรงแรมที่พักตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่เดินทางมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี พฤติการณ์น่าเชื่อว่า ส. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์มาตั้งแต่ต้น โดยมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงโจทก์ที่ 1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าต้องการเช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 มอบการครอบครองรถยนต์ให้ไป การกระทำของ ส. จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1
แม้โจทก์ที่ 1 จะมีคำขอท้ายฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บรรยายฟ้องฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้ค่าขาดประโยชน์อย่างไร ทั้งไม่ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยว่าจำเลยต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ จึงไม่กำหนดให้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 451,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 410,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ดังกล่าวอัตราวันละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทกับจำเลยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี เริ่มต้นวันที่ 27 มกราคม 2547 สิ้นสุดวันที่ 27 มกราคม 2548 จำนวนเงินคุ้มครองความสูญหาย 410,000 บาท เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 นางสาวเสาวลักษณ์ ทำสัญญาเช่ารถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 2 วัน เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าแล้วไม่นำรถไปคืน โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยปฏิเสธโดยอ้างว่า นางสาวเสาวลักษณ์ผู้เช่ารถยนต์ได้ยักยอกรถยนต์ไปเข้าข้อยกเว้นไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า และเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 5.1
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 หรือไม่ ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า นางสาวเสาวลักษณ์ ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์คันพิพาท การเช่ารถยนต์ตามสำเนาสัญญาเช่า เป็นอุบายหลอกลวงเพื่อให้ได้ไปซึ่งการครอบครองจากโจทก์ที่ 1 อันเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย การที่นางสาวเสาวลักษณ์ลักรถยนต์จากโจทก์ที่ 1 ไป ไม่ต้องตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 5.1 จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 นั้น ในปัญหาข้อนี้โจทก์ที่ 1 นำสืบว่า ภายหลังจากที่นางสาวเสาวลักษณ์ไม่นำรถยนต์กลับไปคืน โจทก์ที่ 2 สืบทราบว่านางสาวเสาวลักษณ์มีหมายจับอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดชลบุรี โดยศาลแขวงชลบุรีได้ออกหมายจับในข้อหายักยอกทรัพย์ผู้อื่นและฉ้อโกงตามสำเนาหมายจับ นางสาวเสาวลักษณ์เดินทางโดยเครื่องบินมาที่ท่าอากาศยานอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 มาทำสัญญาเช่ารถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ที่ 1 และแจ้งออกจากโรงแรมมอนทาน่าจังหวัดอุบลราชธานี ในเย็นวันเดียวกัน ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น เห็นว่า สำเนาหมายจับ ออกวันที่ 30 ธันวาคม 2546 มีสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีแนบมา แสดงให้เห็นว่านางสาวเสาวลักษณ์ถูกออกหมายจับในข้อหายักยอกและฉ้อโกงรถจักรยานยนต์ของผู้ให้เช่าซื้อไปก่อนเกิดเหตุในคดีนี้เพียง 4 เดือน นอกจากนี้การที่นางสาวเสาวลักษณ์เช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 2 วัน โดยต้องคืนรถยนต์ในวันที่ 29 เมษายน 2547 แต่นางสาวเสาวลักษณ์กลับแจ้งออกจากโรงแรมมอนทาน่า จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2547 ในวันเดียวกันกับที่มาถึง พยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 1 นำสืบมาเกี่ยวกับพฤติการณ์ของนางสาวเสาวลักษณ์มีน้ำหนักน่าเชื่อว่า นางสาวเสาวลักษณ์ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 มาตั้งแต่ต้น โดยมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงโจทก์ที่ 1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า มีความประสงค์จะเช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 ส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้แก่นางสาวเสาวลักษณ์ไป การกระทำของนางสาวเสาวลักษณ์ดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกแต่อย่างใดไม่ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 5.1 ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย จำนวน 410,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น โจทก์ที่ 1 แจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 จำเลยปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ วันที่ 4 พฤษภาคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับค่าขาดประโยชน์ในอัตราวันละ 1,500 บาท นั้น แม้โจทก์ที่ 1 จะมีคำขอตอนท้ายของฎีกาว่าขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ต่อไป แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บรรยายฟ้องฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิที่จะได้ค่าขาดประโยชน์จากจำเลยอย่างไร ทั้งไม่ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัย ว่า จำเลยจะต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ดังกล่าว จึงไม่กำหนดให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 410,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องคำนวณให้ไม่เกิน 41,000 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3