แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 20 ของราคาขาย เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าลิขสิทธิ์ไม่ครบถ้วน จึงเป็นการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญาอันเป็นการผิดสัญญา มิใช่การละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์
แม้จำเลยที่ 1 จะมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 จัดทำไฟล์ข้อมูล ศัพทานุกรมและพจนานุกรมของโจทก์เพื่อจำหน่าย แต่โจทก์ก็เบิกความปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 เพิ่มชื่อศัพทานุกรมและพจนานุกรมดังกล่าวลงในใบเสร็จรับเงินเพื่อฉ้อฉลโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จัดทำไฟล์ข้อมูลดังกล่าวและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศัพทานุกรมและพจนานุกรมทั้ง 2 ฉบับ ของโจทก์
แม้จะปรากฏว่าการออกเสียงเป็นคุณสมบัติพิเศษของเครื่องปาล์ม (เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา) บางรุ่น และการออกเสียงได้เกิดจากโปรแกรมเสียงสังเคราะห์ที่ออกเสียงได้ไม่จำกัดเฉพาะพจนานุกรมของโจทก์เท่านั้น แต่เมื่อการออกเสียงดังกล่าวเป็นการออกเสียงตามพจนานุกรมฉบับดังกล่าวของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 นำพจนานุกรมฉบับดังกล่าวของโจทก์มาดัดแปลงใส่เสียงอ่านเป็น “ทอล์คกิ้ง ดิกชันนารี” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานพจนุกรมฉบับดังกล่าวของโจทก์
ตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 คงระบุเพียงว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์และจำหน่ายบทประพันธ์พจนานุกรมของโจทก์ในสื่อชนิดไฟล์ข้อมูลรูปแบบที่แสดงผลในเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือเท่านั้น ไม่มีข้อความระบุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิดัดแปลงได้ การที่จำเลยที่ 1 ดัดแปลงโดยการตัดประโยคตัวอย่างเดิมออกและมีการตั้งชื่อพจนานุกรมใหม่เป็น 5 ชื่อดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
การที่จำเลยที่ 1 จัดทำฐานข้อมูลทั้งห้าดังกล่าวจำหน่ายทางเว็บไซต์โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ แม้ว่าตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ จะบัญญัติว่า “ผู้ดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ จะมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดังแปลง แต่การได้ลิขสิทธิ์นั้นต้องเข้าเงื่อนไขที่ว่า การดัดแปลงนั้นได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การดัดแปลงฐานข้อมูลทั้งห้าดังกล่าวมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในการจัดทำฐานข้อมูลทั้งห้าดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำงานดังกล่าวไปจำหน่ายทางเว็บไซต์ จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 ให้ลูกค้าที่ซื้อเครื่องปาล์มสามารถอัพเกรดทางเว็บไซต์ได้ในราคาพิเศษโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เช่นกัน
โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 เปิดตัวโปรแกรมไทยแฮคสำหรับเครื่องปาล์มรุ่นทังสเตนที โดยลูกค้าที่ซื้อเครื่องดังกล่าวสามารถอัพเกรดทางเว็บไซต์ได้ในราคาพิเศษ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายเครื่องดังกล่าวรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทั้งการอัพเกรดก็กระทำผ่านเว็บไซต์ของจำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์คือจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำข้อมูลจากพจนานุกรมของโจทก์มาทำซ้ำเป็นแผ่นซีดีขายหรือแจกแถมพร้อมเครื่องปาล์มของจำเลยที่ 2 โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงมิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์เช่นเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 22,594,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,961,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 156,816,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ต่อไป ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลบข้อมูลอันเป็นลิขสิทธิ์ออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายแก่ลูกค้าให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันประกาศหนังสือพิมพ์ให้ลูกค้าของจำเลยทั้งสองลบข้อมูลอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาที่ซื้อจากจำเลยทั้งสองโดยประกาศในหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 3 ฉบับซึ่งหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับต้องมียอดจำหน่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 200,000 ฉบับ ขนาดหน้าประกาศมีพื้นที่เศษหนึ่งส่วนสี่ของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ๆ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าขายโปรแกรมชุดคำสั่งซึ่งในงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือขนาดเล็ก (PDA) จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิในพจนานุกรมให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์เข้าใจคลาดเคลื่อนในการคำนวณค่าตอบแทนในการอนุญาตให้ใช้สิทธิเพราะจำเลยที่ 1 กำหนดราคาขายให้ลูกค้า 2 กลุ่มต่างกัน จำเลยที่ 1 ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ตามรายการในข้อ (1) ถึงข้อ (6) และโจทก์ก็ทราบเรื่องและไม่เคยโต้แย้ง หลังจากที่โจทก์มีหนังสือถึงร้านค้าต่างๆ ทำให้ร้านค้าและตัวแทนจำหน่ายคืนสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาภายใต้ยี่ห้อปาล์ม (PALM) ของจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วและจำเลยที่ 1 ยืนยันว่า เป็นผู้มีอำนาจจัดพิมพ์และจัดจำหน่ายพจนานุกรมทุกเล่มของโจทก์ ในรูปแบบไฟล์ข้อมูลสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอก กระทำการโดยสุจริตโดยเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในโปรแกรมไทยแฮคและโปรแกรมรวมมิตร ลูกค้าของจำเลยที่ 2 ยกเลิกการสั่งสินค้ากับจำเลยที่ 2 เพราะโจทก์ส่งจดหมายอันเป็นความเท็จไปแจ้งลูกค้าของจำเลยที่ 2 ให้หยุดการจำหน่าย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 973,340 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มกราคม 2547) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก กับให้จำเลยที่ 1 เสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหนังสือพจนานุกรมจำนวน 6 เล่ม จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด นายธีระพันธ์กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมไทยแฮค (Thai Hack) ซึ่งเป็นโปรแกรมระบบปฏิบัติการภาษาไทยบนเครื่องปาล์ม และโปรแกรมมิตร (Mission dictionary/Mi:D) ซึ่งเป็นระบบจัดการและค้นหาคำศัพท์จากฐานข้อมูลพจนานุกรม เมื่อประมาณต้นปี 2544 โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำพจนานุกรมลำดับที่ (1) ถึง (4) ไปจัดทำและจัดจำหน่ายในสื่อชนิดไฟล์ข้อมูล (แผ่นซีดี) แสดงผลในเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา ยี่ห้อ ปาล์ม หรือเครื่องปาล์ม จำเลยที่ 2 ซื้อโปรแกรมไทยแฮค และโปรแกรมมิตร ซึ่งรวมฐานข้อมูลพจนานุกรมของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ในเดือนกรกฎาคม 2546 โจทก์ตรวจสอบใบเสร็จรับเงินค่าลิขสิทธิ์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์ไม่ถูกต้องและเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2546 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวจำเลยที่ 1 ว่าไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 จัดทำอีกต่อไป
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้แยกพิจารณาเป็นข้อ ๆ ดังนี้
(1) การที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วนตามข้อตกลงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 20 ของราคาขาย แผ่นซีดี 1 ชุด ราคา 500 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์จำนวน 100 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าลิขสิทธิ์ไม่ครบถ้วนจึงเป็นการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญาอันเป็นการผิดสัญญามิใช่การละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์แต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
(2) การที่จำเลยที่ 1 นำพจนานุกรมลำดับที่ 5 และที่ 6 คือ ศัพทานุกรมไทยฉบับอธิบาย 2 ภาษาและพจนานุกรมไทยฉบับใหม่ไปใช้โดยนำไปจัดพิมพ์และจำหน่ายในสื่อชนิดไฟล์ข้อมูลแสดงผลในเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาใช้ชื่อว่า “ไทย – ไทย จูเนียร์” และ “ไทย – ไทย สแตนดาร์ด” ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า โจทก์ไม่ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำศัพทานุกรมไทยฉบับอธิบาย 2 ภาษาและพจนานุกรมไทยฉบับใหม่ไปจัดทำและจำหน่าย และโจทก์ยังมีนายวิศรุต พยานโจทก์ซึ่งรับจ้างจำเลยที่ 1 จัดทำไฟล์ข้อมูลของศัพทานุกรมและพจนานุกรมทั้งสองเบิกความสนับสนุนว่าการจัดทำไฟล์ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะมีใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 35 ถึง 38 มาแสดงว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 จัดทำไฟล์ข้อมูลดังกล่าวจำหน่าย แต่โจทก์ก็เบิกความปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 เพิ่มชื่อศัพทานุกรมและพจนานุกรมดังกล่าวลงในใบเสร็จรับเงินเพื่อฉ้อฉลโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จัดทำไฟล์ข้อมูลดังกล่าวและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศัพทานุกรมและพจนานุกรมทั้ง 2 ฉบับของโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
(3) จำเลยที่ 1 นำข้อมูลจากพจนานุกรมลำดับที่ 1 คือพจนานุกรม อังกฤษ – ไทย ฉบับนักเรียน มาดัดแปลงใส่เสียงอ่านเป็น “ทอล์คกิ้ง ดิกชันนารี” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้จะปรากฏจากคำเบิกความของนายธีระพันธ์ กรรมการของจำเลยที่ 1 พยานจำเลยว่า การออกเสียงเป็นคุณสมบัติพิเศษของเครื่องปาล์มบางรุ่น และการออกเสียงได้เกิดจากโปรแกรมเสียงสังเคราะห์ที่ออกเสียงได้ไม่จำกัดเฉพาะพจนานุกรมของโจทก์เท่านั้น แต่เมื่อการออกเสียงดังกล่าวเป็นการออกเสียงตามพจนานุกรมฉบับดังกล่าวของโจทก์ จึงเป็นการนำพจนานุกรมฉบับดังกล่าวของโจทก์มาดัดแปลงใส่เสียงอ่านเป็น “ทอล์คกิ้ง ดิกชันนารี” เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานพจนานุกรมฉบับดังกล่าวของโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
(4) จำเลยที่ 1 จัดทำฐานข้อมูล “เธียรชัย จูเนียร์” “เธียรชัย จูเนียร์ ฟูล” “เธียรชัย สแตนดาร์ด” “เธียรชัย สแตนดาร์ด ฟูล” และ “เธียรชัย โปรเฟสชั่นแนล” ในรูปแบบซีดีโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จัดทำฐานข้อมูลทั้งห้าดังกล่าวในรูปแผ่นซีดี โดยนำข้อมูลมาจากพจนานุกรมทั้ง 6 เล่มของโจทก์ เพียงแต่ตัดประโยคตัวอย่างเดิมออกและมีการตั้งชื่อพจนานุกรมใหม่เป็น 5 ชื่อดังกล่าว ปัญหาคงมีเพียงว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 กระทำหรือไม่ เห็นว่า ใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 11 ถึง 38 ที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 คงระบุเพียงว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์และจำหน่ายบทประพันธ์พจนานุกรมของโจทก์ในสื่อชนิดไฟล์ข้อมูลรูปแบบที่แสดงผลในเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือขนาดพกพาและเครื่องออแกนไนซ์เซอร์ขนาดเล็ก) เท่านั้น ไม่มีข้อความระบุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิดัดแปลงได้ การที่จำเลยที่ 1 ดัดแปลงโดยการตัดประโยคตัวอย่างเดิมออกและมีการตั้งชื่อพจนานุกรมใหม่เป็น 5 ชื่อดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
(5) จำเลยที่ 1 จัดทำฐานข้อมูล “เธียรชัย จูเนียร์” “เธียรชัย จูเนียร์ ฟูล” “เธียรชัย สแตนดาร์ด” “เธียรชัย สแตนดาร์ด ฟูล” และ “เธียรชัย โปรเฟสชั่นแนล” จำหน่ายทางเว็บไซต์โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 11 ถึง 38 ว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์และจำหน่ายบทประพันธ์พจนานุกรมของโจทก์ในสื่อชนิดไฟล์ข้อมูลแบบที่แสดงผลในเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือขนาดพกพาและเครื่องออแกนไนซ์เซอร์ขนาดเล็ก) เท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 จัดทำฐานข้อมูลทั้งห้าดังกล่าวจำหน่ายทางเว็บไซต์โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ แม้ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จะบัญญัติว่าผู้ดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์จะมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลง แต่การได้ลิขสิทธิ์นั้นต้องเข้าเงื่อนไขที่ว่าการดัดแปลงนั้นได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยมาในข้อ (4) ฟังได้ว่าการดัดแปลงฐานข้อมูลทั้งห้าดังกล่าวมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในงานจัดทำฐานข้อมูลทั้งห้าดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำงานดังกล่าวไปจำหน่ายทางเว็บไซต์ การนำงานดังกล่าวไปจำหน่ายทางเว็บไซต์จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
(6) การที่จำเลยที่ 1 เปิดตัวโปรแกรมภาษาไทย ไทยแฮค สำหรับเครื่องปาล์มรุ่งทังสเตนที โดยลูกค้าที่ซื้อเครื่องดังกล่าวมาสามารถอัพเกรดทางเว็บไซต์ได้ในราคาพิเศษเพียง 600 บาท รวมโปรแกรมมิตรซึ่งมีข้อมูลพจนานุกรมของโจทก์อยู่ด้วยถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 11 ถึง 38 ว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 จัดพิมพ์และจำหน่ายบทประพันธ์จากพจนานุกรมของโจทก์ในสื่อชนิดไฟล์ข้อมูลรูปแบบที่แสดงผลในเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือขนาดพกพาและเครื่องออแกนไนซ์เซอร์ขนาดเล็ก) เท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์จึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของโจทก์และจำเลยที่ 1 มีว่า ค่าเสียหายมีเพียงใด เห็นว่า ค่าเสียหายจำนวน 873,340 บาท กรณีจำเลยที่ 1 ชำระค่าลิขสิทธิ์แผ่นซีดีขาดไปตามข้อ (1) นั้น เป็นค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้ว เพราะคำนวณจากข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าลิขสิทธิ์จากร้อยละ 20 ของราคาขายแผ่นซีดีแผ่นละ 500 บาท หรือแผ่นละ 100 บาท นั่นเอง ส่วนค่าเสียหายกรณีจำเลยที่ 1 นำพจนานุกรมลำดับที่ 5 และที่ 6 คือศัพทานุกรมไทยฉบับอธิบาย 2 ภาษาและพจนานุกรมไทยฉบับใหม่ไปใช้โดยจัดพิมพ์และจัดจำหน่ายในสื่อชนิดไฟล์ข้อมูลแสดงผลในเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาใช้ชื่อว่า “ไทย – ไทยจูเนียร์” และ “ไทย – ไทยสแตนดาร์ด” โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ตามข้อ (2) นั้น โจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 6,352,500 บาท แต่พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวจึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 1,000,000 บาท ส่วนค่าเสียหายกรณีจำเลยที่ 1 นำข้อมูลจากพจนานุกรมลำดับที่ 1 คือพจนานุกรมอังกฤษ – ไทย ฉบับนักเรียน มาดัดแปลงใส่เสียงอ่านเป็น “ทอล์คกิ้ง ดิกชันนารี” โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ตามข้อ (3) และกรณีจัดทำฐานข้อมูล “เธียรชัย จูเนียร” “เธียรชัย จูเนียร์ฟูล” “เธียรชัย สแตนดาร์ด” “เธียรชัย สแตนดาร์ด ฟูล” และ “เธียรชัย โปรเฟสชั่นแนล” ในรูปแผ่นซีดีตามข้อ (4) โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้น โจทก์นำสืบว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันพึงได้ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายโดยคำนวณจากยอดขายของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 ถึงเดือนมิถุนายน 2546 จำนวน 18,517 ชุด ราคาชุดละ 750 บาท อันเป็นราคาที่ต่ำที่สุดที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายในราคาชุดละ 750 บาท 900 บาท และ 1,200 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายในส่วนนี้ 13,887,750 บาท แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้นำสืบหักล้าง แต่ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่สูงเกินสมควร จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 5,000,000 บาท สำหรับค่าเสียหายกรณีจำหน่ายฐานข้อมูลพจนานุกรมของโจทก์ทางเว็บไซต์ตามข้อ (5) และการให้ลูกค้าอัพเกรดโปรแกรมไทยแฮค ตามข้อ (6) โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายเป็นเงินเพียง 100,000 บาท เป็นค่าเสียหายที่ยังไม่เหมาะสม เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 7,873,340 บาท อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วนส่วนของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 เปิดตัวโปรแกรมไทยแฮคสำหรับเครื่องปาล์มรุ่นทังสเตนที โดยลูกค้าที่ซื้อเครื่องดังกล่าวสามารถอัพเกรดทางเว็บไซต์ได้ในราคาพิเศษเพียง 600 บาท รวมโปรแกรมมิตรซึ่งมีข้อมูลพจนานุกรมของโจทก์อยู่ด้วยนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายเครื่องดังกล่าวรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทั้งการอัพเกรดก็กระทำผ่านเว็บไซต์ของจำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์คือจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำข้อมูลจากพจนานุกรมของโจทก์มาทำซ้ำเป็นแผ่นซีดีขายหรือแจกแถมพร้อมเครื่องปาล์มของจำเลยที่ 2 โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงมิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์เช่นเดียวกัน อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 7,873,340 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มกราคม 2547) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง