คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระบุว่า จำเลยได้ ขายที่ดินให้แก่โจทก์ในราคา 40,000 บาท ชำระเงินแล้ว 10,000 บาท แต่ เอกสารดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้โจทก์ผ่อนชำระเงินที่เหลืออีก 30,000 บาทภายในกำหนดเวลาเท่าใด การที่โจทก์นำพยานบุคคลสืบถึง กำหนดเวลาที่ต้อง ชำระเงินส่วนที่เหลือจึงเป็นการนำสืบถึง ข้อตกลงต่างหาก จากสัญญาจะซื้อขายเพื่อให้ชัดเจน ดังนี้ ไม่เป็นการนำสืบแก้ไขเพิ่มเติมเอกสาร.

ย่อยาว

โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า โจทก์ได้ขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1เป็นเงิน 20,000 บาท ครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ได้ไถ่คืน ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2526 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ในราคา 40,000 บาท ได้ชำระราคาในวันทำสัญญา 10,000 บาทส่วนที่เหลืออีก 30,000 บาท ตกลงจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม2528 พร้อมกับจะจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2527จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินไว้กับโจทก์ เป็นการทำให้โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์ และรับเงินจากโจทก์อีก 30,000 บาท และให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 10,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์อีก 40,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ได้ขอเช่าซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ในราคา 40,000 บาท โดยขอชำระเงินงวดแรก10,000 บาท ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระอีก 3 เดือนเดือนละ 10,000 บาทจำเลยที่ 1 ได้ออกใบรับเงินงวดแรกให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ผิดสัญญาไม่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ แล้วโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต เปิดเผยกับได้จดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานถูกต้องแล้ว จำเลยที่ 2 จึงได้สิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว
สำนวนที่สองจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โดยซื้อจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม2527 เป็นเงิน 35,000 บาท เมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 โจทก์ได้บุกรุกเข้ามาตัดไม้ในที่ดินของจำเลยที่ 2 ต่อมาเมื่อปลายเดือนมิถุนายน2528 โจทก์ได้หว่านกล้าเพื่อปลูกข้าวในที่ดินของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ได้บอกกล่าวให้โจทก์ออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 2 แล้วโจทก์เพิกเฉยเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหาย ขาดค่าเช่าอย่างต่ำเดือนละ 1,000 บาท ขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินของจำเลยที่ 2 กับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 เดือนละ1,000 บาท
โจทก์ให้การว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1ได้ฉ้อฉลทำนิติกรรมโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้ง ๆที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์ไว้ก่อนแล้วซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ทราบดี นิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา จำเลยที่ 2 ไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ค่าเช่าที่ดินตามฟ้องอย่างสูงไม่เกินปีละ 800 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์พร้อมกับรับเงินจำนวน 30,000 บาทจากโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 คำขอของจำเลยที่ 2 ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2ปีละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากที่ดินพิพาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า เอกสารหมาย จ.7แสดงแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในราคา40,000 บาท แต่เอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความว่า ให้โจทก์ผ่อนชำระเงินที่เหลืออีก 30,000 บาท ภายในกำหนดเวลาเท่าใด โจทก์นำพยานบุคคลมานำสืบให้เห็นว่า ได้ตกลงให้ชำระเงินที่เหลือจำนวน30,000 บาท ภายในเดือนมีนาคม 2528 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 8 ตุลาคม2527 นั้น… “…พยานหลักฐานของโจทก์นอกจากพยานบุคคล โจทก์ยังมีเอกสารหมาย จ.7 มาสืบประกอบตามเอกสารหมาย จ.7 ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ในราคาสี่หมื่นบาทชำระแล้วหนึ่งหมื่นบาท และโจทก์ยังนำสืบถึงกำหนดเวลาที่ต้องชำระเงินส่วนที่เหลืออีกด้วย การนำสืบดังกล่าวเป็นการนำสืบถึงข้อตกลงต่างหากจากสัญญาจะซื้อขายเพื่อให้ชัดเจน โจทก์จึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลได้ ไม่เป็นการแก้ไขหรือเพิ่มเติมเอกสารประการใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยโจทก์จะชำระเงินที่เหลือจำนวน 30,000 บาท ภายในเดือนมีนาคม 2528 จำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2ในวันที่ 8 ตุลาคม 2527…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share