คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4881/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเพื่อจะนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างคำพยานโจทก์และให้เห็นว่าตนมีทรัพย์สินซึ่งมีราคาพอชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือไม่ควรตกเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดี และพยานหลักฐานดังกล่าวก็เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว ก็มีอำนาจที่จะรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ซึ่งในชั้นนี้และในกรณีนี้หมายถึงมีอำนาจอนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติม และทำการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้เอง ส่วนการสืบพยานที่จะกระทำต่อไปนั้น คู่ความยังคงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกระบวนพิจารณาที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 หรือมาตรา 89 เป็นต้นแล้วแต่กรณี วิธีการนำสืบพยานหลักฐานในคดีล้มละลายนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 การที่มาตรา 14 แห่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483บัญญัติไว้ว่าในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้ ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 นั้น มิได้หมายความว่าศาลจำต้องรับฟังพยานหลักฐานที่นำสืบโดยวิธีที่มิชอบด้วยกฎหมาย เอกสารแสดงการตีราคาทรัพย์สินที่บริษัทเอกชนทำขึ้นซึ่งจำเลยนำมาเป็นพยานหลักฐานด้วยการถ่ายสำเนามาโดยไม่มีต้นฉบับมาแสดงและโจทก์จำเลยมิได้ตกลงกันว่าสำเนาเอกสารฉบับดังกล่าวถูกต้องแล้ว ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอนุญาตให้นำสำเนามาสืบเนื่องจากต้นฉบับหาไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยหรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นและมิใช่สำเนาเอกสารที่อยู่ในความอารักขาของทางราชการที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องรับรองตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 แต่อย่างใดยิ่งกว่านั้นการนำสืบเอกสารดังกล่าวของจำเลยเป็นการนำสืบเพื่อหักล้างคำพยานโจทก์ที่นำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่กฎหมายสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ในเวลาที่พยานโจทก์เบิกความ จำเลยหาได้นำเอกสารดังกล่าวมาถามค้านเพื่อให้พยานโจทก์มีโอกาสอธิบายข้อความในเอกสารดังที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 กำหนดไว้ไม่ เอกสารดังกล่าวจึงเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยมิชอบด้วยกระบวนพิจารณาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เมื่อโจทก์ได้คัดค้านแล้วดังนั้น เอกสารและคำพยานที่เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว จึงเป็นเอกสารและคำพยานที่ต้องห้าม จะรับฟังหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คเงินสดขีดคร่อมของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสภากาชาดไทย จำนวนเงิน 1,200,000 บาทมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อที่ดินส่วนที่ค้าง ครั้นเช็คถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยอีกไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง โดยมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า30 วัน จำเลยแจ้งเป็นหนังสือถึงโจทก์ยอมรับว่าเป็นหนี้เงินต้นตามเช็คต่อโจทก์อยู่จริงและขอผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท จำเลยไม่สามารถจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์และเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ได้ ทั้งทรัพย์สินของจำเลยก็ไม่มีเพียงพอที่จะชำระหนี้ จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า เช็คฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องมีมูลหนี้ไม่ถึง1,200,000 บาท เนื่องจากจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไปบางส่วนโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 1,200,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2532 เป็นเงินจำนวน 86,054.79 บาท โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จำเลยไม่เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่ได้เป็นหนี้รายอื่น ๆตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยระบุพยานเพิ่มเติมเป็นเอกสารและภาพถ่ายภายหลังเสร็จการสืบพยานหลักฐานโจทก์แล้ว เป็นการเอาเปรียบโจทก์และเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ควรรับฟังและฟังไม่ได้ว่าจำเลยอาจชำระหนี้ได้หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ในข้อนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายหลังเสร็จการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมโดยอ้างเอกสารและภาพถ่าย คือ สำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ล.2 หนังสือรับรองการประเมินราคาที่ดินและสำเนารายงานการประเมินราคาที่ดินพร้อมอาคารบ้านพักเอกสารหมาย ล.3 ล.4 และภาพถ่ายบ้านพักหมาย ล.5 ถึง ล.8 เป็นพยานหลักฐาน โดยที่จำเลยน่าจะทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะต้องนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบและพยานหลักฐานทั้งหมดนั้นก็อยู่ในครอบครองของจำเลยอยู่แล้ว เว้นแต่รายการไถ่ถอนจำนองในโฉนดที่ดินฉบับหมาย ล.2 รายการเดียวเท่านั้นที่เพิ่งมีขึ้นหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จึงเป็นการระบุพยานเพิ่มเติมล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 เดิมวรรคสาม และเอกสารที่ระบุเพิ่มเติมนั้นก็ไม่มีการยื่นต่อศาลและส่งให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งสำเนาเอกสารนั้น ๆ ก่อนวันสืบพยานอย่างน้อย 3 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 เดิมอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเพราะวันสืบพยานล่วงเลยมาจนเสร็จการสืบพยานหลักฐานของโจทก์แล้ว แต่ศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมเพื่อให้มีการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็เห็นพ้องด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเพื่อจะนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างคำพยานโจทก์และให้เห็นว่าตนมีทรัพย์สินซึ่งมีราคาพอชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ควรตกเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดี และพยานหลักฐานดังกล่าวก็เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว ก็มีอำนาจที่จะรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 153 ซึ่งในชั้นนี้และในกรณีนี้หมายถึงมีอำนาจอนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติม และทำการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้นั่นเอง ส่วนการสืบพยานที่จะกระทำต่อไปนั้น คู่ความยังคงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกระบวนพิจารณาที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 หรือมาตรา 89 เป็นต้นแล้วแต่กรณี ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อเสร็จการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อน ในกรณีเห็นได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจเปิดช่องทางให้จำเลยได้นำสืบพยานหลักฐานนั้น ๆ ตามกระบวนพิจารณาที่กฎหมายกำหนดไว้เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมดุลพินิจของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงเหมาะสมแก่รูปเรื่องแล้ว ส่วนพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบจะมีน้ำหนักฟังได้เพียงใด และวิธีการนำสืบจะเป็นไปโดยชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งจะได้วินิจฉัยต่อไปส่วนข้อที่พยานอ้างว่าที่ดินแปลงนี้พร้อมด้วยอาคารบ้านพักมีราคาตามที่บริษัทอเมริกันแอ็พเพรซัล จำกัด ประเมินไว้เป็นเงิน1,800,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น เห็นว่า เอกสารหมายจ.4 นี้เป็นเอกสารแสดงการตีราคาทรัพย์สินที่บริษัทเอกชนทำขึ้น ซึ่งจำเลยนำมาเป็นพยานหลักฐานด้วยการถ่ายสำเนามาโดยไม่มีต้นฉบับมาแสดง และโจทก์จำเลยมิได้ตกลงกันว่าสำเนาเอกสารฉบับนี้ถูกต้องแล้ว ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอนุญาตให้นำสำเนามาสืบเนื่องจากต้นฉบับหาไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยหรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น และมิใช่สำเนาเอกสารที่อยู่ในความอารักขาของทางราชการที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องรับรองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 แต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นการนำสืบเอกสารฉบับนี้ของจำเลยเป็นการนำสืบเพื่อหักล้างคำพยานโจทก์ที่นำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่กฎหมายสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ในเวลาที่พยานโจทก์เบิกความ จำเลยหาได้นำเอกสารดังกล่าวมาถามค้านเพื่อให้พยานมีโอกาสอธิบายข้อความในเอกสารฉบับนี้ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 กำหนดไว้ไม่เอกสารฉบับนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยมิชอบด้วยกระบวนพิจารณาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งเมื่อจำเลยนำมาสืบโจทก์ก็ได้คัดค้านแล้วตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 2 ธันวาคม2534 วิธีการนำสืบพยานหลักฐานในคดีล้มละลายนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 การที่มาตรา 14แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้ ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9หรือมาตรา 10 นั้น มิได้หมายความว่าศาลจำต้องรับฟังพยานหลักฐานที่นำสืบโดยวิธีที่มิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้เอกสารหมาย ล.4และคำพยานที่เกี่ยวกับเอกสารหมาย ล.4 จึงเป็นเอกสารและคำพยานที่ต้องห้าม จะรับฟังหาได้ไม่ ส่วนข้อที่ว่าปัจจุบันนี้ที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยมีราคามากกว่า 4,000,000 บาท นั้น เป็นคำเบิกความของนางกิ่งเพชรพยานแต่ผู้เดียวไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะให้เชื่อถือ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบฟังได้เพียงว่าจำเลยมีทรัพย์สินเป็นที่ดินและบ้านซึ่งอาจนำมาชำระหนี้โจทก์ได้ประมาณ 814,000 บาท เท่านั้น จึงยังไม่ใกล้เคียงกับจำนวนหนี้ซึ่งมีจำนวนเกินกว่า 1,280,000 บาท ส่วนการที่จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทอาร์ติเคิลคอร์ปอเรชั่น จำกัด นั้น ไม่ได้ความว่าจำเลยมีรายได้จากบริษัทหรือไม่ และบริษัทเลิกดำเนินกิจการหรือยัง ส่วนจำนวนหุ้นของจำเลยนั้น ปรากฏตามรายนามผู้ถือหุ้นว่าจำเลยมีหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวเพียง 1 หุ้น มูลค่า 100 บาท เท่านั้น นอกจากนี้จำเลยถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ถูกศาลออกหมายจับและหลบหนีการจับกุมตลอดมาโดยไม่ยอมเข้ามอบตัวสู้คดี ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยอาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ในเมื่อพฤติการณ์ของจำเลยต้องด้วยเหตุที่กฎหมายสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว และจำเลยไม่สามารถนำสืบหักล้างได้ ประกอบกับจำเลยเป็นหนี้โจทก์มีจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท และเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน จึงเป็นอันได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 9 แล้วชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตามมาตรา 14 ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด

Share