แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบเกี่ยวกับการใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) กำหนดให้ผู้ที่สามารถใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) จะต้องเป็นผู้ประกอบการขายรถ และผ่อนผันให้ใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) เป็นการชั่วคราว โดยสามารถนำมาหมุนเวียนใช้กับรถที่จำหน่ายหรือซ่อมเท่ากับจำนวนแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่กรมการขนส่งทางบกออกให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละราย โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงให้ใช้กับรถคันใดคันหนึ่งเท่านั้น เป็นการยืดหยุ่นและให้ประโยชน์แก่ห้างของจำเลยอยู่มากพอสมควร สำหรับกรณีที่แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่กรมการขนส่งทางบกได้ออกให้ชำรุดหรือสูญหายไป ก็สามารถแจ้งต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อออกแผ่นป้ายใหม่โดยใช้เวลาไม่นานและมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก การที่จำเลยทำปลอมแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ของกลางเพื่อใช้กับรถยนต์ที่ห้างของจำเลยจำหน่ายในส่วนที่เกินกว่าแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่จะต้องชำระเพิ่มขึ้นสำหรับแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และนำไปติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถยนต์ที่จำหน่ายให้ ท. เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นหลงเชื่อว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่มีสิทธิใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ก – 0083 ปัตตานี โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กรมการขนส่งทางบก นายทะเบียนยานพาหนะ ท. และ ร้อยตำรวจเอก บ. จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 265, 268 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 3 ปีและปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้ริบแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ปลอม จำนวน 2 แผ่น ของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่าวันที่ 27 เมษายน 2550 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา นายทนง ขับรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิสีดำ ติดแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ทะเบียน ก – 0083 ปัตตานี จากอำเภอเชียงของมุ่งหน้าอำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย เมื่อขับถึงตู้ยามบานแก่น หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ร้อยตำรวจเอกบุญทวี กับพวกร่วมกันเรียกให้นายทนงหยุดรถและขอตรวจคู่มือจดทะเบียนรถแต่นายทนงไม่มี ร้อยตำรวจเอกบุญทวีตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนพบว่ามีลักษณะแตกต่างจากแผ่นป้ายทะเบียนที่หน่วยงานราชการออกให้เนื่องจากไม่มีรอยดุนนูนมุมล่างขวาและไม่มีเครื่องหมาย ขส จึงยึดแผ่นป้ายทะเบียนไว้ตรวจสอบและส่งตรวจสอบที่สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงราย สาขาเทิง สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงราย สาขาเทิงตรวจสอบแล้วแจ้งว่าไม่ใช่แผ่นป้ายทะเบียนที่หน่วยงานราชการออกให้ ร้อยตำรวจเอกบุญทวียึดแผ่นป้ายทะเบียน 2 แผ่น เป็นของกลาง จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ. เอ. เอส. มอเตอร์ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ก – 0083 ปัตตานี เป็นแผ่นป้ายทะเบียนของทางราชการที่สำนักงานขนส่งจังหวัดปัตตานีออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ. เอ. เอส มอเตอร์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2538 อนุญาตให้ใช้เพื่อขายและการซ่อมเท่านั้น แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ก – 0083 ปัตตานี จำนวน 2 แผ่น ของกลาง เป็นแผ่นป้ายที่จำเลยทำขึ้นเอง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 นายทนงเช่าซื้อรถยนต์กระบะจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ. เอ. เอส มอเตอร์ โดยรถยนต์คันดังกล่าวติดแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ของกลาง
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่ เห็นว่า นายวีรวุฒิ รับราชการที่สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงราย สาขาเทิง พยานโจทก์ได้ให้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลักเกณฑ์การติดแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) จะติดกับรถยนต์ได้เฉพาะในกรณีที่จะขายหรือซ่อมรถยนต์ การออกหมายเลขทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) สำหรับผู้จำหน่ายรถขึ้นอยู่ที่ว่าผู้จำหน่ายมีปริมาณรถที่จะจำหน่ายกี่คันและจะออกหมายเลขให้ใกล้เคียงกับปริมาณรถที่จะจำหน่าย หมายเลขหนึ่งจะมีแผ่นป้ายจำนวน 2 แผ่น การขอหมายเลขทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง)หนึ่งหมายเลขจะต้องเสียค่าคำขอ 5 บาท ค่าใบอนุญาต 1,000 บาท ค่าแผ่นป้ายจำนวน 2 แผ่น แผ่นละ 100 บาท หากแผ่นป้ายชำรุดหรือสูญหายก็สามารถมาขอแผ่นป้ายทะเบียนใหม่ได้โดยใช้หมายเลขเดิม เสียค่าคำขอ 5 บาท และแผ่นป้ายทะเบียนใหม่แผ่นละ 100 บาท ซึ่งกรณีแผ่นป้ายชำรุดจะต้องนำแผ่นป้ายที่ชำรุดมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ขนส่งซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 เดือน ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่ากรมการขนส่งมีระเบียบเกี่ยวกับการใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ดังกล่าว โดยกำหนดให้ผู้ที่สามารถใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ประกอบการขายรถ และผ่อนผันให้ใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) เป็นการชั่วคราว โดยสามารถนำมาหมุนเวียนใช้กับรถที่จำหน่ายหรือซ่อมเท่ากับจำนวนแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่กรมการขนส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละราย โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงให้ใช้กับรถคันใดคันหนึ่งเท่านั้นอันเป็นการยืดหยุ่นและให้ประโยชน์แก่ห้างของจำเลยอยู่มากพอสมควร สำหรับกรณีที่แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่กรมการขนส่งทางบกได้ออกให้ชำรุดหรือสูญหายไป ก็สามารถแจ้งต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อออกแผ่นป้ายใหม่โดยใช้เวลาไม่นานและมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก การที่จำเลยทำแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ของกลาง จึงไม่น่าเชื่อว่าเป็นการทำขึ้นเพื่อทดแทนแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่ชำรุดหรือสูญหาย หากแต่เป็นการทำขึ้นเพื่อใช้กับรถยนต์ที่ห้างของจำเลยจำหน่ายในส่วนที่เกินกว่าแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่จะต้องชำระเพิ่มขึ้นสำหรับแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หากแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกชำรุดหรือสูญหายไปจริงก็ไม่เป็นการยุ่งยากแต่อย่างใดในการขอให้ทางราชการออกแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ให้แก่ห้างของจำเลยใหม่ แม้จำเลยนำสืบอ้างว่าแผ่นป้ายของกลางนั้นจำเลยทำขึ้นเพื่อทดแทนของเดิมที่ชำรุดหรือสูญหาย โดยจำเลยเคยไปติดต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดปัตตานีขอให้ออกแผ่นป้ายใหม่ทดแทน แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าขณะนั้นสำนักงานขนส่งจังหวัดปัตตานีไม่มีนโยบายออกแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ให้ใหม่ ซึ่งในข้อนี้ก็ได้ความจากนายต่วนกอเซ็ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งจังหวัดปัตตานี พยานจำเลยเบิกความว่า การขออนุญาตใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ในช่วงปี 2538 และปี 2546 ถึงปี 2548 ทางราชการมีนโยบายชะลอเฉพาะการออกแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) เพิ่มเติมเท่านั้น ไม่ได้เบิกความว่าทางสำนักงานขนส่งชะลอการออกแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) แทนที่แผ่นป้ายที่สูญหายหรือชำรุดแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่าช่วงปี พ.ศ.2549 มีเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานความมั่นคงทั้งทางทหารและตำรวจขอความร่วมมือมายังบริษัทจำหน่ายรถในการติดแผ่นป้ายทะเบียนให้แก่รถทุกคัน จำเลยจึงมีความจำเป็นต้องทำแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ขึ้นใหม่เพื่อกำกับรถยนต์ที่ขาย ก็ไม่ทำให้จำเลยได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นกัน การที่จำเลยจัดทำแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ปลอมและนำไปติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถยนต์ที่จำหน่ายให้นายทนงเพื่อให้ผู้ที่พบเห็นหลงเชื่อว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่มีสิทธิใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ก – 0083 ปัตตานี โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กรมการขนส่งทางบก นายทะเบียนยานพาหนะ นายทนง ร้อยตำรวจเอกบุญทวี จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2241/2523 มีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง