แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดแก่โจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 2และจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อไว้ เอกสารดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เมื่อจำเลยที่ 1ยังมิได้ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 จึงถือว่าจำเลยที่ 1ยังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวความผูกพันตามสัญญาประกันภัยซึ่งโจทก์ที่ 1 ผู้รับประกันภัยทำไว้กับโจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยย่อมยังไม่ระงับไป เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้จ่ายค่าซ่อมรถที่เอาประกันภัยไว้แทนโจทก์ที่ 2 ไปแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2ผู้เอาประกันภัยได้ตามจำนวนเงินที่โจทก์ที่ 1 ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกินจำนวนที่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเดิม ระงับไป และทำให้ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อมูลหนี้ละเมิดเดิม ระงับไปแล้วย่อมทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3ที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1ระงับไปด้วยโจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 และเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ โจทก์ที่ 1 คงรับช่วงสิทธิโจทก์ที่ 2 เรียกร้องได้เฉพาะจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 รับประกันภัยรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน6 ข.5894 กรุงเทพมหานคร ไว้จากโจทก์ที่ 2 ในวงเงิน 50,000 บาทจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ. 12633 ด้วยความประมาทชนท้ายรถของโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายและเป็นเหตุให้รถของโจทก์ที่ 2 ไปชนกระแทกกับรถยนต์เก๋งคันอื่นซึ่งวิ่งอยู่ข้างหน้าให้ได้รับความเสียหายอีกทอดหนึ่ง จำเลยที่ 1 รับสารภาพชั้นสอบสวนว่าขับรถด้วยความประมาทจริง ขณะเกิดเหตุรถของโจทก์ที่ 2 อยู่ระหว่างอายุสัญญาประกันภัยของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้จ่ายค่าซ่อมและค่าอุปกรณ์แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 28,405 บาท โจทก์จำเลยที่ 2ต้องเสียค่าว่าจ้างรถยนต์คันอื่นไปประกอบธุรกิจวันละ 300 บาทรวม 60 วัน เป็นเงิน 18,000 บาท รถของโจทก์ที่ 2 เมื่อซ่อมเสร็จแล้วเสื่อมสภาพลงขอคิดค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 15,000 บาท จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และกระทำการในทางการที่จ้างจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามชดใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 30,505 บาท และชดใช้เงินแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 35,475 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 28,405 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และของต้นเงิน 33,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชดใช้เสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีหลักฐานว่าโจทก์ที่ 1 รับช่วงสิทธิโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ. 12633 มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ทำการตามทางการค้าที่จ้างจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ที่ 2กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในเรื่องละเมิดคดีนี้แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “… โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ที่ 1ได้รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากโจทก์ที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.3โจทก์ที่ 1 จึงมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ที่ 2 ที่จะต้องซ่อมแซมความเสียหายของรถยนต์ให้โจทก์ที่ 2 หากจะฟังว่าโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามเอกสารหมายจ.6 สัญญาดังกล่าวคงมีผลผูกพันเฉพาะโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ไม่ เพราะโจทก์ที่ 1 มิได้เข้าร่วมเป็นคู่สัญญาดังกล่าวด้วยเมื่อโจทก์ที่ 1 ได้จัดการซ่อมแซมความเสียหายของรถโจทก์ที่ 2 แล้วโจทก์ที่ 1 จึงเข้ารับช่วงสิทธิจากโจทก์ที่ 2 ที่จะฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม ศาลฎีกาเห็นว่า ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.6 มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 30,730 บาทโดยผ่อนชำระเป็น 2 งวด งวดแรกจะชำระในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2524เป็นเงิน 15,365 บาท งวดที่ 2 จะชำระในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2524เป็นเงิน 15,365 บาท ซึ่งโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าว เอกสารดังกล่าวจึงถือได้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2ตามสัญญาดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาความผูกพันตามสัญญาประกันภัยซึ่งโจทก์ที่ 1 จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ย่อมยังไม่ระงับไป เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้จ่ายค่าซ่อมรถแทนโจทก์ที่ 2 ไปแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2ผู้เอาประกันภัยได้ตามจำนวนเงินที่โจทก์ที่ 1 ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกินจำนวนที่โจทก์ 2 มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 1ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถจำนวน 28,405 บาทให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 เข้ารับช่วงสิทธิคือวันที่ 13 เมษายน 2524 อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระค่าซ่อมรถไปตามเอกสารหมาย จ.7 ส่วนโจทก์ที่ 1 จะมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชดใช้ค่าซ่อมรถร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่นั้นจะวินิจฉัยในปัญหาข้อต่อไป
โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อสุดท้ายว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.6 จึงต้องถือว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น หนี้ตามมูลละเมิดย่อมไม่ระงับไป สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองในมูลละเมิดจึงยังคงมีอยู่ จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์ทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันขึ้นแล้ว ก็ต้องถือว่ามีสัญญาประนีประนอมยอมความเกิดขึ้นแล้ว และมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความหามีผลทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความยังไม่เกิดขึ้น หรือไม่มีผลใช้บังคับดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 2กับจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเดิมระงับไปและทำให้ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเมื่อมูลหนี้ละเมิดเดิมระงับไปแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ละเมิดนั้น และย่อมทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 นั้น ระงับไปด้วย โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้เช่นกัน โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วนฎีกาของโจทก์ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 28,405 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 13 เมษายน 2524จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 2,000 บาทเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดีค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.