คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3926/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยรับเก็บสินค้าไว้เพื่อประโยชน์ของกรมศุลกากรในการเรียกเก็บภาษีเท่านั้น จำเลยจึงมิใช่นายคลังสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 770 เมื่อสินค้าเกิดเสียหายจึงไม่อาจนำบทบัญญัติอันว่าด้วยการรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 772 ประกอบด้วยมาตรา 616 มาใช้บังคับ
จำเลยจะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมฝากทรัพย์เว้นแต่จะฝากเกิน 3 วัน จำเลยจึงจะคิดค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสินค้าเพิ่มขึ้นทุกวัน เพื่อเป็นการลงโทษให้เจ้าของสินค้ารีบนำสินค้าออกไป การที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมฝากทรัพย์เมื่อเกินกำหนด 3 วัน นับแต่เจ้าของสินค้านำสินค้าเข้าไว้ในโรงพักสินค้าและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นทุกวันนั้น โดยพฤติการณ์พึงคาดหมายได้ว่าจำเลยรับฝากทรัพย์เพื่อที่จะได้รับบำเหน็จค่าฝากทรัพย์เท่านั้น จึงถือได้ว่าจำเลยรับฝากทรัพย์โดยมีค่าบำเหน็จ
ไม่ปรากฏว่าเกิดเพลิงไหม้สินค้าในโรงพักสินค้าเพราะเหตุใดสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากความสะเพร่าของบุคคลที่ทิ้งบุหรี่หรืออย่างอื่น จำเลยได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆ มีหน่วยรักษาความปลอดภัยอยู่ภายนอกตลอดเวลา 24 ชั่วโมง มีอุปกรณ์เคมีในการดับเพลิง มีคำสั่งห้ามสูบบุหรี่ภายในโรงพักสินค้าเมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วยามสายตรวจของจำเลยก็ได้วิทยุแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ มีรถดับเพลิงมาช่วยแต่ไม่อาจดับเพลิงได้ทันท่วงที เพราะเป็นเวลาปิดโรงพักสินค้าแล้วเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่อาจเปิดประตูโรงพักสินค้าได้โดยลำพัง จะต้องให้เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรร่วมเปิดด้วย จึงไม่อาจดับเพลิงถึงต้นเพลิง หรือสกัดเพลิงที่กำลังลุกไหม้ในโรงพักสินค้าได้ ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ ดังนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 659 วรรคสองแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นนายคลังสินค้า ไม่ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการรับเก็บของในคลังสินค้าให้เพียงพอ ทำให้เกิดเพลิงไหม้สินค้าเสียหาย โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าเสียหายและรับช่วงสิทธิเป็นเงิน ๑๑,๐๒๐,๕๓๘.๑๒ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้รับฝากสินค้าในฐานะที่เป็นคลังสินค้าแต่รับฝากเพื่อความสะดวกของพ่อค้า หากผู้ฝากสินค้านำสินค้าออกจากโรงเก็บสินค้าภายใน ๓ วัน ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม การที่เกิดเพลิงไหม้เป็นอุบัติเหตุและเหตุสุดวิสัย จำเลยป้องกันดูแลอย่างดีแล้ว ไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๗๐ บัญญัติว่า ‘อันว่า นายคลังสินค้านั้น คือบุคคลผู้รับทำการเก็บรักษาสินค้าเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน’ ตามคำเบิกความของนายชาญ พยานจำเลยได้ความว่าบริษัทเรือนำสินค้าเข้าเก็บในโรงพักสินค้า ๑๒ ของจำเลย เพื่อรอเจ้าพนักงานศุลกากรเรียกเก็บภาษี ซึ่งนายบุญดี พยานโจทก์ก็เบิกความยอมรับ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายชาญพยานจำเลยต่อไปว่า จำเลยไม่ได้เรียกค่าธรรมเนียมใดๆ จากการนำสินค้าเข้าพักในโรงเก็บสินค้าเว้นแต่กรณีที่เจ้าของสินค้าไม่มารับสินค้าภายใน ๓ วัน จำเลยจึงจะคิดค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสินค้าเพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นการลงโทษเพื่อให้เจ้าของสินค้ารีบนำสินค้าออกไป เพราะจำเลยจะต้องใช้พื้นที่ในการรับสินค้าจากเรือลำอื่น แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะให้มีการเก็บสินค้าไว้ในโรงพักสินค้าเป็นเวลานานวันเพื่อหารายได้อันเป็นประโยชน์ในทางการค้า นอกจากนี้นายชาญยังเบิกความว่าเมื่อผู้ฝากสินค้าไม่มารับสินค้า และกรมศุลกากรได้ยึดและให้สินค้านั้นเป็นของรัฐบาลหรือองค์การกุศลต่างๆ จำเลยจะไม่ได้รับค่าฝากเลย ทำให้เห็นได้ชัดว่าจำเลยรับฝากสินค้าในโรงเก็บสินค้าโดยมิได้ประสงค์จะคิดค่าฝากแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยรับเก็บสินค้าไว้เพื่อประโยชน์ของกรมศุลกากรในการเรียกเก็บภาษีเท่านั้น จำเลยจึงมิใช่นายคลังสินค้าตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อสินค้าเกิดเสียหายขึ้น จึงไม่อาจนำบทบัญญัติอันว่าด้วยการรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๗๒ ประกอบด้วยมาตรา ๖๑๖ มาใช้บังคับแก่จำเลยได้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อที่สองของโจทก์มีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วหรือไม่ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อเจ้าของสินค้านำสินค้าเข้าไว้ในโรงพักสินค้าเพื่อเสียภาษีศุลกากรนั้น จำเลยจะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมฝากทรัพย์ เว้นแต่จะเกิน ๓ วัน หากเจ้าของสินค้าไม่มารับสินค้าภายใน ๓ วัน จำเลยจะคิดค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสินค้าเพิ่มขึ้นทุกวัน เพื่อเป็นการลงโทษให้เจ้าของสินค้ารีบนำสินค้าออกไปเพราะว่าจำเลยจะต้องใช้พื้นที่ในการรับสินค้าจากเรือลำอื่น เห็นว่าการที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมฝากทรัพย์เมื่อเกินกำหนด ๓ วันนับแต่เจ้าของสินค้านำสินค้าเข้าไว้ในโรงพักสินค้าและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นทุกวันนั้น โดยพฤติการณ์พึงคาดหมายได้ว่า จำเลยรับฝากทรัพย์เพื่อจะได้รับบำเหน็จค่าฝากทรัพย์เท่านั้น จึงถือได้ว่าจำเลยรับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จค่าฝาก กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๙ วรรคสองที่บัญญัติว่า’ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝากท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมือพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย’ สำหรับกรณีเรื่องนี้จากหลักฐานพยานโจทก์และจำเลยที่นำสืบมาไม่ปรากฏว่าเกิดเพลิงไหม้เพราะเหตุใด คงมีแต่ร้อยตำรวจเอกธานินทร์พยานโจทก์ซึ่งรับราชการที่กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ เบิกความว่า ได้ไปตรวจที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าอาคารที่เกิดเหตุเป็นคอนกรีตติดไฟยาก จุดเกิดเหตุอยู่ด้านหลังของโรงพักสินค้า บริเวณนั้นไม่มีสายไฟฟ้าและซากวัตถุเคมีไวไฟ สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากความสะเพร่าของบุคคลที่ทิ้งบุหรี่หรืออย่างอื่น เห็นว่าตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกธานินทร์ก็ไม่แน่ชัดว่าเพลิงไหม้เพราะเหตุใด ในเรื่องเกี่ยวกับความระมัดระวังในการเก็บสินค้านั้น นายชาญ พยานจำเลยเบิกความฟังได้ว่าจำเลยได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่างๆ ตามเอกสารหมาย ล.๑ โรงพักสินค้าที่เกิดเหตุ โครงสร้างหลังคาทำด้วยโลหะทั้งหมด กั้นด้วยอิฐบล็อกมีประตูกั้นปิดเปิดหนาแน่น เมื่อปิดประตูแล้วคนภายนอกจะเข้าไปไม่ได้ เพราะจะปิดกุญแจไว้ ๒ ดอกคือของกรมศุลกากร ๑ ดอก และของจำเลย ๑ ดอก และจำเลยมีหน่วยรักษาความปลอดภัยอยู่ภายนอกตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง กับมีนายฉลวย พยานจำเลยทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกโรงพักสินค้าที่เกิดเหตุเบิกความว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยโรงพักสินค้านั้น ถ้าในเวลาราชการจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลภายในโรงพักสินค้าด้วยส่วนภายนอกจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด ๒๔ ชั่วโมง และมีอุปกรณ์เคมีในการดับเพลิงไว้ในโรงพักสินค้าจำนวน ๑๐ เครื่อง กับมีท่อสูบน้ำสำหรับดับเพลิงด้วยนอกจากนั้นยังมีคำสั่งห้ามสูบบุหรี่ภายในโรงพักสินค้าอีก ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวไม่มีพิรุธอันใดรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความได้เป็นอย่างดี และพยานจำเลยทั้งสองปากยังเบิกความต้องกันว่าจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้แล้ว ผลการสอบสวนไม่ทราบว่าเพลิงไหม้เพราะเหตุใด แต่ไม่ได้ความว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของจำเลย ได้พิเคราะห์รายงานของคณะกรรมการสอบสวนเรื่องผลการศึกษาเหตุเพลิงไหม้ที่โรงพักสินค้า ๑๒ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕ ที่โจทก์อ้างแล้ว (เอกสารอันดับที่ ๒๙/๕ ในสำนวน) ปรากฏว่าเมื่อมีการขนสินค้าเข้าในโรงพักสินค้าแล้วประมาณ๑๗ นาฬิกาเศษ เจ้าหน้าที่ของจำเลยและกรมศุลกากรได้ร่วมกันปิดประตูโรงพักสินค้าตามระเบียบเมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วยามสายตรวจของจำเลยก็ได้วิทยุแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบมีรถดับเพลิง ๒ คันของการปิโตรเลียมและรถดับเพลิงของเจ้าหน้าที่ตำรวจท่าเรือมาช่วยดับเพลิงแต่ไม่อาจดับเพลิงได้ทันท่วงทีเพราะเป็นเวลาปิดโรงพักสินค้าแล้ว เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงไม่อาจเปิดประตูโรงพักสินค้าที่เกิดเหตุได้โดยลำพัง จะต้องให้เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรร่วมเปิดด้วย จึงไม่อาจดับเพลิงถึงต้นเพลิง หรือสกัดเพลิงที่กำลังลุกไหม้ในโรงพักสินค้าได้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้วจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน.

Share