แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
กรณีที่หนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ป.พ.พ. มาตรา 196 ให้เป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกว่าจะชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศหรือเงินไทย ศาลไม่มีอำนาจไปบังคับหรือเลือกแทนลูกหนี้ในการชำระหนี้ เมื่อหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เป็นหนี้เงินตามคำพิพากษาที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ลูกหนี้จึงอาจชำระเป็นเงินไทยก็ได้ โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ ทั้งการขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไม่ใช่กรณีศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 98 ที่ให้ต้องคิดหนี้เป็นเงินตราไทย แต่เป็นการขอรับชำระหนี้เนื่องจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ซึ่งต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/26 อันเป็นกฎหมายส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งมาตรา 90/26 วรรคสาม มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 98 มาใช้บังคับ ส่วนกรณีตามมาตรา 90/31 ที่ว่า ถ้าหนี้ได้กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศให้คิดเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประจำวันของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการนั้น เป็นกรณีที่มีการประชุมเจ้าหนี้และเจ้าหนี้เงินตราต่างประเทศนั้นเข้าประชุมเพื่อประโยชน์ในการคำนวณหนี้ที่ใช้ในการออกเสียงลงคะแนน จึงให้คำนวณหนี้เงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทย กรณีเจ้าหนี้รายนี้ไม่มีประเด็นปัญหาการเข้าประชุมเจ้าหนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะไปสั่งบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องคำนวณยอดหนี้จากเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินไทย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2544 ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน โดยมีนางพรพรรณ ก่อนันทเกียรติ และบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอาร์เธอร์แอนเดอร์เซ่น จำกัด เป็นผู้บริหารแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงินจำนวน 65,005,193.73 บาท และ 2,474,866.08 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19, 15.5, 16 และ 16 ต่อปี จากต้นเงิน 2,895,489.41 บาท 3,000,000 บาท 1,371,800.74 ดอลลาร์สหรัฐ และ 29,897,226.13 บาท ตามลำดับ นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับเสร็จสิ้นพร้อมค่าฤชาธรรมเนียม 620,460 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้ทำแผน ตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว
ผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายการหนี้เงินตราต่างประเทศว่า เจ้าหนี้จะต้องแปลงเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทย ณ วันที่ 29 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวเป็นเงินไทย 37.479 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวน 65,05,193.73 บาท และ 2,474,866.08 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 2,895,489.41 บาท อัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี จากต้นเงิน 3,000,000 บาท อัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากต้นเงิน 1,371,800.74 ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากต้นเงิน 29,897,226.13 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ
ผู้บริหารแผนและลูกหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า หนี้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหนี้เงินตราต่างประเทศ เจ้าหนี้จะต้องแปลงเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทย ณ วันที่ 25 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำพิพากษาและหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนจำนวน 620,460 บาท เจ้าหนี้สามารถขอรับเงินค่าธรรมเนียมศาลที่ชำระเกินคืนได้ 400,000 บาท เจ้าหนี้จึงควรได้รับชำระหนี้เพียง 220,460 บาท คำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมิชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เงินตราต่างประเทศโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 25 มีนาคม 2542 และหนี้ค่าฤชาธรรมเนียม ขอให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ขอรับเงินค่าธรรมเนียมศาลคืนได้เพียงใดก็ให้สิทธิเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น
เจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่า หนี้เงินตราต่างประเทศ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 บัญญัติให้ลูกหนี้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่มีการใช้เงิน ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนจำนวน 620,460 บาท เมื่อลูกหนี้ไม่อุทธรณ์คดีจึงถึงที่สุด ลูกหนี้จึงต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง
ลูกหนี้และผู้บริหารแผนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งฟังได้ว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 6583/2542 จำนวน 65,005,193.73 บาท 2,474,866.08 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ย และหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทน 620,460 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มตามที่ขอ ลูกหนี้และผู้บริหารแผนยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ถืออัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาอัตรา 37.592 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยให้มีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับเงินค่าธรรมเนียมคืนจากศาลเพียงใด ให้สิทธิของเจ้าหนี้ลดลงเพียงนั้น ทำนองเดียวกับที่แถลงคัดค้านไว้ในชั้นพิจารณาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ประการแรกว่า หนี้เงินดอลลาร์สหรัฐนั้นจะต้องเปลี่ยนเป็นไทยหรือไม่ และถืออัตราแลกเปลี่ยน ณ วันเวลาใด ซึ่งลูกหนี้และผู้บริหารแผนอุทธรณ์อ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2538 และ 1909/2541 ให้ถืออัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 25 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาเนื่องจากคดีถึงที่สุดโดยไม่มีอุทธรณ์ฎีกา เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 บัญญัติว่า “ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้ การเปลี่ยนแปลงเงินนี้ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน” จากบทบัญญัติดังกล่าวสิทธิที่จะเลือกว่าจะชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศหรือเงินไทยเป็นสิทธิของลูกหนี้ ศาลไม่มีอำนาจไปบังคับหรือเลือกแทนลูกหนี้ในการชำระหนี้ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีที่ผู้อุทธรณ์อ้างนั้นเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษากำหนดให้ถืออัตราแลกเปลี่ยนในวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นกรณีเพื่อความสะดวกในการบังคับคดี เมื่อหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เป็นหนี้เงินตามคำพิพากษาที่กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ลูกหนี้จึงอาจชำระเป็นเงินไทยก็ได้โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 ซึ่งเป็นสิทธิของลูกหนี้ที่จะเลือกปฏิบัติการชำระหนี้ ทั้งการขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไม่ใช่กรณีศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ จึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 98 ที่ต้องคิดหนี้เป็นเงินตราไทย แต่เป็นการขอรับชำระหนี้เนื่องจากศาลมีคำสั้งให้ฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ซึ่งต้องบัญญัติบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 อันเป็นกฎหมายส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งมาตรา 90/26 วรรคสาม มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 98 มาใช้บังคับแต่อย่างใด ส่วนกรณีตามมาตรา 90/31 ที่ว่า ถ้าหนี้ได้กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คิดเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประจำวันของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการนั้น เป็นกรณีที่มีการประชุมและเจ้าหนี้เงินตราต่างประเทศนั้นเข้าประชุม เพื่อประโยชน์ในการคำนวณหนี้ที่ใช้ในการออกเสียงลงคะแนน จึงให้คำนวณหนี้เงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทย กรณีเจ้าหนี้รายนี้ไม่มีประเด็นปัญหาการเข้าประชุมเจ้าหนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะไปสั่งบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องคำนวณยอดหนี้จากเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินไทยโดยถืออัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษา อุทธรณ์ข้อนี้ของลูกหนี้และผู้บริหารแผนฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของลูกหนี้และผู้บริหารแผนประการสุดท้ายว่า หนี้ที่ขอรับชำระหนี้ในหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทน เป็นหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระหนี้หลายรายการ หนี้แต่ละรายการหากแยกฟ้องต้องเสียค่าขึ้นศาลอัตราสูงสุดรายการละ 200,000 บาท เมื่อเจ้าหนี้นำมาฟ้องรวมเป็นสำนวนเดียวเจ้าหนี้คงเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาทเท่านั้น ฉะนั้น ค่าฤชาธรรมเนียมที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 620,460 บาท นั้น เป็นค่าธรรมเนียมที่เจ้าหนี้เสียไว้เกิน 200,000 บาท เจ้าหนี้ย่อมขอคืนในคดีดังกล่าวได้ จึงต้องนำส่วนที่ขอคืนได้มาหักกับหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้อุทธรณ์อ้างนั้นเป็นกรณีที่ใช้บังคับเฉพาะการคืนค่าขึ้นศาลในคดีที่ศาลมีคำสั่งเฉพาะคดีเท่านั้น ไม่อาจนำไปอ้างขอคืนค่าขึ้นศาลในคดีอื่นได้ สำหรับหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้คืนค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่เจ้าหนี้ แต่สั่งให้จำเลย (ลูกหนี้) ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนเจ้าหนี้ และคดีถึงที่สุดโดยไม่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ไขเป็นประการอื่น กรณีนี้จึงไม่อาจกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้รับชำระหนี้ตามที่ลูกหนี้และผู้บริหารแผนกล่าวอ้างได้ อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน