แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การยกเลิกการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละบาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2) มีผลตามมาตรา 136 แต่ไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สิน โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนี้ดังกล่าวนั้นเจ้าหนี้จะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้หรือไม่ มีผลให้โจทก์ซึ่งไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้นยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ต่อไปเหมือนดังก่อนที่มีการฟ้องคดีล้มละลาย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดภูเก็ต คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1008/2539 ซึ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2539 ให้จำเลยชำระเงิน 2,222,969.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,962,385.82 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2542 ได้เงินชำระหนี้บางส่วน คำนวณถึงวันฟ้องจำเลยคงค้างชำระหนี้โจทก์ 3,666,749.62 บาท จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยถูกธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.511/2543 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้กระทั่งพ้นกำหนดระยะเวลา กรณีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดภูเก็ตคดีหมายเลขแดงที่ 1008/2539 ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.6 หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 285 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ของจำเลยออกขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้บางส่วนตามบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 เอกสารหมาย จ.8 คำนวณถึงวันฟ้องจำเลยคงค้างชำระหนี้โจทก์ 3,666,749.62 บาท ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.511/2543 ซึ่งเมื่อมีการโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์ในคดีนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ต่อมาศาลคดีดังกล่าวพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2547 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าในคดีดังกล่าวมีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้คือธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นขอรับชำระหนี้ 2 สำนวน ต่อมาเจ้าหนี้ได้ขอถอนคำขอรับชำระหนี้แล้ว ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2547 ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2549 โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดภูเก็ต คดีหมายเลขแดงที่ 1008/2539 มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีสิทธินำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดภูเก็ต คดีหมายเลขแดงที่ 1008/2539 มาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยในคดีของศาลล้มละลายกลางคดีหมายเลขแดงที่ ล.511/2543 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2547 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2) ซึ่งมีผลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 136 แต่ก็หาทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สินแต่อย่างใดไม่ โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนี้ดังกล่าวนั้นเจ้าหนี้จะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้หรือไม่ มีผลให้โจทก์ซึ่งไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้นยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ต่อไปเหมือนดังก่อนที่มีการฟ้องคดีล้มละลาย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้ ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า กรณีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จนกระทั่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้บางส่วน หลังจากนั้นจำเลยก็มิได้ชำระหนี้ส่วนที่ค้างหรือติดต่อขอชำระหนี้แก่โจทก์แต่อย่างใด เมื่อนับระยะเวลาจากศาลพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งจนถึงโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายคดีนี้เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้ขวนขวายชำระหนี้แก่โจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.511/2543 โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าว และต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2) นั้น เห็นว่า เพียงแต่เหตุดังกล่าวยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ของจำเลยเด็ดขาดมานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ