แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า ‘ของมีค่า’ ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 หมายถึงทรัพย์สินที่มีคุณค่าอันมีลักษณะพิเศษทำนองเดียวกับเงินทองตรา ธนบัตร ฯลฯ เครื่องรับโทรทัศน์เป็นเพียงทรัพย์สินตามธรรมดาทั่ว ๆ ไปเท่านั้น ถึงแม้ราคาจะค่อนข้างสูงก็ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าตามความหมายแห่งบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์ยี่ห้อโซนี่ชนิดสีขนาด ๑๔ นิ้ว ราคา ๑๑,๑๕๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๒๕ จำเลยซึ่งประกอบอาชีพรับขนคนโดยสารจากกรุงเทพ ฯ ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ได้รับนางวิทราพันธ์ ถาวดีซึ่งเป็นตัวแทนและภริยาของโจทก์จากสถานีขนส่งหมอชิต พนักงานหรือตัวแทนของจำเลยได้รับมอบเครื่องเดินทางและเครื่องรับโทรทัศน์ดังกล่าวจากนางวิทราพันธ์ ครั้นรถโดยสารถึงจังหวัดเชียงใหม่ปรากฏว่าเครื่องรับโทรทัศน์สูญหายไป โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระราคาจำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาเครื่องรับโทรทัศน์เป็นเงิน ๑๑,๑๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์จำเลยไม่เคยรับมอบเครื่องรับโทรทัศน์จากโจทก์หรือตัวแทนของโจทก์ เครื่องรับโทรทัศน์เป็นของมีค่าซึ่งโจทก์มิได้แจ้งราคาหรือสภาพแห่งของไว้ขณะส่งมอบแก่จำเลย ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท แต่ตามเงื่อนไขความรับผิดของจำเลยกำหนดไว้ไม่เกิน ๓๐๐ บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเครื่องรับโทรทัศน์ตามฟ้อง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา ๑๑,๑๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำว่า ‘ของมีค่า’ ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๐ หมายถึงทรัพย์สินที่มีคุณค่าอันมีลักษณะพิเศษทำนองเดียวกับเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า หรืออัญมณี เครื่องรับโทรทัศน์เป็นเพียงทรัพย์สินตามธรรมดาทั่ว ๆ ไปเท่านั้น ถึงแม้ราคาจะค่อนข้างสูง ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าตามความหมายแห่งบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์มิได้บอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยผู้ขนส่ง จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ราคาเครื่องรับโทรทัศน์ให้โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษายืน.