แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ซีอิ๊วของกลางส่วนหนึ่งที่ขวดปิดฉลากเครื่องหมายการค้าปลอมระบุว่าผลิตที่แห่งหนึ่ง แต่ความจริงผลิตที่อีกแห่งหนึ่ง เช่นนี้เป็นการหลอกลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องสถานที่ที่ผลิต ซีอิ๊วของกลางจึงเป็นอาหารปลอม ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 27 (4)
โจทก์มีแต่คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยว่า จำเลยซื้อเครื่องหมายการค้าปลอมจากผู้อื่นแล้วให้ลูกจ้างปิดฉลากเครื่องหมายการค้านั้นที่ขวดซีอิ๊ว โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำปลอมขึ้น พฤติการณ์เพียงเท่านี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์และข้อความในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 272 (1) ซึ่งโจทก์มิได้ระบุขอให้ลงโทษ แต่ตามคำบรรยายฟ้องพอถือได้ว่าบรรยายฟ้องรวมการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 272 (1) ไว้ด้วย จึงลงโทษจำเลยตามมาตรา 272 (1) ซึ่งมีโทษเบากว่ามาตรา 273 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคท้าย และการกระทำผิดดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกา.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ผู้เสียหายเป็นผู้ประกอบกิจการผลิตซีอิ๊วยี่ห้อหยั่นหว่อหยุ่นเพื่อจำหน่าย และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าตราเด็กสมบูรณ์ จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายแล้วนำไปปิดขวดซีอิ๊วที่จำเลยกับพวกผลิตอันเป็นอาหารปลอมขึ้นเพื่อจำหน่ายเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย และเพื่อลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องผู้ผลิต ส่วนผสม คุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์และสถานที่ผลิต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๕, ๒๗, ๕๙, ๖๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๓, ๘๔, ๙๑
ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยและนายจันทร์ ลุผล นางสาวมะลิวัลย์ ไชยเนตร นางสาวบุญส่ง ไชยเนตร จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๗๘๙๖/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้น มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.๒๕๒๒มาตรา ๒๕, ๒๗, ๕๙ จำคุกคนละ ๑ ปี และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๓ จำคุกคนละ ๖ เดือนรวมจำคุกคนละ ๑ ปี ๖ เดือนชั้นสอบสวนรับสารภาพ ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ ๑ ปีโทษจำคุกสำหรับจำเลยคดีอาญาหมายเลขแดงดังกล่าวให้รอการลงโทษไว้คนละ ๒ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยผลิตอาหารปลอมส่วนปัญหาปลอม เครื่องหมายการค้าของผู้อื่น เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีใครรู้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำปลอมขึ้น คงมีแต่คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยว่า จำเลยซื้อเครื่องหมายการค้าปลอมจากผู้อื่นแล้วให้ลูกจ้างของจำเลยปิดฉลากเครื่องหมายการค้านั้นที่ขวดซีอิ๊วเท่านั้น พฤติการณ์เพียงเท่านี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๓ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้ แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์และข้อความในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา๒๗๒ (๑) แม้โจทก์มิได้ระบุขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ด้วยก็ตาม แต่ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์พอจะถือได้ว่าได้บรรยายฟ้องรวมการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา ๒๗๒ (๑) ไว้ด้วยแล้ว ศาลลงโทษจำเลยตามความผิดมาตรานี้ ซึ่งมีโทษเบากว่ามาตรา๒๗๓ ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ วรรคท้าย และการกระทำผิดดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่น ๆ ที่มิได้ฎีกาด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยและนายจันทร์ ลุผล นางสาวมะลิวัลย์ ไชยเนตร นางสาวบุญส่ง ไชยเนตร จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่๑๗๘๙๖/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้น มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๗๒ (๑) จำคุกคนละ ๓ เดือน รวม ๒ กระทงจำคุกคนละ ๑ ปี ๓ เดือน ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามคงจำคุกคนละ ๑๐ เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์.