คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 458/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะทำการพิจารณาพิพากษาได้นั้นเมื่อศาลแขวงได้ทำการพิจารณาพิพากษาแล้วการที่คู่ความจะอุทธรณ์คำพิพากษาจึงต้องบังคับตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 กรณีเช่นนี้ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้เลย

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกทรัพย์ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 จำเลยให้การปฏิเสธศาลแขวงพระนครเหนือทำการพิจารณาแล้วฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ พิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์ฟ้องอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าอุทธรณ์โจทก์เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับอุทธรณ์โจทก์

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะทำการพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อศาลแขวงได้ทำการพิจารณาพิพากษาแล้วการที่คู่ความจะอุทธรณ์คำพิพากษาจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแขวงในปัญหาข้อเท็จจริงเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตั้งแต่อนุมาตรา (1) ถึง (4) ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้ฝ่ายที่จำเลยจะอุทธรณ์ ส่วนฝ่ายโจทก์ไม่มีบทยกเว้นไว้ประการใด กรณีเช่นนี้ฝ่ายโจทก์จึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้เลย กฎหมายบทนี้หาใช่เป็นบทบัญญัติห้ามเฉพาะไม่ให้ฝ่ายจำเลยอุทธรณ์เท่านั้น ดังที่โจทก์โต้แย้งมาในฎีกานั้นไม่ ตรงกันข้ามกลับมีความประสงค์จะให้จำเลยมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้บางประการ จึงได้บัญญัติยกเว้นข้อห้ามให้แก่ฝ่ายจำเลยไว้ แต่หาได้บัญญัติข้อยกเว้นให้สิทธิแก่ฝ่ายโจทก์ไว้ประการใดไม่

“การอุทธรณ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา” นั้นก็มีความหมายเพียงว่า เมื่ออุทธรณ์ไม่ต้องห้ามตามบทมาตรานี้แล้ว ก็ให้ดำเนินไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น มิได้หมายความถึงว่าจะให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญามาใช้จนเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งกับบทบัญญัติในมาตรานี้แต่ประการใด

ที่โจทก์อ้างว่าแม้แต่ชั้นศาลไต่สวนมูลฟ้องเมื่อสั่งว่าคดีไม่มีมูล โจทก์ยังอุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 ไฉนกรณีในชั้นพิจารณาของศาลโจทก์จึงอุทธรณ์ไม่ได้นั้นจะพึงเห็นได้ว่า รูปคดีตามอุทาหรณ์เป็นคนละอย่าง กฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับก็คนละฉบับ ซึ่งมีเหตุที่จะต้องบัญญัติต่างกันจะนำมาเปรียบกันเป็นการไม่ชอบ คดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงทำการพิจารณาพิพากษาได้นั้น โดยปกติกฎหมายถือว่าเป็นกรณีเล็ก ๆน้อย ๆ ต้องการความรวดเร็ว จึงต้องจำกัดการอุทธรณ์ไว้บ้าง แต่ถึงดังนั้น ก็ยังระวังประโยชน์ให้แก่ฝ่ายจำเลยโดยบัญญัติยกเว้นข้อห้ามนั้นไว้ด้วยซึ่งต่างกับกรณีเรื่องไต่สวนมูลฟ้องซึ่งอาจเป็นคดีที่สำคัญ กฎหมายประสงค์ให้มีการกลั่นกรองหลายชั้น จึงให้สิทธิโจทก์อุทธรณ์ฎีกาได้ จะนำมาเปรียบกันมิได้ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงให้ยกเสีย คงพิพากษายืนตามคำสั่งศาลอุทธรณ์

Share