แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอกสารคำมั่นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับจำเลย ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2496 มีข้อความสำคัญว่า จำเลยมอบฉันทะให้เจ้าหนี้รับเงินค่ารับเหมาส่งหินจากกรมทางหลวงแผ่นดิน 495,980 บาท และเพื่อเป็นการตอบแทน เจ้าหนี้จึงจ่ายเงินให้จำเลย 450,000บาท เมื่อพิจารณาเอกสารนี้รวมกับหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลแพ่งคดีดำที่ 875/2506ระหว่างบริษัทสหธนกิจ โจทก์ บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำเลยซึ่งมีข้อความว่า”ข้อ 2 จำเลยยอมให้เอาหนี้ที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามข้อ 1 ไปหักกับดอกเบี้ยรายต้นเงิน 336,000 บาท ที่โจทก์ยังไม่ได้ฟ้องอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ซึ่งยังค้างอยู่ถึงวันนี้…..” ตามคำขอรับชำระหนี้รายการอันดับ 4 รายพิพาทมีความว่า “4 หนี้เงินกู้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2496 ต้นเงินเดิม450,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีลูกหนี้ผ่อนต้นมาคงค้างต้น 336,000 บาท” แสดงว่าหนี้ราย 336,000 บาทคือหนี้ราย 450,000 บาทแต่เดิมนั่นเอง เมื่อพิจารณาเอกสารคำมั่นสัญญาและสัญญาประนีประนอมยอมความประกอบกันแล้วเห็นได้ชัดว่าจำเลยกู้เงินจำนวนดังกล่าวจากเจ้าหนี้เอกสารทั้งสองฉบับนี้รวมกันจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่เจ้าหนี้นำพยานบุคคลมาสืบว่าเป็นหนี้เงินกู้ จึงหาใช่นำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่
ย่อยาว
บริษัทสหธนกิจไทย จำกัด ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งเป็นหนี้ตามคำพิพากษาและเงินกู้ 2,085,158 บาท 36 สตางค์ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระรวม 3 ราย เป็นเงิน 1,668,604.43 บาท ส่วนที่เกินมาให้ยกศาลแพ่งมีคำสั่งเห็นด้วย
บริษัทสหธนกิจไทยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้รายการอันดับ 4เป็นจำนวน 357,264.66 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดผู้ล้มละลาย ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามเอกสารคำมั่นสัญญาระหว่างบริษัทสหธนกิจไทยจำกัด เจ้าหนี้ กับบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด จำเลย ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2496 มีข้อความสำคัญว่า บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด จำเลยมอบฉันทะให้บริษัทสหธนกิจไทย จำกัด เจ้าหนี้ รับเงินค่ารับเหมาส่งหินจากกรมทางหลวงแผ่นดินจำนวน 495,980 บาท และเพื่อเป็นการตอบแทนบริษัทสหธนกิจไทย จำกัด เจ้าหนี้ จึงจ่ายเงินให้บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด จำเลย 450,000 บาท เอกสารนี้เมื่อพิจารณารวมกับหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลแพ่งคดีดำที่ 875/2506 ระหว่าง บริษัทสหธนกิจไทย จำกัด โจทก์ บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด จำเลย ลงวันที่ 5 เมษายน 2506 ซึ่งมีข้อความว่า “ข้อ 2. จำเลยยอมให้เอาหนี้ที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามข้อ 1. ไปหักกับดอกเบี้ยรายต้นเงิน 336,000 บาท ที่โจทก์ยังไม่ได้ฟ้อง อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ซึ่งยังค้างอยู่ถึงวันนี้……” ตามคำขอรับชำระหนี้รายการอันดับ 4 รายพิพาท “4. หนี้เงินกู้เมื่อ 7 ธันวาคม 2496 ต้นเงินเดิม 450,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ลูกหนี้ผ่อนต้นมาคงค้างต้น 336,000 บาท” แสดงว่า หนี้ราย 336,000 บาทคือหนี้ราย 450,000 บาทแต่เดิมนั้นเอง เมื่อพิจารณาเอกสารคำมั่นสัญญาและสัญญาประนีประนอมยอมความประกอบกันแล้ว เห็นได้ชัดว่าบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด จำเลย กู้เงินจำนวนดังกล่าวจากบริษัทสหธนกิจไทย จำกัด เจ้าหนี้ เอกสารทั้งสองฉบับนี้ร่วมกันจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญดังนั้นการที่เจ้าหนี้นำพยานบุคคลมาสืบว่าเป็นหนี้เงินกู้ จึงหาใช่นำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่
พิพากษายืน