คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8458/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยถูกจับในคดีอื่นและมีการแจ้งข้อหาให้ทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับจึงไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของพนักงานสอบสวนและไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 51 และ 53 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ ที่โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือผัดฟ้องหรือต้องได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 เวากลางคืนหลังเที่ยง ได้มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กนน ฉะเชิงเทรา 863 ราคา 40,000 บาท ของนางศศิขณะอยู่ในความครอบครองของนายวิศรุตผู้เสียหายไป เหตุเกิดที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2548 เจ้าพนักงานจับจำเลยและนายธีระศักดิ์หรือต้าได้ในคดีอื่น และได้ยึดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายร่วมกันลักไปเป็นของกลาง ครั้นวันที่ 7 สิงหาคม 2548 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้แก่จำเลยและได้ทำการสอบสวนจำเลยแล้ว ทั้งนี้ตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวจำเลยกับนายธีระศักดิ์ และพวกอีก 1 คน เป็นคนร้ายร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายหรือมิฉะนั้นตามวันเวลาเกิดเหตุถึงวันเวลาที่เจ้าพนักงานจับจำเลยกับพวกได้วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกับพวกร่วมกันรับของโจรโดยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งรถจักรยานยนต์ของกลาง โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เหตุรับของโจรเกิดที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา และตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เกี่ยวพันกัน ระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัวและถูกส่งตัวไปสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2548 คดีนี้ไม่ได้ผัดฟ้องผู้ต้องหาเนื่องจากจำเลยมอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 357
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีนี้มีการจับกุมตัวจำเลยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2548 ในคดีอื่น โดยยึดรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีนี้ได้แล้วพนักงานสอบสวนเพิ่งมาแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2548 และดำเนินการสอบสวนโดยไม่ได้ขอผัดฟ้อง แล้วส่งสำนวนให้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 2 ธันวาคม 2548 จึงเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 51 เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคสอง (ที่ถูก วรรคสาม) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 51 เมื่อโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 53 จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การแจ้งข้อหามิใช่การจับ เมื่อไม่มีการจับกุมและการควบคุมผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวนคดีนี้ ย่อมไม่สามารถนำหลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลาการควบคุมผู้ต้องหา การผัดฟ้อง และการขออนุญาตฟ้องคดีจากอัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 51 และ 53 มาใช้บังคับดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น มาตรา 237 บัญญัติว่า ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใด จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับ… และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (ที่แก้ไข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 บัญญัติว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80 (2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า ผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด (3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตาม มาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ (4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117 ดังนั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 237 การที่จำเลยถูกจับในคดีอื่นและมีการแจ้งข้อหาให้ทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคห้า (ที่แก้ไข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 บัญญัติว่า เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับแต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา 71 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที แต่ถ้าขณะนั้นเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการให้พนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในโอกาสแรกที่ศาลเปิดทำการ กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา 87 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจับผู้ต้องหานั้นได้ โดยถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาได้โดยไม่มีหมายจับ และมีอำนาจปล่อยชั่วคราวหรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้นไว้ ดังนี้ ในคดีนี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของพนักงานสอบสวนและไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 51 และ 53 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ที่โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือผัดฟ้องหรือต้องได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share