คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดก็ตาม แต่หากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็น คำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” ของโจทก์โดยอ้างว่าคำสั่งและคำวินิจฉัยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงถือได้ว่าคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่รับ จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล ขอให้ เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวได้
สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” ของโจทก์นอกจากอักษรโรมันที่เขียน ติดกันจำนวน 8 พยางค์ แล้ว สำเนียงเรียกขานก็ถือเป็นส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะสามารถทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่มีเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่น คำว่า “JAVACAFE” แม้จะเขียนติดต่อเป็นคำเดียวกัน แต่คำว่า “JAVA” และ “CAFE” สามารถแยกออกจากกันได้และสามารถแปลความหมายตามพจนานุกรมได้ คำว่า “JAVA” เรียกขานว่า “จาวา” หมายถึง ชื่อเกาะในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปรู้จักดีว่าหมายถึงเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ชื่อเมืองท่า จังหวัด อำเภอ ตำบล มณฑล เกาะ ภูเขา แม่น้ำ ทะเล หรือทะเลสาปที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ดังนั้น คำว่า “JAVA” หรือ “จาวา” จึงเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะส่วน คำว่า “CAFE” เรียกขานว่า คาเฟ่ ความหมายตามพจนานุกรม หมายถึง กาแฟ หรือภัตตาคารขนาดเล็ก จึงถือเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เช่นเดียวกัน เมื่อนำคำ 2 คำ ดังกล่าวมาเขียนติดกันเป็น “JAVACAFE” สำเนียงเรียกขานก็จะเป็น จาวาคาเฟ่ จะเห็นได้ว่าทั้งตัวอักษรโรมันและสำเนียงเรียกขานยังคงเดิม และแม้จะแปลไม่ได้ แต่ก็สามารถสื่อความหมายให้คนทั่วไปได้ เข้าใจว่าหมายถึงกาแฟที่มีแหล่งกำเนิดมาจากเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
การที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีเพียงอักษรโรมันคำว่า “JAVACAFE” เป็นส่วน สาระสำคัญแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า กาแฟ เมล็ดต้นโกโก้ ธัญพืชที่สีแล้ว ธัญพืชที่ยังไม่ได้สี ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกาแฟ และครีมที่ไม่มีส่วนผสมของนม จึงเห็นได้ชัดว่าตัวอักษรโรมันที่สะกดเป็นคำทั้งหมดไม่ว่าจะออกสำเนียงแยกเป็นคำหรือรวมกันเสียงเรียกขานก็ไม่แตกต่างกัน และสื่อความหมายให้ ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะและแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นโดยตรง จึงเป็น เครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งนายทะเบียน เครื่องหมายการค้าไม่อาจรับจดทะเบียนให้ได้ เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้าที่มี ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 (1)
แม้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 4 จะบัญญัติว่า “ท่านว่าสิ่งอันกล่าวต่อไปนี้เป็น สาระสำคัญต้องมีสิ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อยอยู่ในเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ (4) คำเดียวหรือหลายคำอัน ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติแห่งสินค้าโดยตรงและตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาไม่เป็นชื่อในภูมิศาสตร์หรือนามสกุล” ก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าที่มิได้มีแต่คำอันเป็นชื่อในภูมิศาสตร์ หรือคำซึ่งเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติแห่งสินค้าโดยตรงเท่านั้นแต่ยังมีคำอื่นที่มีลักษณะบ่งเฉพาะประกอบอยู่ด้วย จึงอาจได้รับการ จดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจดทะเบียน
หลักฐานการจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย- ประชาชนลาว ก็มิใช่หลักฐานแสดงการจดทะเบียนแพร่หลายหรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” ในประเทศไทยแล้วอันจะถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 สำหรับในกรณีที่เครื่องหมายการค้าคำว่า “JAVACAFE” ของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนมาแล้วในหลายประเทศก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศที่จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร และความเห็นนายทะเบียนในประเทศนั้น ๆ ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคสอง (2) และวรรคท้ายแห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 นายทะเบียนจึงไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 (1) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ เครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมาย การค้าคำว่า “JAVACAFE” ของโจทก์จึงเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัย ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

Share