คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3400/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจะอนุญาตให้ทนายความถอนตนจากการตั้งแต่ง เป็นทนายความของตัวความในคดีหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลย แล้วทนายจำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางควรให้ทนายจำเลยนำส่งสำเนาคำร้องขอถอนตัวไปให้จำเลยทราบเสียก่อน และควรมีคำสั่งเลื่อนการพิจารณาคดีไปก่อนนั้น เท่ากับเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งว่าศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตนจากการตั้งแต่งเป็นทนายความของจำเลยโดยไม่ชอบ จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
การฟ้องเรียกเงินที่ นายจ้าง ต้องจ่ายเข้าสมทบกองทุนเงินทดแทนไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คือใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลและจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ระหว่างปี ๒๕๒๗ ถึงปี ๒๕๓๐ จำเลยทั้งสองยังติดค้างไม่ส่งเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและเงินเพิ่มแก่โจทก์เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๕๐,๒๕๔.๘๗ บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมด้วยเงินเพิ่ตามกฎหมายในอัตราร้อยละห้าต่อเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ระหว่างปี ๒๕๒๗ ถึงปี ๒๕๓๐ จำเลยหยุดประกอบกิจการ จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินสมทบและเงินเพิ่มแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ในชั้นพิจารณาเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ทนายจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยที่ ๒ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความของจำเลยที่ ๑ ถอนตัวตามคำร้องและไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ เลื่อนการสืบพยาน ให้ถือว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่มีพยานมาสืบ ซึ่งทนายจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้แล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน๑๕๐,๒๕๔.๘๗ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยเงินเพิ่มตามกฎหมายอัตราร้อยละห้าต่อเดือนนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ
ทนายจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๐ และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า กรณีที่ทนายความที่ตัวความได้ตั้งแต่งให้มาเป็นทนายความในคดี จะมีคำขอต่อศาลให้สั่งถอนตนจากการตั้งแต่งนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๕ วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า ทนายความที่ตัวความได้ตั้งแต่งให้เป็นทนายในคดี จะมีคำขอต่อศาลให้สั่งถอนตนจากการตั้งแต่งนั้นก็ได้ แต่ต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่า ทนายความผู้นั้นได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้วเว้นแต่จะหาตัวความไม่พบ ซึ่งศาลแรงงานกลางต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้โดยนัยแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ พึงเห็นได้ว่า การที่จะอนุญาตให้ทนายความถอนตนจากการตั้งแต่งนั้นหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลที่จะสั่ง การที่ทนายจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางควรจะให้ทนายจำเลยที่ ๑ นำส่งสำเนาคำร้องขอถอนตัวไปให้จำเลยที่ ๑ ทราบเสียก่อน และควรจะมีคำสั่งเลื่อนการพิจารณาคดีไปก่อนเพื่อให้จำเลยที่ ๑ ได้ทราบว่าทนายจำเลยที่ ๑ ขอถอนตัวนั้นเท่ากับเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งว่าศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจสั่งไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยที่ ๑ ถอนตนจากการตั้งแต่งเป็นทนายความของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ชอบ จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การที่โจทก์ในฐานะผู้รับผิดชอบกองทุนเงินทดแทนฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ต้องจ่ายเข้าสมทบกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายนั้นถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้ค้าในการดูแลกิจการของผู้อื่น หรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างที่พึงได้รับจากการนั้นหรือฟ้องเรียกเงินที่ได้ออกทดรองไป กรณีของโจทก์ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๗) แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ คือต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด ๑๐ ปี ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.

Share