คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้บุพการีมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) แต่คดีที่เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสารซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัวของผู้เสียหายเอง ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแต่มีลายมือชื่อของผู้เสียหายในช่องผู้มอบอำนาจและโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไปโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188 และร่วมกับพวกกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนการให้โดยเสน่หาที่ดินของผู้เสียหายแก่จำเลย และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้หลงเชื่อจนจดทะเบียนโอนที่ดินแก่จำเลย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 แต่การที่จำเลยกระทำความผิดก็เพื่อโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว ความผิดของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ในระหว่างปี 2541 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2541 วันเวลาใดไม่ปรากกฎชัด จำเลยกับพวกร่วมกันเอาไปเสียซึ่งหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ เพียงแต่ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ 1 ฉบับ และโฉนดที่ดินเลขที่ 12207 จำนวน 1 ฉบับ และโฉนดที่ดินเลขที่ 12207 จำนวน 1 ฉบับ ของนายวิสุทธิ์ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายวิสุทธิ์ หลังจากนั้นจำเลยกับพวกร่วมกันกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งนายวิสุทธิ์ลงลายมือชื่อไว้ว่ามอบให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจจัดการยื่นขอจดทะเบียนในที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้าง บ้านเลขที่ 33/20 ถนนจริงจิตร ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ให้แก่จำเลยโดยเสน่หา ตลอดจนให้ถ้อยคำต่างๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งนี้โดยนายวิสุทธิ์ไม่ยินยอมในการกรอกข้อความดังกล่าว ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2542 เวลากลางวันจำเลยกับพวกนำหนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวไปอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรัง ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรังหลงเชื่อว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจที่แท้จริง จึงได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลย ทำให้นายวิสุทธิ์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรัง และประชาชนเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 264, 268, 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณานางถ้าย มารดาของนายวิสุทธิ์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และมาตรา 264 วรรคสอง, 268 วรรคสอง, ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานใช้เอกสารปลอม จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าโจทก์ร่วมเป็นมารดาของนายวิสุทธิ์ ผู้เสียหาย มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์แทนผู้เสียหายหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ เห็นว่า ผู้บุพการีมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) แต่คดีนี้เป็นคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสารซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัวของผู้เสียหายเอง กรณีของโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้โจทก์ร่วมมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายถ้าย มารดาของผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเสีย
ปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า นายวิสุทธิ์ ผู้เสียหายอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยตั้งแต่เมื่อประมาณปี 2536 ถึงปี 2541 หลังจากนั้นผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับนางถ้าย มารดา ผู้เสียหายป่วยเป็นโรคเบาหวานและถึงแก่ความตายวันที่ 2 กรกฎาความ 2543 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรังได้จดทะเบียนการยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 12207 ตำบลทับเที่ยง (บางรัก) อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ระหว่างผู้เสียหายผู้ให้สัญญากับจำเลยผู้รับสัญญา โดยจำเลยนำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรังว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจจัดการยื่นขอจดทะเบียนการให้ที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลย ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2542 ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้ สำหรับข้อเท็จจริงที่คู่ความโต้เถียงกันมีว่า ผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งโจทก์นำสืบว่า ผู้เสียหายลงลายมือชื่อมอบอำนาจในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเพื่อขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 222 ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ของผู้เสียหาย โดยให้นายนพสิทธิ์ บุตรเขยของนางขิ้ม พี่สาวของผู้เสียหายเป็นผู้นำหนังสือดังกล่าวไปกรอกข้อความเองและมีนางขิ้มลงลายมือชื่อเป็นพยาน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ นายนพสิทธิ์นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวคืนให้แก่ผู้เสียหายโดยยังมิได้กรอกข้อความ ผู้เสียหายเก็บหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไว้ในถุงเอกสารภายในบ้าน จำเลยลักเอาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปกรอกข้อความว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 12207 ตำบลทับเที่ยง (บางรัก) อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลย เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยโดยผู้เสียหายมิได้ยินยอม ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2541 ผู้เสียหายต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ่อยครั้ง ผู้เสียหายต้องการยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2541 จำเลยนำหนังสือมอบอำนาจและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้เสียหายไปพบนางอัมพา ซึ่งรับราชการที่เทศบาลนครตรัง ขอให้นางอัมพาเขียนรายละเอียดในหนังสือมอบอำนาจให้แก่จำเลย หลังจากนั้นจำเลยนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปให้ผู้เสียหายซึ่งรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง มีนางขิ้มอยู่กับผู้เสียหายด้วย ผู้เสียหายตกลงมอบอำนาจให้แก่จำเลยและลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจและนางขิ้มลงลายมือชื่อเป็นพยาน ต่อมาในตอนเย็น นางอัมพาไปเยี่ยมผู้เสียหายที่โรงพยาบาล นางอัมพาสอบถามผู้เสียหายว่าจะยกที่ดินให้แก่จำเลยแน่หรือ ผู้เสียหายพยักหน้า นางอัมพาจึงเขียนข้อความเกี่ยวกับความประสงค์ของผู้เสียหายไว้ที่ด้านหลังหนังสือมอบอำนาจ นายปรีดาและนางราศี อยู่ขณะดังกล่าวด้วย ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในข้อความดังกล่าว นอกจากนั้นนางประเยี่ยม ซึ่งอยู่ในขณะดังกล่าวด้วยเช่นกันได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานที่ด้านหน้าของหนังสือมอบอำนาจ เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 และข้อนำสืบของจำเลยระบุว่ามอบอำนาจวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ปรากฏว่า ผู้เสียหายป่วยจนแพทย์รับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง ตามบัตรตรวจโรคระหว่างวันที่ 17 ถึง 24 ธันวาคม 2541 และในวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ผู้เสียหายได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลดังกล่าวอีก จนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2541 ซึ่งแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาวินิจฉัยว่าผู้เสียหายเป็นโรคเบาหวานมีไข้สูงเนื่องจากติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ตามใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย จ.3 ซึ่งนายศักดิ์ชัย แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาเบิกความยืนยันว่า ตามใบตรวจรักษา ผู้เสียหายมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้เล็กน้อย รับประทานอาหารไม่ได้ พยานทำการรักษาโดยให้น้ำเกลือ จากการตรวจผู้เสียหายมีระดับน้ำตาลค่อนข้างสูง ขณะที่ผู้เสียหายเข้ารับการรักษาเป็นเวลานอกเวลาทำการของโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะต้องรับตัวผู้เสียหายไว้ที่ห้องฉุกเฉิน บุคคลภายนอกไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยไปที่โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง นำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อเวลาประมาณ 16 นาฬิกา จึงเป็นเวลาก่อนที่ผู้เสียหายจะไปถึงโรงพยาบาล นอกจากนั้น ขณะที่ผู้เสียหายอยู่ในห้องฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าเยี่ยม ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะเข้าไปให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในขณะอยู่ในห้องฉุกเฉิน นอกจากนั้นในวันดังกล่าวเวลาประมาณ 17 นาฬิกา นางอัมพาอ้างว่าได้ไปเยี่ยมผู้เสียหายที่โรงพยาบาลพร้อมกับนายปรีดา นางราศีและนางประเยี่ยม และให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วยไม่น่าเชื่อว่าบุคคลดังกล่าวเข้าไปดำเนินการเกี่ยวกับการมอบอำนาจในขณะดังกล่าวได้ สำหรับการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ จำเลยนำสืบว่า จำเลยนำแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจไปให้นางอัมพากรอกรายละเอียดให้ที่เทศบาลนครตรังซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของนางอัมพาเมื่อเวลาประมาณ 11 นาฬิกา ซึ่งในขณะดังกล่าวผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านยังไม่ได้ไปโรงพยาบาล แต่จำเลยกลับบอกว่าผู้เสียหายอยู่ที่โรงพยาบาลจนนางอัมพากับพวกไปเยี่ยมผู้เสียหายที่โรงพยาบาลดังกล่าวในตอนเย็น ยิ่งไปกว่านั้นข้อความที่นางอัมพาเขียนรับรองไว้ที่ด้านหลังหนังสือมอบอำนาจว่าข้าพเจ้านางอัมพา ตำแหน่ง เจ้าพนักงานทะเบียน 5 ขอรับรองว่า ผู้มอบอำนาจมีความประสงค์จะกระทำการตามที่มอบอำนาจนี้จริง ผู้มอบอำนาจมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และยังมีชีวิตอยู่จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ก็ระบุว่าเขียนที่สำนักงานเทศบาลเมืองตรัง แต่นางอัมพาเบิกความว่า พยานเขียนข้อความดังกล่าวที่โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง และการมอบอำนาจก็มิได้มีระเบียบให้ต้องมีการรับรองดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่พยานจะต้องเขียนคำรับรองดังกล่าวไว้ ข้อความรับรองดังกล่าวน่าเชื่อว่ากระทำกันที่โรงพยาบาลในขณะที่ผู้เสียหายนอนรับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจริง สำหรับพยานฝ่ายโจทก์มีนางขิ้มพี่สาวของผู้เสียหายซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจเบิกความยืนยันว่า พยานไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ก่อนหน้านี้เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน แต่เจ้าพนักงานออกโฉนดที่ดินให้ไม่ได้ นอกจากนั้นผู้เสียหายก็ได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่นำหนังสือมอบอำนาจไปทำให้เสียหายดังกล่าว พยานของโจทก์ประกอบกับข้อพิรุธของหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแต่มีลายมือชื่อของผู้เสียหายในช่องผู้มอบอำนาจและโฉนดที่ดินเลขที่ 12207 ของผู้เสียหายไปโดยไม่ได้รับอนุญาตในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย อันเป็นความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และร่วมกับพวกกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนการให้โดยเสน่หาที่ดินของผู้เสียหายแก่จำเลย และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรังให้หลงเชื่อจนจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 12207 แก่จำเลย อันเป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 จำเลยจึงกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่การที่จำเลยกระทำความผิดดังกล่าวก็เพื่อโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว ความผิดของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน และต้องลงโทษจำเลยเพียงกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมาเป็น 2 กรรม ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ นอกจากนั้นขณะเกิดเหตุจำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินฉันสามีภริยากัน ความผิดของจำเลยจึงไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องโทษจำคุกมาก่อนเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไปโดยรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วยเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนางถ้าย

Share