แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หลังจากผู้ร้องเรียนได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาเรียกและรับเงินจากผู้ร้องเรียนจำนวน 120,000 บาท โดยอ้างว่าจะนำไปใช้วิ่งเต้นล้มคดีกับพนักงานอัยการและผู้พิพากษา แต่การเรียกและรับเงินนั้นได้กระทำที่บ้านของผู้ร้องเรียนและที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งอยู่ห่างไกลจากศาลชั้นต้นมาก ไม่มีผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล หรือเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้กระบวนพิจารณาของศาลดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็วส่วนกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหามาศาลกับผู้ร้องเรียนทุกนัดนั้นเป็นเพราะผู้ถูกกล่าวหามีภาระหน้าที่ในฐานะผู้รับมอบฉันทะจากนายประกัน ให้นำตัวผู้ร้องเรียนส่งศาลตามสัญญาขอปล่อยชั่วคราว และการพูดกับผู้ร้องเรียนว่าไม่ต้องกลัวถึงอย่างไรก็ไม่ติดคุกสามารถวิ่งเต้นได้อยู่แล้วนั้น ก็เป็นแต่เพียงการปลอบใจผู้ร้องเรียนให้คลายวิตกกังวลในผลคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเกี่ยวโยงเป็นกรรมเดียวกับการเรียกการรับเงินจำนวนดังกล่าวที่เกิดขึ้นนอกบริเวณศาล ดังนั้นแม้การหลอกลวงเรียกรับเงินว่าจะนำไปวิ่งเต้นล้มคดีกับพนักงานอัยการและผู้พิพากษาจะเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาร้ายแรง กระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของสถาบันในกระบวนการยุติธรรม สมควรที่จะลงโทษให้หลาบจำมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป แต่เมื่อการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นนอกบริเวณศาล กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากนางขวัญศรีหรือดำจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1234/2544 ของศาลชั้นต้น ได้มอบหมายให้นายสมชายมาร้องเรียนต่อจ่าศาลจังหวัดชลบุรีว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้พูดจาหลอกลวงนางขวัญศรีว่าสามารถวิ่งเต้นช่วยเหลือนางขวัญศรีโดยติดต่อกับพนักงานอัยการและผู้พิพากษาในศาลจังหวัดชลบุรีซึ่งจะทำให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกในคดีข้างต้น นางขวัญศรีหลงเชื่อและมอบเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาไปรวม 145,000 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ให้จำคุก 6 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนของศาลชั้นต้นจะฟังได้ว่าหลังจากผู้ร้องเรียนได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาเรียกและรับเงินจากผู้ร้องเรียนจำนวน 120,000 บาท โดยอ้างว่าจะนำไปใช้วิ่งเต้นล้มคดีกับพนักงานอัยการและผู้พิพากษาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าการเรียกและรับเงินนั้นได้กระทำที่บ้านของผู้ร้องเรียนและที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งอยู่ห่างไกลจากศาลชั้นต้นมาก ไม่มีผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล หรือเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้กระบวนพิจารณาของศาลดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็วแต่อย่างใด ส่วนเงินจำนวน 10,000 บาท ที่ผู้ร้องเรียนมอบให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ศาลชั้นต้นนั้นได้ความว่าเป็นค่าทนายความและเงินจำนวน 15,000 บาท ที่ผู้ร้องเรียนมอบให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น 3 วัน เป็นค่าประกันตัวชั้นอุทธรณ์ มิได้เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงว่าจะนำไปใช้วิ่งเต้นล้มคดีกับพนักงานอัยการและผู้พิพากษา สำหรับที่ผู้ถูกกล่าวหามาศาลกับผู้ร้องเรียนทุกนัดนั้นเป็นเพราะผู้ถูกกล่าวหามีภาระหน้าที่ในฐานะผู้รับมอบฉันทะจากนายประกันให้นำตัวผู้ร้องเรียนส่งศาลตามสัญญาขอปล่อยชั่วคราว และที่พูดกับผู้ร้องเรียนว่าไม่ต้องกลัวถึงอย่างไรก็ไม่ติดคุกสามารถวิ่งเต้นได้อยู่แล้วนั้น ก็เป็นแต่เพียงการปลอบใจผู้ร้องเรียนให้คลายวิตกกังวลในผลคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเกี่ยวโยงเป็นกรรมเดียวกับการเรียกการรับเงินจำนวน 120,000 บาท ที่เกิดขึ้นนอกบริเวณศาล ดังนั้น แม้การหลอกลวงเรียกรับเงินว่าจะนำไปวิ่งเต้นล้มคดีกับพนักงานอัยการและผู้พิพากษาจะเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาร้ายแรง กระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของสถาบันในกระบวนการยุติธรรม สมควรที่จะลงโทษให้หลาบจำมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป แต่เมื่อการกระทำความผิดกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นนอกบริเวณศาล ก็จำต้องให้ดำเนินการไปตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมคดีอาญา กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) จึงไม่อาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาฐานละเมิดอำนาจศาลได้ เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วปัญหาข้ออื่นก็ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1)