คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กันยายน 2538ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เมื่อรวมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องคือวันที่ 14มิถุนายน 2539 ซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์เวนคืนที่ดินของจำเลยเป็นเนื้อที่แน่นอน 5 ตารางวา แต่ความจริงถูกเวนคืนเพียง 2 ตารางวา อันเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะนั้น การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
โจทก์จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเนื้อที่ 5 ตารางวา ตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายให้แก่จำเลยตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10กำหนดแต่เมื่อรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ถูกเขตทางพิเศษแล้วปรากฏว่าถูกเวนคืนเพียง 2 ตารางวา จำเลยก็ต้องคืนเงินค่าทดแทนที่ดินเนื้อที่ 3 ตารางวาซึ่งเป็นส่วนที่รับไว้โดยที่ดินไม่ได้ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยได้มาซึ่งเงิน เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้อันเป็นลาภมิควรได้ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องร้องเรียกเงินคืนจากจำเลยภายในอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419
การฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่ชำระเกินกว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนอันเนื่องมาจากการดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ เมื่อตามสัญญาซื้อขายระบุว่าการจ่ายเงินค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นหรือการคืนเงินค่าที่ดินที่ลดลงให้กระทำภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ทำการรังวัดแบ่งแยกแล้วเสร็จ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือลงวันที่ 14 มิถุนายน2538 แจ้งผลการรังวัดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทราบ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2539 จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 10223 และ3308 แขวงถนนเพชรบุรี (ประแจจีน) เขตพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานครต่อมารัฐมีความจำเป็นจะต้องสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจรจึงได้ดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษฯ ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นผลให้ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของจำเลยถูกเวนคืนบางส่วนเนื้อที่ประมาณ6 ตารางวา ซึ่งจำนวนเนื้อที่ที่ถูกเขตทางยังไม่ชัดแจ้งเนื่องจากกรมที่ดินยังมิได้ทำการรังวัดแบ่งแยก คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดิน โฉนดเลขที่ 10223 ตารางวาละ 25,000 บาทโฉนดเลขที่ 3308 ตารางวาละ 60,000 บาท โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยตกลงซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10223เนื้อที่ 1 ตารางวา เป็นเงิน 25,000 บาท และโฉนดเลขที่ 3308 เนื้อที่5 ตารางวา เป็นเงิน 300,000 บาท และคิดเงินค่าทดแทนสำหรับถนนซึ่งถูกเขตทางพิเศษบางส่วนเป็นเงิน 14,264.90 บาท รวมเป็นเงิน339,264.90 บาท จำเลยได้รับเงินดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวางว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้ว ปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3308 ถูกแบ่งแยกเป็นเขตทางพิเศษเนื้อที่ 2 ตารางวาซึ่งตามสัญญาจำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ลดลงให้แก่โจทก์จำนวน 180,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ผิดนัดคือวันที่ 11กันยายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย11,362.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 191,362.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 180,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ โดยจำเลยเชื่อว่าจำนวนเนื้อที่ดินซึ่งถูกเวนคืนจะเป็นไปตามสัญญา เมื่อจำนวนเนื้อที่ดินเปลี่ยนแปลงจึงเป็นการทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม และจำเลยไม่ต้องคืนเงินจำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เนื่องจากเป็นเงินที่จำเลยรับมาโดยสุจริตและได้ใช้จ่ายไปหมดแล้วจึงเป็นลาภมิควรได้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 180,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กันยายน 2538จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 11 กันยายน 2538 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เมื่อรวมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องคือวันที่ 14 มิถุนายน 2539 ซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาแล้วไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์เวนคืนที่ดินของจำเลยเป็นเนื้อที่แน่นอน5 ตารางวา แต่ความจริงถูกเวนคืนเพียง 2 ตารางวา อันเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายฯ เอกสารหมาย จ.4จึงเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า การวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริง เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าจำเลยทำสัญญาซื้อขายฯ เอกสารหมาย จ.4โดยมิได้สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

ส่วนฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยรับเงินค่าเวนคืนมาโดยสุจริตกรณีจึงถือว่าเป็นลาภมิควรได้ และโจทก์ทราบจำนวนเนื้อที่ดินที่จะถูกเวนคืนในวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปีจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 3308 ที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยเกินไปกว่าเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนจริง3 ตารางวา ตารางวาละ 60,000 บาท เป็นเงิน 180,000 บาท คืนจากจำเลย เนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2535 ขณะที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 อันเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่จำเลยผู้ที่จะถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ นั้นยังไม่มีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3308 ของจำเลยที่จะถูกเวนคืนเป็นที่แน่นอน การกำหนดเนื้อที่ลงในสัญญาซื้อขายฯ ว่าจะถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษเป็นเนื้อที่5 ตารางวา นั้น เป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น การที่โจทก์จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 3308 เนื้อที่ 5 ตารางวา ตารางวาละ 60,000บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายฯให้แก่จำเลยเป็นการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ครั้นเมื่อมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของจำเลยที่ถูกเขตทางพิเศษแล้วปรากฏว่ามีเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเพียง 2 ตารางวาจำเลยก็ต้องคืนเงินค่าทดแทนที่ดินเนื้อที่ 3 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนที่รับไว้โดยที่ดินไม่ได้ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์ เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้อันเป็นลาภมิควรได้ซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกเงินคืนจากจำเลยภายในกำหนดอายุความ1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ไม่ และเห็นว่าการฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่ชำระเกินกว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนอันเนื่องมาจากการดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เช่นกรณีพิพาทนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปีนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ตามสัญญาซื้อขายฯ ข้อ 1.1 วรรคท้าย ระบุว่าการจ่ายเงินค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นหรือการคืนเงินค่าที่ดินที่ลดลง ให้กระทำภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ทำการรังวัดแบ่งแยกแล้วเสร็จ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือลงวันที่ 14มิถุนายน 2538 แจ้งผลการรังวัดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทราบ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2539 จึงยังไม่ขาดอายุความตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4797/2541 ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทยโจทก์ นางสาวกฤติกา ธรรมสโรช จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share