คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 168/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 นำรถยนต์คันเกิดเหตุไปประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัย มีข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในกรณีการใช้รถยนต์คันดังกล่าว คือ ห้ามรับจ้างหรือให้เช่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ใช้รถยนต์คันดังกล่าวไปรับจ้างบรรทุกของโดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับขี่ แล้วจำเลยที่ 1 ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย เช่นนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ที่มีต่อโจทก์ต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัยค้ำจุนดังกล่าว ข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามกรมธรรม์ประกันภัยมีผลใช้บังคับได้ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย และมีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนต.ก. 04119 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างผู้ขับขี่รถยนต์บรรทุก 10 ล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-0023 สุโขทัย ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ในลักษณะประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 1 ได้ขับขี่รถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าซ่อมแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 12,300 บาท กับดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุชนกันไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 ให้การว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับขี่นำไปรับจ้างบรรทุกของซึ่งเป็นการผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1และที่ 2 ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 12,300 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยที่ 2 นำรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ไปประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3เป็นการประกันภัยรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2.11.1 มีข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในกรณีการใช้ตามที่ระบุยกเว้นเพิ่มเติมไว้ในตารางตามรายการที่ 7 คือห้ามรับจ้างหรือให้เช่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุไปรับจ้างบรรทุกของโดยให้จำเลยที่ 1เป็นผู้ขับขี่ แล้วจำเลยที่ 1 ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ปัญหามีว่าจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจะยกข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามสัญญาข้างต้นขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก อันจะมีผลให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 3 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยที่มีต่อโจทก์จึงต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว ฉะนั้น จำเลยที่ 3 ย่อมยกข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามสัญญาขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ เว้นแต่ข้อยกเว้นนั้นจะขัดต่อกฎหมาย ข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2.11.1 ที่กำหนดไว้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในกรณีการใช้ตามที่ระบุยกเว้นเพิ่มเติมไว้ในตารางตามรายการที่ 7 คือ ห้ามรับจ้างหรือให้เช่านั้น ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด เพราะเป็นแต่เพียงเงื่อนไขที่กำหนดไว้เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยใช้รถยนต์คันเกิดเหตุไปรับจ้างหรือให้เช่าซึ่งเป็นการใช้มากไปกว่าการใช้บรรทุกส่วนบุคคลอันจะทำให้จำเลยที่ 3 ต้องเสี่ยงภัยมากขึ้น ข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุไปรับจ้างบรรทุกของอันเป็นการผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวและจำเลยที่ 3 มีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ จำเลยที่ 3ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาจำเลยที่ 3 ในปัญหานี้ฟังขึ้นคดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาเรื่องค่าเสียหายตามฎีกาจำเลยที่ 3อีกต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share