คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1191/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การเท่ากับสั่งไม่รับคำให้การจำเลย คดีจึงปรับเข้าอยู่ใน ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 228(3) ประกอบด้วยมาตรา 18 วรรค 3 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้.

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้เลิกหุ้นส่วนและชำระบัญชี จำเลยที่ ๑ ได้รับหมายเรียก แต่ไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอเลื่อนกำหนดยื่นคำให้การ เมื่อพ้นกำหนดยื่นคำให้การแล้วในวันเดียวกันนั้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ยื่นคำให้การภายใน ๗ วัน และสั่งยกคำร้องของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การภายในกำหนด ต่อมามีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอีกนายหนึ่งทำคำสั่งในรายงานพิจารณาว่า มีผู้พิพากษาผิดพลาดสั่งคำร้องของจำเลยที่ ๑ จึงควรให้แก้ไขเสียใหม่ ให้ถือว่าจำเลยยื่นคำร้องขอยืดเวลายื่นคำให้การ เมื่อขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ขอให้พิจารณาฝ่ายเดียวได้ และให้ถือว่าจำเลยทั้ง ๒ คนขาดนัดชั้นให้การ ให้นัดพิจารณาสืบพะยานโจทก์ฝ่ายเดียว จำเลยทั้ง ๒ อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา พิพากษายกอุทธรณ์
จำเลยที่ ๒ ฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยที่ ๒ ขาดนัดด้วยนั้น เท่ากับสั่งไม่รับคำให้การจำเลย คดีจึงปรับเข้าอยู่ใน ป.ม.วิ.แพ่ง มาตรา ๒๒๘(๓) ประกอบกับมาตรา ๑๘ วรรค ๓ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ และตามท้องสำนวนปรากฎชัดว่า จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การตามกำหนดนัด
พิพากษาแก้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิให้ถือว่า จำเลยที่ ๒ ขาดนัด

Share