แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์โดยผลของพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2535 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จำเลยจึงมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้แก่การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และถึงแม้ว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงในการมีคำสั่งเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและมีคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์ แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลยในฐานะที่เป็นกรมซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติงานในเรื่องนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่งนั้น เป็นเพียงถึงที่สุดในทางฝ่ายบริหารเท่านั้นหาได้ตัดสิทธิโจทก์มิให้นำคดีมาฟ้องศาลไม่ ดังนั้น ถ้าโจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้
ยา Tequin ของโจทก์เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษามนุษย์ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และมีจำหน่ายในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเท่านั้น ส่วนยา TRIQUIN ของจำเลยเป็นยาที่ใช้สำหรับสัตว์ซึ่งจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันสำหรับสัตว์ แม้โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าจำพวกที่ 5 เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว แต่สินค้าของโจทก์เป็นผลิตภัณฑ์ยาสำหรับรักษามนุษย์ ส่วนสินค้าตามเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนแล้วเป็นยาสำหรับรักษาสัตว์ซึ่งมีสถานที่จำหน่ายยาแยกต่างหากจากกัน ลักษณะของตัวอักษรในเครื่องหมายการค้า เสียงเรียกขานและผลิตภัณฑ์สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าไม่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนเกิดการสับสนหรือหลงผิดในตัวสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 และ มาตรา 13
ย่อยาว
โจทก์ฟัองว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า TEQUIN ในลักษณะประดิษฐ์สำหรับสินค้าจำพวกที่ 5 รายการสินค้ายาที่เตรียมขึ้นเพื่อรักษาโรคติดเชื้อ และได้ยื่นขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปเครื่องหมายการค้าในคำขอจดทะเบียนดังกล่าว ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยอ้างเหตุว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 เพราะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว คือ เครื่องหมายการค้าคำว่า TRIQUIN คำขอเลขที่/ทะเบียนเลขที่ 236210/ค 2757 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 5 รายการสินค้ายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้กับสัตว์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเครื่องหมายการค้าคำว่า
ในลักษณะประดิษฐ์ของโจทก์แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าคำว่า TRIQUIN ทั้งตัวสะกด เสียงเรียกขาน และรูปลักษณะโดยรวม นอกจากนี้สินค้าที่ขอจดทะเบียนก็ต่างกันด้วย เครื่องหมายการค้าของโจทก์มิได้เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแต่อย่างใด โจทก์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า TRIQUIN ต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของตนโดยเจตนาอันสุจริตตลอดมาในหลายประเทศโดยปราศจากการสับสนหลงผิดของสาธารณูปโภค อีกทั้งมิได้มีการลอกเลียนหรืออาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าของอีกฝ่ายหนึ่งโจทก์ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนตำรับยาตามกฎหมายต่อคณะกรรมการอาหารและยาและได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนตามหนังสือเลขที่ พณ 0704/2242 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1051/2544 และให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 411883 แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าวขอให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง อย่างไรก็ตาม นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาคำขอของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายโดยสุจริตและเป็นธรรมแล้ว เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมเป็นที่สุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้อีก โจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า มาแล้วโดยสุจริตและมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือเลขที่ พณ 0704/2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1051/2542 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 411883 ต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า Tequin เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 4 รายการสินค้า ยาที่เตรียมขึ้นเพื่อรักษาโรคติดเชื้อ ตามคำขอเลขที่ 411883 เอกสารหมาย จ.5 และได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการในคำขอจดทะเบียนโดยขอเปลี่ยนรูปเครื่องหมายการค้าใหม่ นายทะเบียนมีคำสั่งอนุญาต ตามสำเนาคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารหมาย จ.6 หรือ ล.3 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้ โดยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตามทะเบียนเลขที่ 236210 ตามสำเนาคำสั่งนายทะเบียนเอกสารหมาย จ.7 หรือ ล.4 โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมติยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนและให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาล ปัญหาที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เนื่องจากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งอย่างไรแล้วหากโจทก์ไม่พอใจย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จำเลยจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งบังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่โจทก์ได้ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์โดยผลของพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2535 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จำเลยจึงมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าซึ่งได้แก่การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และถึงแม้ว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงในการมีคำสั่งเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและมีคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์ดังที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ก็ตาม แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลยในฐานะเป็นที่กรมซึ่งรับผิดชอบการปฏิบัติงานในเรื่องนี้ อุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่อ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยเฉพาะนั้น ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยในข้อต่อไปมีว่าการที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น มาตรา 18 ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติให้คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่สุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องเพื่อให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้นั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตาม มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 นั้น การเป็นที่สุดของคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นเพียงถึงที่สุดในทางฝ่ายบริหารเท่านั้น หาได้ตัดสิทธิโจทก์มิให้นำคดีมาฟ้องศาลไม่ ดังนั้น ถ้าโจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจึงเป็นหลักประกันได้ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมถูกต้องและเที่ยงธรรมที่สุดแล้วนั้น เห็นว่า ไม่ใช่ข้อที่จะจำกัดสิทธิโจทก์ในการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของคณะกรรมการดังกล่าวต่อศาล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า Tequin ของโจทก์มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 และมาตรา 13 หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า Tequin ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า TRIQUIN ซึ่งมีการจดทะเบียนไว้แล้วมีความคล้ายกันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดหรือความเป็นเจ้าของสินค้า ในประเด็นนี้จำเลยอ้างว่าเครื่องหมายการค้า Tequin ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้า TRIQIN ที่มีบุคคลอื่นเคยจดทะเบียนไว้แล้วมีความคล้ายกันจนทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดหรือความเป็นเจ้าของสินค้าได้เมื่อใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกัน เห็นว่า โจทก์นำสืบฟังได้ว่า โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า Tequin กับสินค้ายาที่เตรียมขึ้นเพื่อรักษาโรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นยารักษาโรคมนุษย์ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRIQUIN ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วใช้กับสินค้ายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียสำหรับใช้กับสัตว์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคสัตว์เท่านั้น ยา Tequin ที่จำหน่ายในประเทศไทยมี 2 รูปแบบ คือ รูปเม็ด ขนาด 400 มิลลิกรัม บรรจุในแผงอลูมิเนียมฟอยด์ 1 แผง มี 7 เม็ด และรูปน้ำสำหรับฉีดขนาด 40 มิลลิลิตร ลักษณะน้ำยาใส สีเหลืองอ่อนบรรจุในขวดแก้วใส ยา Tequin ทั้งในรูปเม็ดและรูปน้ำสำหรับฉีดจะบรรจุในกล่องกระดาษสีขาว มีแถบสีฟ้าคาดอีกทีหนึ่ง ที่กล่องยาโจทก์ใช้ชื่อยา Tequin ตัวอักษรสีฟ้าบนพื้นขาวโดยวงเล็บชื่อสามัญของยา คือ gatifloxacin ตัวอักษรสีฟ้าไว้ข้างใต้ชื่อยา และระบุชื่อโจทก์ไว้ชัดเจน ฉลากยามีฉลากกาวปิดเขียนด้วยตัวอักษรสีแดงว่า ยาอันตราย ส่วนยา TRIQUIN มีลักษณะเป็นผง บรรจุในถุงพลาสติกใส ซอง ขวดพลาสติก และถังพลาสติก บรรจุภัณฑ์ทุกชนิดมีฉลากยาเป็นสีเขียวหรือสีขาวกับสีเขียว บรรจุภัณฑ์ที่เป็นซองและกล่องกระดาษสีเขียวตามใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.2 มีรูปลูกไก่ปรากฏอยู่และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นซองตามวัตถุพยานหมาย จ.23 ที่ฉลากยาเขียนด้วยอักษรสีแดงว่า ยาอันตราย ยาสำหรับสัตว์ และระบุว่าผลิตโดยเชอริ่ง พลาว ลิมิเต็ด ความผิดแผกแตกต่างระหว่างรูปลักษณะของยาและบรรจุภัณฑ์ของยา Tequin และยา TRIQUIN มีอยู่เห็นได้ชัดแจ้งแม้เมื่อแรกเห็น นอกจากนี้ตามเอกสารกำกับยาภาษาไทยของยา Tequin ยังระบุข้อบ่งใช้ของยา Tequin ว่ายา Tequin ควรใช้ในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป ขนาดและวิธีให้ยาเป็นขนาดยาและวิธีให้ยาที่ใช้สำหรับผู้ป่วย 1 ราย ส่วนเอกสารกำกับยาภาษาไทยของยา TRIQUIN ตามเอกสารหมาย จ.1 และตามที่ปรากฏบนฉลากยาในวัตถุพยานหมาย จ.23 ระบุข้อบ่งใช้ในซองยา TRIQUIN ว่าเป็นยาที่ใช้ในโรคติดเชื้อของไก่ เป็ด ขนาดยาก็เป็นขนาดยาที่ใช้ผสมกันน้ำดื่มหรือาหารสัตว์ สำหรับอาหารสัตว์จำนวนมากตั้งแต่ 10,000 ตัวขึ้นไป ทั้งยา Tequin ของโจทก์ และยา TRIQUIN เป็นยาอันตราย มีบุคคลบางประเภทเท่านั้นที่จะใช้ ไม่ใช่สินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้สอย เป็นการยากมากที่ผู้ใช้จะหลงผิดเข้าใจว่า ยาของโจทก์เป็นยาของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว ยา Tequin เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และมีจำหน่ายในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเท่านั้น ส่วนยา TRIQUIN จำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันสำหรับสัตว์ ซึ่งจำหน่ายเฉพาะยาสำหรับสัตว์ ถึงแม้ยาประเภทนี้จะสามารถวางจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการวางจำหน่ายในสถานที่ดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนใหญ่จะเป็นการขายตรง คือ มีสัตว์แพทย์หรือพนักงานของบริษัทนำไปจำหน่ายแก่ฟาร์มสัตว์ ส่วนจำเลยนำสืบโต้แย้งว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า Tequin เป็นคำสองพยางค์ขึ้นต้นด้วยอักษร T และมีพยางค์ท้ายเป็นคำว่า quin เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว แม้ตัวอักษรอื่นที่ประกอบเป็นคำในพยางค์แรกเป็น e กับ RI จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า เทควิน ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วเรียกขานได้ว่า ไทรควิน นับว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เมื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าจำพวกที่ 5 เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วก็ตาม แต่สินค้าของโจทก์เป็นผลิตภัณฑ์ยาสำหรับรักษามนุษย์ ส่วนสินค้าตามเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนแล้วเป็นสำหรับรักษาสัตว์ซึ่งมีสถานที่จำหน่ายยาแยกต่างหากจากกัน เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงทุกอย่างประกอบกันไม่ว่าจะเป็นลักษณะของตัวอักษรในเครื่องหมายการค้า เสียงเรียกขานและผลิตภัณฑ์สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนเกิดการสับสนหรือหลงผิดในตัวสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์อาจพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ยาของโจทก์ในอนาคตก็ดี โจทก์อาจนำผลิตภัณฑ์ยาของโจทก์วางจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไปอนาคตก็ดี ซึ่งอาจทำให้มีการจ่ายยาผิดแก่สาธารณชนนั้น เห็นว่า เป็นเพียงการคาดการณ์เกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่ย่อมอยู่ในการควบคุมของรัฐได้ตามกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ดังนั้น เมื่อเครื่องหมายกาค้าของโจทก์มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 และมาตรา 13 คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ายืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมไม่ชอบดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมา อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.