คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศของรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องคัดสำเนาประกาศไว้ณที่ต่างๆ ตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 นั้น เป็นประกาศ ซึ่งรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามบท แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้อันเป็นเรื่องที่จะให้มีผลบังคับแก่ประชาชนทั่วไป เช่นประกาศกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ เป็นต้น ส่วนประกอบยกเลิกประกาศนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ต้องการให้ประกาศนั้นมีผลบังคับแก่ประชาชนต่อไป จึงหาจำต้องนำไปปิดในที่ต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ไม่ ก็ย่อมมีผลใช้ได้
ประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการมีข้อความยกเลิกประกาศฉะบับแรก ๆ ที่กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ไว้ แล้วมีข้อความกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ขึ้นใหม่ แต่ประกาศฉบับนี้หาได้มีการคัดสำเนาปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ว่าการกำนัน หรือที่สาธารณะสถานในท้องที่ในเขตที่เกี่ยวข้องไม่ ดังนี้ ประกาศฉะบับหลังนี้คงมีผลใช้ได้เฉพาะที่ให้ยกเลิกประกาศฉะบับแรก ๆ ที่ กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้เท่านั้น

ย่อยาว

คดีสามสำนวนนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยแต่ละคนว่ามีไม้สักแปรรูปเกินกว่า ๔ เมตรลูกบาศก์ และจำนวนไม้เกินกว่า ๒๐ ต้นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตในเขตควบคุมไม้แปรรูป ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๗,๔๘,๗๓,๗๔
จำเลยต่อสู้ว่า มีไม้ไว้สำหรับสร้างบ้านเรือน และเป็นไม้ที่ตัดฟันจากที่ของเอกชน
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ประกาศควบคุมเขตไม้แปรรูปของกระทรวงเกษตราธิการ ( ฉบับที่ ๓ ) ยังมิได้มีการคัดสำเนาประกาศปิดไว้ในที่ต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘,๗๔ ให้ปรับคนละ ๔๐๐ บาท ของกลางริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิมได้มีประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการกำหนดให้จังหวัดสุโขทัยเป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ประกาศฉะบับนี้ได้มีการคัดสำเนาปิดไว้ ณที่ว่าการอำเภอ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องครบถ้วนตามมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้แล้ว ต่อมาได้มีประกาศ (ฉบับที่ ๒) กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้เพิ่มเติมอีก ๒๕ จังหวัด และต่อมาก็ได้มีประกาศของรัฐมนตรี ( ฉะบับที่ ๓ ) ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ ขึ้น มีข้อความให้ยกเลิกประกาศทั้ง ๒ ฉะบับแรกเสีย และให้กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ในท้องที่ ๖๕ จังหวัด ซึ่งมีจังหวัดสุโขทัยอยู่ด้วย แต่ประกาศฉะบับหลังนี้หาได้มีการคัดสำเนาปิดไว้ ณที่ว่าการอำเภอ ที่ว่าการกำนันหรือที่สาธารณะสถานในท้องที่ของจังหวัดสุโขทัยไม่
ศาลฎีกาเห็นวา การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการจะพึงยกเลิกประกาศของตนเองนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แม้จะมิได้นำประกาศเช่นว่านี้ไปปิดไว้ ณที่ว่าการอำเภอ ฯลฯ ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นการยอกเลิกที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกาศที่จะต้องคัดสำเนาประกาศไว้ ณที่ต่าง ๆ ตามความในมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ ๒๔๘๔ นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประกาศ ซึ่งรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามบทแห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้อันเป็นเรื่องที่จะให้มีผลบังคับแก่ประชาชนทั่วไป ส่วนการยกเลิกประกาศนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ต้องการให้ประกาศ อันรัฐมนตรีได้กำหนดขึ้นนั้นมีผลบังคับแก่อประชาชนต่อไป จึงหาจำต้องไปปิดไว้ในท้องที่ ๆ เกี่ยวข้องไม่ ฉะนั้นประกาศฉบับหลังจึงมีผลใช้ได้ในเรื่องยกเลิกประกาศ ๒ ฉะบับแรก จังหวัดสุโขทัยจึงหมดสภาพเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ คดีจึงลงโทษจำเลยไม่ได้
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share