คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถานบันการเงินซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 321) พ.ศ.2541 มาตรา 3 (6) มิใช่หมายความว่า ทรัพย์สินที่ขายต้องเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้จัดการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ต. ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการโดยนำสิทธิการเช่าที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ต. ออกขายทอดตลาด เมื่อโจทก์เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ขายทอดตลาดแทน ก็ต้องถือว่าเป็นการดำเนินการขายโดยองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงินนั้นเอง ย่อมมีผลให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ต. มิต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534
โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร แม้จำเลยจะมีข้อตกลงกับโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าว่าจำเลยจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระภาษีต่างๆ แทนโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับการว่าจ้างจากกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้ดำเนินการขายอสังหาริมทรัพย์ขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้แก่บุคคลทั่วไปโดยวิธีการขายทอดตลาดและหรือวิธีการแข่งขันราคาแบบอื่น เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลสิทธิการเช่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าพื้นที่สำนักงานชั้น 3 และชั้น 4 อาคารเดอะแกรนด์ไชน่าเทรดทาวเวอร์ แอนด์โฮเต็ล รวม 10 ยูนิต อันเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในการดำเนินการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถานบันการเงินในราคา 6,750,000 บาท จำเลยจะต้องชำระเงินเป็นงวดรวม 4 งวด โดยผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ซื้อเป็นผู้รับผิดชอบภาษีท้องถิ่น ภาษีท้องที่ (ที่ถูกภาษีส่วนท้องถิ่น) ภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีอื่น (ถ้ามี) การชำระเงินตามสัญญาดังกล่าว จำเลยต้องชำระเข้าบัญชีธนาคารของสถาบันการเงินเจ้าของทรัพย์สิน และจำเลยมีภาระและหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ในฐานะผู้ทอดตลาดต้องรับผิดร่วมกับสถาบันการเงินที่อยู่ในความควบคุมขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร แต่โจทก์มิได้ดำเนินการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินที่จำเลยชำระตามสัญญาในแต่ละงวดเพื่อนำส่งกรมสรรพากรทั้งที่เป็นหน้าที่ของจำเลยตามกฎหมายที่ต้องชำระ รวมเป็นเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 472,500 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) เพื่อนำส่งกรมสรรพากร แต่จำเลยเพิกเฉย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์ในฐานะผู้ทอดตลาดได้ชำระเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 472,500 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือน คิดเป็นเงินเพิ่ม 83,278.13 บาท และได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้ทรงสิทธิไล่เบี้ยตามกฎหมาย ได้แจ้งให้จำเลยชำระเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนให้แก่โจทก์จำเลยผัดผ่อนและเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหาย จึงต้องชดใช้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ได้ชำระแทนไปจำนวน 555,778.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 24,315.29 บาท รวมเป็นเงิน 580,093.42 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 580,093.42 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 555,778.13 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเนื่องจากโจทก์เป็นผู้ทอดตลาดซึ่งทำการขายทอดตลาดในฐานะตัวแทนหรือผู้รับจ้างขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจึงเป็นตัวแทนขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจกระทำกิจการต่างๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์รวมถึงการถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองหรือมีทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ซึ่งหากมีการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินไม่ใช่ผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทั้งการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (6) โจทก์ซึ่งเป็นเพียงตัวแทนหรือผู้รับจ้างให้ดำเนินการทอดตลาดทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจึงไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องนำส่งตามกฎหมาย การที่โจทก์ก็ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากร จึงเป็นการชำระไปโดยหลงผิดเพราะไม่มีมูลหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำต้องนำส่ง โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อการขายสิทธิการเช่าได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ราคาที่จำเลยประมูลได้จึงเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (หากมี) เอาไว้ด้วยแล้ว หากจำเลยทราบว่าจะต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จำเลยจะไม่เสนอราคาสูง การประมูลทรัพย์สินและการเข้าสู้ราคาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรบอกให้แจ้งในราคาขายสินค้าที่ประมูลเป็นสาระสำคัญในสัญญา จึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค สัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าจึงตกเป็นโมฆะ หลังจากจำเลยชนะประมูลแล้ว โจทก์ได้ออกใบรับรองการประมูลเพื่อยืนยันราคาที่ประมูลได้ซึ่งในขณะที่ออกใบรับรองการประมูลนั้น โจทก์ย่อมต้องทราบว่าราคาที่ประมูลคือราคาซื้อขายหากมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จะต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้เลยว่าภาษีมูลค่าเพิ่มเท่าใด เพื่อทำสัญญาตกลงจะชำระค่าสินค้าตามหลักเกณฑ์ต่อไป แต่กลับทำสัญญาโดยไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นการผิดวิสัยในทางการค้า และโจทก์ควรที่จะต้องแจ้งให้จำเลยทราบในวันที่วางเงินชำระงวดแรก อีกทั้งโจทก์เป็นผู้มีหน้าที่นำส่งและยื่นแบบรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบจดทะเบียนต่อกรมสรรพากรภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้ประกอบการแล้วแต่กรณี และเป็นหน้าที่โจทก์ที่จะต้องทราบและตรวจสอบว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลได้ชำระเงินแก่โจทก์ตามเงื่อนไขสัญญาแล้วหรือไม่ แต่โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบว่ามีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยต้องรับผิดด้วย ซึ่งหลังจากจำเลยได้ชำระเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 8 เมษายน 2542 แล้ว โจทก์ส่งมอบและโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลย แต่กลับไม่แจ้งเรื่องภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นการผิดวิสัยทางการค้าของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม หากฟังว่าจำเลยต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดในเงินเพิ่มและดอกเบี้ยตามฟ้องเพราะการไม่นำส่งหรือชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ไม่ใช่ความผิดของจำเลย และจำเลยไม่ทราบว่าหลังจากประมูลได้แล้วต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มอีก แต่เป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่ดำเนินการชำระหรือเรียกหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากรภายในกำหนดตามกฎหมาย และการชำระเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่า จำเลยได้แจ้งการโอนเงินแก่โจทก์ทุกครั้ง โจทก์ไม่เคยออกใบกำกับภาษีหรือแจ้งว่ามีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยต้องรับผิดชำระแต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องแก่กรมสรรพากร และไม่เคยออกใบกำกับภาษีตามฟ้อง เนื่องจากข้อความในเอกสารโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้นเอง ไม่เคยแจ้งหรือส่งให้แก่จำเลย และการซื้อขายสิทธิการเช่าเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 แต่โจทก์เพิ่งออกใบกำกับภาษีในปี 2544 จึงไม่อาจทราบได้ว่าเป็นการชำระเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อขายสิทธิการเช่าตามฟ้องหรือไม่ เพราะไม่มีรายการว่าเป็นการชำระค่าภาษีอะไร เกี่ยวกับสินค้าชนิดไหน จำนวนค่าภาษีที่ชำระก็ไม่ตรงกับที่กล่าวอ้างให้จำเลยรับผิด มูลหนี้พิพาทที่โจทก์ฟ้องไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง เพราะจำเลยไม่เคยได้รับแจ้งการประเมินจากกรมสรรพากร มูลหนี้คดีไม่ใช่คดีที่พิพาทเกี่ยวกับสิทธิของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรและไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดการเก็บภาษีอากร เพราะโจทก์ฟ้องไล่เบี้ยให้จำเลยรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระแทนไป ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระแทนไปนั้นก็ไม่ใช่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระและจำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 472,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์รับจ้างองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) ให้ดำเนินการขายอสังหาริมทรัพย์โดยวิธีขายทอดตลาดและหรือวิธีแข่งขันราคาแบบอื่น เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยชนะการประมูลสิทธิการเช่าสำนักงานชั้น 3 และชั้น 4 อาคารเดอะแกรนด์ไชน่าเทรดทาวเวอร์แอนด์โฮเต็ล รวม 10 ยูนิต อันเป็นทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) โดยโจทก์เป็นผู้ทอดตลาดภายใต้การดำเนินการของ ปรส. ในราคา 6,750,000 บาท จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าทรัพย์ดังกล่าวและลงลายมือชื่อเป็นผู้จะซื้อ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทโจทก์ผู้รับอำนาจและโดยนายสุรศักดิ์ สรรพิทักษ์เสรี ผู้รับมอบอำนาจช่วงลงลายมือชื่อเป็นผู้จะขาย ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 ถึงที่ 7 มีเงื่อนไขสำคัญว่าผู้จะขายเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนผู้จะซื้อเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระภาษีท้องถิ่น ภาษีบำรุงท้องที่ (ที่ถูกภาษีส่วนท้องถิ่น) ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีอื่นๆ (ถ้ามี) การชำระเงินตามสัญญาแบ่งออกเป็น 4 งวด โดยจำเลยจะต้องชำระโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้จะขายหรือด้วยแคชเชียร์เช็คหรือดราฟต์ที่สามารถเรียกเก็บเงินได้ในเขตหักบัญชีกรุงเทพมหานครเท่านั้น โดยเช็คหรือดราฟต์ดังกล่าวจะต้องขีดคร่อมเฉพาะสั่งจ่าย “บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) (ปรส.2)” ซึ่งจำเลยได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วแต่โจทก์มิได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยซึ่งต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์ในฐานะผู้ทอดตลาดได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มรวมจำนวน 555,778.13 บาท แก่กรมสรรพากรแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า การขายสิทธิการเช่าทรัพย์พิพาทนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (6) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 321) พ.ศ.2541 ปัญหานี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการขายสินค้าดังต่อไปนี้… (6) การขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” ซึ่งตามท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 321) นี้ได้ให้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือเพื่อสนับสนุนการดำเนินการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในอันที่จะแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินและฟื้นฟูฐานะของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ รวมทั้งลดภาระขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในการดำเนินการด้านภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการขายทรัพย์สินหรือการให้บริการขององค์การ สมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายทรัพย์สินหรือการให้บริการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ ดังนี้เมื่อพิจารณามาตรา 3 (6) ประกอบกับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แล้วจะเห็นได้ว่ารัฐต้องการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในการขายทรัพย์สินที่ดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนและลดภาระให้แก่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในอันที่จะแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินให้ได้ผลสำเร็จโดยเร็ว และเนื่องจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการ พ.ศ.2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและชำระบัญชีบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการในกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ เมื่อนำเอาวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินขึ้นมาพิจารณาประกอบด้วยแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หมายความว่า การขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน หาใช่หมายความว่า ทรัพย์สินที่ขายเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินไม่ ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้จัดการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการแล้วนำสิทธิการเช่าที่พิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) ออกขายทอดตลาดแม้จะเป็นการว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ดำเนินการขายทอดตลาดแทนก็ต้องถือว่าเป็นการดำเนินการขายโดยองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงินนั้นเอง การขายเช่นนี้ย่อมมีผลให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) มิต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 3 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ฉะนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างดำเนินการขายทอดตลาดสิทธิการเช่าพื้นที่พิพาทแทนองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจึงไม่ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร และแม้จำเลยจะมีข้อตกลงกับโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 ถึง 7 ข้อ 10 ว่าจำเลยจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระภาษีต่างๆ แทนโจทก์ ซึ่งหมายความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชอบภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยก็ตาม แต่เมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแนนซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) ได้รับยกเว้นไม่ต้องภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องให้จำเลยรับผิดชอบแทน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share