คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1426/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้มีคำสั่งมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือดำเนินการอื่นเกี่ยวกับราชการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นการมอบหมายที่ชอบด้วยมาตรา 20 และ มาตรา 38 (2) แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงมีผลใช้บังคับจนกว่าจะถูกยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง แม้ต่อมาภายหลังรัฐมนตรีฯ เดิมจะลาออก และมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีฯ คนใหม่แทน ก็หาทำให้คำสั่งดังกล่าวสิ้นผลบังคับไปไม่
—————————————-
(รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ – กมล เพียรพิทักษ์ – จรัส พวงมณี)
ศาลแรงงานกลาง – นายสุพจน์ ธำรงเวียงผึ้ง
ศาลอุทธรณ์ –
นางสาวศุภมาส ชินวินิจกุล นิติกร/ย่อสั้น/ย่อยาว
นายชลิต จั่นประดับ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ
นายไมตรี ศรีอรุณ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจย่อยาว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 73/2543 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ทั้งฉบับ เพื่อมิให้โจทก์ต้องรับนายสวัสดิ์ ยานุ กับพวกที่ถูกนายจ้างปิดงานกลับเข้าทำงานและ จ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายแก่ลูกจ้างนั้น และมิให้ลูกจ้างดังกล่าวกลับเข้าทำงานตลอดจนเพื่อมิให้คณะกรรมการ แรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้น
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2543 นายสวัสดิ์ ยานุ กับพวกรวม 125 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ได้แจ้งข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 โจทก์แจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อนายสวัสดิ์ ยานุ กับพวกรวม 125 คน ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาต่อรองกันหลายครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ถือว่าได้มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ดำเนินการไกล่เกลี่ย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ โจทก์จึงใช้สิทธิปิดงานบางส่วนตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2543 ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 3 อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้มีคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 73/2543 ให้โจทก์รับนายสวัสดิ์ ยานุ กับพวกที่โจทก์สั่งปิดงานให้กลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไป คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 มีอำนาจออกคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 73/2543 หรือไม่ และคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 20 และ มาตรา 38 หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีอำนาจมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงปฏิบัติราชการแทนได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 พลตำรวจตรีวุฒิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมในขณะนั้นได้มีคำสั่งที่ 51/2543 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือดำเนินการอื่นเกี่ยวกับราชการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ สำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นการมอบหมายที่ชอบด้วยมาตรา 20 และ มาตรา 38 (2) แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบบริหาร ราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงมีผลใช้บังคับจนกว่าจะถูกยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง แม้ต่อมาภายหลังพลตำรวจตรีวุฒิ จะลาออกจากตำแหน่ง และมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมคนใหม่แทน ก็หาทำให้คำสั่งที่ 51/2543 สิ้นผลบังคับไปไม่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ได้ออกคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 73/2543 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ตามที่ได้รับมอบหมายตามคำสั่งที่ 51/2543 ดังกล่าว จึงเป็นการสั่งการที่มีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 35 ประกอบด้วย พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 20 และ มาตรา 38 (2) และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share