คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า แม้โจทก์จะเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาก็มิได้เป็นข้อสันนิษฐานว่ามีสิทธิครอบครอง เมื่อจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทในฐานะเป็นเจ้าของมานานถึง 20 ปีแล้วจำเลยจึงได้สิทธิครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ซึ่งเดิมเป็นที่ดินของนายเพย บรรลือทรัพย์ บิดาโจทก์ ต่อมาปี พ.ศ. 2519 บิดาโจทก์ได้นำที่ดินพิพาทไปประกันหนี้เงินยืมของนายสุข ขาวงามเป็นเงิน 1,500 บาท โดยมอบที่ดินพิพาทให้นายสุขทำกินต่างดอกเบี้ยไม่มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน นายสุขยินยอมให้บิดาโจทก์ไถ่ถอนคืนเมื่อใดก็ได้ ต่อมาปี พ.ศ. 2524 นายสุขได้ให้จำเลยเป็นผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทน ต่อมาในเดือนกันยายน 2527 บิดาโจทก์และนายสุขถึงแก่กรรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดได้แก่โจทก์โจทก์ขอไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนจากจำเลย จำเลยจะให้ไถ่คืนในราคา 50,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามแผนที่ท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์และรับชำระหนี้เงินกู้จากโจทก์จำนวน 1,500 บาท จำเลยให้การว่าเมื่อประมาณ 26 ปีมาแล้ว บิดาโจทก์ได้นำที่ดินพิพาทแลกเปลี่ยนกับกระบือ 1 ตัว ของนายสุข ขาวงาม จากนั้นบิดาโจทก์ได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทและส่งมอบให้แก่นายสุข ต่อมาอีก 6 ปีนายสุขก็ได้นำที่ดินพิพาทแลกกับกระบือ 1 ตัวของจำเลย จำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา หาได้ครอบครองแทนบิดาโจทก์ไม่ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าบิดาโจทก์มีนาประมาณ 80 ไร่เศษ นับว่ามาก ย่อมต้องการกระบือไว้ใช้ทำนา ที่ดินพิพาทเป็นป่าละเมาะเป็นส่วนใหญ่ใช้ทำนาได้เพียง 1-2 ไร่เท่านั้น จึงมีราคาถูกและขายยาก ถ้าแลกกระบือในราคาไม่ต่างกันมากนักก็สมเหตุผล เพราะสะดวกไม่ต้องขายที่ดินพิพาทก่อนแล้วจึงจะซื้อกระบือ แต่ถ้าราคาต่างกันมากบิดาโจทก์มีนาถึง 80 ไร่เศษ มิได้ยากจน น่าจะรีบไถ่ถอนคืนโดยเร็วไม่น่าจะปล่อยเวลาล่วงเลยมาถึง 7 ปี จนกระทั่งถึงแก่กรรม ฉะนั้นข้อที่โจทก์นำสืบว่ายืมเงินนายสุข 1,500 บาท แล้วมอบที่ดินพิพาทให้นายสุขทำกินต่างดอกเบี้ย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2524 นายสุขได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ จึงให้จำเลยซึ่งเป็นน้องเขยเข้าทำกินในที่ดินพิพาทแทนนั้น เห็นว่าพยานโจทก์เบิกความลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ฝ่ายจำเลยมีสำเนาทะเบียนบ้านซึ่งมีพนักงานเจ้าหน้าที่รับรองถูกต้องตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ว่า นายสุขได้ย้ายครอบครัวไปอยู่อำเภอสังขะจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 บิดาโจทก์เอาที่ดินพิพาทมาแลกกระบือ 1 ตัว ของนายสุขตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ครั้นนายสุขจะย้ายครอบครัวจึงได้เอาที่ดินพิพาทมาแลกกระบือเพศเมีย ซึ่งยังไม่มีตั๋วพิมพ์รูปพรรณของจำเลย การแลกที่ดินพิพาททั้ง 2 คราวนายเผื่อน ทองศรี ผู้ใหญ่บ้านและนางเกียง ขาวงาม ภรรยานายสุขเป็นพยานรู้เห็นด้วย กระบือที่นายสุขแลกไปขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ออกลูกจนถึงขั้นเหลนแล้ว ฝ่ายจำเลยมีพยานเอกสารและพยานบุคคลเบิกความอย่างมีเหตุผลทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า จำเลยครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของมานานถึง 20 ปีจึงได้สิทธิครอบครอง ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินพิพาทตลอดมานั้น เห็นว่าการเสียภาษีบำรุงท้องที่มิได้เป็นข้อสันนิษฐานว่าผู้เสียมีสิทธิครอบครองแต่อย่างใดศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share