คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2769/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์จากจำเลยทั้งสอง แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองโอนรถยนต์ให้กับโจทก์นั้น บุคคลอื่นเป็นเจ้าของ มิใช่จำเลยทั้งสองต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถยนต์ไปเป็นของกลางเพื่อคืนให้แก่เจ้าของเดิม ถือว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิ รถยนต์ที่โจทก์ซื้อจากจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไปทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ได้ ต้องเช่ารถผู้อื่นมาใช้แทนนับได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์แล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้นับตั้งแต่วันที่ถูกยึดไปและสามารถคิดดอกเบี้ยในค่าเสียหายดังกล่าวได้ ไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อน โจทก์มีเหตุอันสมควรที่จะคาดคิดได้ว่าถ้าโจทก์ไม่ยอมให้ยึดรถยนต์ โจทก์อาจจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ไม่ใช่เป็นการยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ซึ่งมีอายุความ 3 เดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 ต้องใช้อายุความธรรมดา10 ปี ตามมาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้ารถยนต์ทั้งเก่าและใหม่ โดย มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์ปิกอัพยี่ห้อดัทสัน คันหมายเลขทะเบียน น -3567 พระนครศรีอยุธยา จากจำเลยทั้งสอง ในราคา 110,000 บาท ได้ชำระเงินให้เรียบร้อยแล้ว จำเลยทั้งสองมอบรถคันดังกล่าวให้แก่โจทก์และย้ายโอนทะเบียนรถเป็นชื่อของโจทก์โดย ได้หมายเลขทะเบียนใหม่เป็น บ -6679 นครราชสีมาต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2529 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถคันดังกล่าวไปอ้างว่าเป็นรถที่นายสัมพันธ์ สมบูรณ์ ได้แจ้งหายไว้เพื่อคืนให้แก่เจ้าของเดิม ทำให้โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์และไม่สามารถใช้รถได้ตามปกติ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดคืนราคารถ 110,000 บาทและค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ต้องจ้างหรือเช่ารถยนต์จากบุคคลอื่นมาทำการค้าแทนรถที่ซื้อจากจำเลยทั้งสองในอัตราวันละ 200 บาทนับแต่วันที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถไปจนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา268 วัน เป็นเงิน 53,600 บาท และนับวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 163,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายวันละ 200 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระราคารถให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ยังมิได้อยู่ในฐานะถูกรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 กล่าวคือ ในขณะที่โจทก์ซื้อรถพิพาทจากจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถพิพาท เพราะรับซื้อมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแต่มิได้จดทะเบียนโอนที่แผนกทะเบียนยานพาหนะ ต่อมาเมื่อโจทก์ซื้อรถพิพาทจากจำเลยที่ 1 จึงได้จดทะเบียนโอนจากเจ้าของเดิมมาเป็นของโจทก์ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจยึดรถพิพาท การยึดรถพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ผู้กระทำละเมิดต้องรับผิดต่อโจทก์โดยตรง จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถพิพาทไปเมื่อวันที่ 8มิถุนายน 2529 แต่มิได้ยื่นฟ้องภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันถูกยึดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 120,680 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเงินต้น110,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 126,080 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นฎีกาข้อแรกมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะการรอนสิทธิหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่ารถพิพาทไม่ใช่รถของบริษัทสยามกลการ จำกัด ขณะที่โอนให้กับโจทก์โจทก์ยังมิได้อยู่ในฐานะที่จะถูกรอนสิทธิ เรื่องนี้พันตำรวจตรีอรุณสวัสดิ์ อนุสสรราชกิจ พยานโจทก์เบิกความว่า รถพิพาทเดิมเป็นหมายเลขทะเบียน น -4413 สกลนคร ซึ่งนายสัมพันธ์ สมบูรณ์เช่าซื้อไปจากบริษัทสยามกลการ จำกัด สาขาพังโคน จังหวัดสกลนครแล้วได้แจ้งหายไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีพยานได้ตรวจหมายเลขเครื่อง หมายเลขตัวถัง หมายเลขคัสซี และสีรถแล้วปรากฏว่าตรงกับที่นายสัมพันธ์แจ้งหายไว้ คงเปลี่ยนเฉพาะหมายเลขทะเบียนรถเท่านั้น บริษัทสยามกลการ จำกัด ได้ส่งสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวและใบคู่มือการจดทะเบียนมาให้ตรวจสอบแล้ว ก็ปรากฏว่าตรงกับรถพิพาท แม้โจทก์จะมิได้นำสืบนายสัมพันธ์และตัวแทนบริษัทสยามกลการ จำกัด หรือผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบหมายเลขต่าง ๆประจำรถของบริษัทผู้ผลิตดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ก็มีสำเนาภาพถ่ายบันทึกประจำวันที่นายสัมพันธ์แจ้งความเรื่องรถหายสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือการจดทะเบียนซึ่งมีชื่อบริษัทสยามกลการ จำกัดเป็นเจ้าของรถพิพาทและสำเนาภาพถ่ายสัญญาเช่าซื้อของนายสัมพันธ์ปรากฏตามเอกสารหมาย ป จ.1, จ.8 และ จ.9 ตามลำดับมาเป็นพยานด้วยส่วนจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทสยามกลการ จำกัด เป็นเจ้าของรถพิพาทเมื่อรถพิพาทถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไป ถือได้ว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ประเด็นฎีกาข้อสอง จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยให้โจทก์ได้ค่าเสียหายนับแต่วันที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถไปคือวันที่ 8 มิถุนายน 2529 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าการที่รถพิพาทถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไป ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้รถพิพาทได้และต้องเช่ารถผู้อื่นมาใช้แทนรถพิพาท นับได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้นับตั้งแต่วันที่รถพิพาทถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไป ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยมานั้น เป็นการถูกต้องแล้วและข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาด้วยว่าโจทก์จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินค่าเสียหายไม่ได้ เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อนนั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 126,080บาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่แท้จริง มิได้รวมดอกเบี้ยอยู่ด้วยแต่อย่างใด และค่าเสียหายนี้เป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวและการคิดดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นเป็นการชอบแล้ว มิได้เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้ำซ้อนแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ประเด็นฎีกาข้อสุดท้าย เรื่อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้นเห็นว่า โจทก์เบิกความว่า โจทก์จำยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถพิพาทไป เพราะมิฉะนั้นจะถูกจับกุม ร้อยตำรวจเอกพลศิลป์ ฝ่ายจำปาพยานโจทก์เบิกความว่า พยานไม่ได้จับกุมโจทก์ เพราะถือว่าโจทก์ไม่มีเจตนาในการกระทำผิด และพยานยึดรถพิพาทเป็นของกลางในคดีเพื่อคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง จะเห็นได้ว่า หากโจทก์ขัดขืนมิ ยอมให้ยึดรถพิพาทรูปการณ์อาจจะเป็นอย่างอื่นได้ โจทก์มีเหตุอันสมควรที่จะคาดคิดได้ว่า ถ้าโจทก์ไม่ยอมให้ยึดรถพิพาทโจทก์อาจจะถูกร้อยตำรวจเอกพลศิลป์จับกุม กรณีหาใช่เป็นการยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ซึ่งมีอายุความ 3 เดือนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 ไม่คำพิพากษาฎีกาที่ 2367/2516 ที่จำเลยทั้งสองอ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงจะนำมาเปรียบเทียบกันหาได้ไม่ อายุความในคดีนี้ต้องใช้อายุความธรรมดา 10 ปี ตามมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share