คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4783/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 โดยกล่าวอ้างว่าการประดิษฐ์ที่มีส่วนประกอบของกวาวเครือมีการเปิดเผยสาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2474 ก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์จึงไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ นอกจากนี้การประดิษฐ์ดังกล่าวยังไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น เพราะองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือเป็นส่วนประกอบพื้นๆ ธรรมดาที่บุคคลอื่นและโจทก์ใช้หรือผลิตกันอยู่ทั่วไป ทั้งไม่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรืออื่นๆ ได้ คงถือเป็นเพียงการผสมสมุนไพร จึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ คำฟ้องดังกล่าวเป็นที่เข้าใจแล้วว่า สิทธิบัตรพิพาทไม่สมบูรณ์เพราะเหตุใด การที่โจทก์ไม่ได้ระบุว่าเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ดังกล่าวมีชื่อว่าอะไร เปิดเผยสาระสำคัญอย่างไร เผยแพร่ที่ไหนอย่างไร บุคคลทั่วไปรวมทั้งโจทก์นำสมุนไพรกวาวเครือไปผสมกับสารอะไรในอัตราส่วนเท่าใด มีขั้นตอนการผลิตอย่างไร ล้วนเป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
โจทก์ประกอบธุรกิจจำหน่ายและผลิตยาและเครื่องสำอางซึ่งผลิตจากสมุนไพรกวาวเครือ ต่อมาเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ประกาศในหนังสือพิมพ์ให้ผู้ผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย และเสนอขายผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน หรือคล้ายกันกับองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือของจำเลยที่ 1 ยุติการกระทำและเรียกคืนผลิตภัณฑ์จากท้องตลาด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรกวาวเครือเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งหากสิทธิบัตรพิพาทมีผลสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ย่อมจะมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวและมีสิทธิห้ามบุคคลอื่นรวมทั้งโจทก์ในการประกอบการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือได้ ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากข้อถือสิทธิที่ระบุไว้ในสิทธิบัตรพิพาทเป็นสำคัญ โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง โดยโจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องในรายละเอียดว่า โจทก์ผลิตและจำหน่ายหรือมีไว้ซึ่งสินค้าดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด
ตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทรพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2474 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ทั้งถือว่าได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ปรากฏในตำราดังกล่าวต่อสาธารณชนด้วยเพราะประชาชนทั่วไปย่อมสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เปิดเผยดังกล่าวได้โดยชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีการเผยแพร่ และจำนวนของเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อเทียบเคียงกับจำนวนประชากรของประเทศ
สาระสำคัญของสิทธิบัตรพิพาทอยู่ที่ส่วนผสมของสมุนไพรจากกวาวเครือกับส่วนประกอบจากน้ำนมและผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์ส่วนประกอบอื่นๆ นอกจากนี้อาจจะมีอยู่ด้วยหรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็ได้ เมื่อตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทรที่มีการพิมพ์เผยแพร่มาก่อนได้กล่าวถึงการนำกวาวเครือมาผสมกับนมสัตว์ ปั้นเป็นลูกกลอนใช้รับประทาน ซึ่งหากพิจารณาว่าใช้อัตราส่วนผสมอย่างละร้อยละ 50 ไม่ว่าจะมีสารประกอบอื่นในจำนวนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนผสมดังกล่าวหรือไม่ ก็จะมีลักษณะเดียวกับข้อถือสิทธิของการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทนั่นเอง การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทจึงไม่อาจนับเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพราะมีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดไว้ก่อนแล้ว ทั้งลำพังการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ก็ไม่ได้ส่งผลให้การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และมีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่ประกอบธุรกิจจำหน่ายและผลิตยาทั้งแผนปัจจุบัน แผนโบราณ ยาจีน เครื่องสำอาง อาหารเสริมและบำรุงร่างกายที่มีสมุนไพรกวาวเครือเป็นองค์ประกอบ เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้ประกาศในหนังสือพิมพ์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ องค์ประกอบสมุนไพรจจากกวาวเครือตามสิทธิบัตรเลขที่ 8912 ให้ผู้ที่ผลิต ขาย มีไว้เพื่อขายและเสนอขายผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือที่มีลักษณะเช่นเดียวหรือคล้ายกันกับองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือตามสิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 ยุติการกระทำดังกล่าว และให้เรียกคืนหรือจัดเก็บผลิตภัณฑ์อันถือเป็นการละเมิดสิทธิบัตรดังกล่าวออกจากท้องตลาดทันที โจทก์ทั้งสี่ตรวจพบว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประดิษฐ์หรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์องค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือดังกล่าว และได้โอนสิทธิในการประดิษฐ์ รวมถึงสิทธิรับสิทธิบัตร และสิทธิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งการประดิษฐ์ที่จำเลยที่ 1 ขอรับสิทธิบัตรนั้นได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่ตั้งแต่ประมาณปี 2474 แล้ว จึงมิใช่การประดิษฐ์ใหม่ โจทก์ทั้งสี่ได้นำสมุนไพรกวาวเครือไปเป็นส่วนผสมอันเป็นองค์ประกอบในการผลิตยาสมุนไพรซึ่งเป็นสินค้าและได้จำหน่ายในท้องตลาดมาเป็นเวลานาน การนำสมุนไพรกวาวเครือไปเป็นส่วนผสมอันเป็นองค์ประกอบในการผลิตยาสมุนไพรได้ตกเป็นสาธารณสมบัติบุคคลในสังคมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 คลุมเครือ ไม่เฉพาะเจาะจงในการประดิษฐ์ไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ การประดิษฐ์ของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการประดิษฐ์มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และไม่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือเรื่องอื่นๆ ได้ ส่วนประกอบหลักในการผลิต คือกวาวเครือ เป็นพืชที่ทุกคนมีสิทธิใช้ประโยชน์ร่วมกัน ถือว่าเป็นลักษณะของยาหรือสิ่งผสมของยาที่มีพืชเป็นส่วนประกอบ ไม่ควรให้บุคคลใดผูกขาดถือสิทธิเอาเป็นของตนเอง ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 9 (1) การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกสิทธิบัตรให้จำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ ทำให้สาธารณชนทั่วไปและโจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่า สิทธิบัตรตามคำขอเลขที่ 045463 สิทธิบัตรเลขที่ 8912 ที่ออให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวและถือเอาคำพิพากษาแสดงต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเพิกถอนสิทธิบัตร เลขที่ 8912
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่เคลือบคลุม การประดิษฐ์ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรนั้นชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม ก่อนวันยื่นขอรับสิทธิบัตรนั้น ยังไม่มีบุคคลใดคิดค้นหรือคิดทำขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือที่มีลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาท ไม่มีผู้ใดรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่คัดค้านคำขอสิทธิบัตร โจทก์ทั้งสี่ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประดิษฐ์องค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือตามสิทธิบัตรพิพาท และได้พัฒนากระบวนการผลิตขึ้นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์หลานรูปแบบ คือ ทำเป็นชนิดผง น้ำ อัดเม็ด แคปซูล และยาลูกกลอน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการพกพาและตามความเหมาะสมในการใช้ของผู้บริโภค การยื่นขอรับสิทธิบัตรพิพาทผ่านขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมาย ไม่มีผู้ใดรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่คัดค้าน สิทธิบัตรพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วทั้งในและต่างประเทศก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ขอรับสิทธิบัตร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า สิทธิบัตรตามคำขอเลขที่ 045463 เลขที่สิทธิบัตร 8912 ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้จำเลยที่ 1 ไม่สมบูรณ์ ให้เพิกถอนเสีย โดยให้โจทก์ทั้งสี่ถือเอาคำพิพากษานี้แสดงต่ออธิบดีกรมทรัพยสินทางปัญญาเพื่อดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ทั้งสี่ประกอบการค้ายาและเครื่องสำอางซึ่งผลิตจากสมุนไพรกวาวเครือ เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ประกาศในหนังสือพิมพ์ให้ผู้ผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย และเสนอขายผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือที่มีลักษณะเช่นเดียวกันหรือคล้ายกันกับองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือของจำเลยที่ 1 ยุติการกระทำและเรียกคืนผลิตภัณฑ์จากท้องตลาด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ประการแรกว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 โดยกล่าวอ้างว่าการประดิษฐ์ที่มีส่วนประกอบของกวาวเครือดังกล่าวมีการเปิดเผยสาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2474 ก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ขอรับสิทธิบัตร การประดิษฐ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ นอกจากนี้การประดิษฐ์ดังกล่าวยังไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น เพราะองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือเป็นส่วนประกอบพื้นๆ ธรรมดาที่บุคคลอื่นและโจทก์ทั้งสี่ใช้หรือผลิตกันอยู่ทั่วไป ทั้งไม่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรืออื่นๆ ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องการผลิตทางอุตสาหกรรม ไม่เป็นประโยชน์ทางอุตสาหกรรม คงถือเป็นเพียงการผสมสมุนไพร จึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ คำบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวเป็นที่เข้าใจอย่างแจ้งชัดแล้วว่า สิทธิบัตรพิพาทไม่สมบูรณ์เพราะเหตุใด ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ไม่เคลือบคลุม ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหลายประการ เช่น โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้ระบุว่าเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ดังกล่าวมีชื่อว่าอะไรเปิดเผยสาระสำคัญอย่างไร เผยแพร่ที่ไหนอย่างไร บุคคลทั่วไปรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่นำสมุนไพรกวาวเครือไปผสมกับสารอะไรในอัตราส่วนเท่าใด มีขั้นตอนการผลิตอย่างไร เป็นต้นนั้น ล้วนเป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์ทั้งสี่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาคดี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ไม่เคลือบคลุมจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการต่อมามีว่า โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่ใช่ผู้เสียหายที่แก้จริง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ทั้งสี่ประกอบธุรกิจจำหน่ายและผลิตยาและเครื่องสำอางซึ่งผลิตจากสมุนไพรกวาวเครือต่อมาเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 ประกาศในหนังสือพิมพ์ให้ผู้ผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย และเสนอขายผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน หรือคล้ายกันกับองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือของจำเลยที่ 1 ยุติการกระทำและเรียกคืนผลิตภัณฑ์จากท้องตลาด จึงเป็นการบรรยายฟ้องและนำสืบแล้วว่าโจทก์ทั้งสี่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรกวาวเครือเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งหากสิทธิบัตรพิพาทมีผลสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ย่อมจะมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าว และมีสิทธิห้ามบุคคลอื่นรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่ในการประกอบการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกวาวเครือได้ ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากข้อถือสิทธิที่ระบุไว้ในสิทธิบัตรพิพาทเป็นสำคัญ โจทก์ทั้งสี่ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรได้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่ต้องบรรยายฟ้องในรายละเอียดว่า โจทก์ทั้งสี่ผลิตและจำหน่ายหรือมีไว้ซึงสินค้าดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อนึ่ง เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ต่างอ้างว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และอาจฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยทั้งสองได้โดยลำพังแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 3 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีว่า สิทธิบัตรพิพาทสมบูรณ์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองว่าสิทธิบัตรพิพาทเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นและเป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมจึงเป็นสิทธิบัตรที่สมบูรณ์ เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่มีนายวัชพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ นางแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์ นายอภิญญา สันยาสี นางวรกานต์ ดวงจันทร์ นางเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และนายทรงพล จรรย์สืบศรี เบิกความยืนยันว่า ตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทรดังกล่าวมีอยู่จริง และได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2474 ตามเอกสารหมาย จ.18 ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างความมีอยู่ของตำรายาดังกล่าว คงนำสืบไม่รับรู้และอ้างว่าเพิ่งเห็นเอกสารดังกล่าวในภายหลัง รวมทั้งโต้แย้งว่าตำรายาดังกล่าวแตกต่างจากสิทธิบัตรพิพาทเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่มีน้ำหนักดีกว่าและคดีเป็นอันรับฟังได้ว่าตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทรมีอยู่จริง และได้พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2474 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ทั้งถือว่าได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ปรากฏในตำรายาดังกล่าวต่อสาธารณชนด้วย เพราะประชาชนทั่วไปย่อมสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เปิดเผยดังกล่าวโดยชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีการเผยแพร่ และจำนวนของเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อเทียบเคียงกับจำนวนประชากรของประเทศดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์แต่อย่างใด
สำหรับข้อที่ว่า ข้อมูลในตำรับยาดังกล่าวเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดเกี่ยวกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบจากรายละเอียดตามที่ปรากฏในสิทธิบัตรรวมตลอดถึงข้อถือสิทธิเป็นสำคัญ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ประการ ตามข้อถือสิทธิข้อ 1 ส่วนความหมายของคำว่า “ร้อยละ 0” นั้น หมายความว่า สารดังกล่าวมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสารอื่น มิใช่ว่าจะไม่มีเลยก็ได้ เห็นว่า สิทธิบัตรพิพาทระบุชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ว่า องค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือ เมื่อพิจารณาบทสรุปการประดิษฐ์ระบุว่า “เปิดเผยถึงองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือชนิดขาว แดง ดำ ที่ประกอบด้วยส่วนประกอบน้ำนม และผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์ และ/หรือส่วนประกอบจากสารอาหารรสหวาน และ/หรือส่วนประกอบจากพืชสมุนไพร และ/หรือส่วนประกอบอื่นๆ ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือหลายชนิด ร่วมกันเพื่อรักษาโรคบางชนิดและส่งเสริมสุขภาพ” สาระสำคัญของสิทธิบัตรพิพาทจึงอยู่ที่ส่วนผสมของสมุนไพรจากกวาวเครือกับส่วนประกอบจากน้ำนมและผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์ ส่วนประกอบอื่นๆ นอกจากนี้อาจจะมีอยู่ด้วยหรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็ได้ เพราะบทสรุปการประดิษฐ์ดังกล่าวใช้คำว่า “และ/หรือ” จึงแตกต่างจากข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้สิทธิบัตรพิพาทก็ไม่ได้แสดงให้ปรากฏเลยว่า สารประกอบอื่นๆ เหล่านั้นมีความสำคัญ หรือจำเป็นในการประดิษฐ์นี้เช่นใด ประกอบกับเมื่อพิจารณาข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรแล้ว จะพบว่าข้อถือสิทธิ ข้อ 2 ได้ระบุถึงปริมาณของส่วนประกอบต่างๆ โดยกวาวเครือชนิดขาว และ/หรือกวาวเครือชนิดแดง และ/หรือกวาวเครือชนิดดำจะมีปริมาณร้อยละ 10 ถึง 100 ของน้ำหนัก องค์ประกอบสมุนไพรที่ผลิตขึ้น น้ำนมและผลิตภัณฑ์จากน้ำนมสัตว์ประเภทวัว ควาย แพะ มีปริมาณร้อยละ 0 ถึง 50 ของน้ำหนักองค์ประกอบสมุนไพรที่ผลิตขึ้น ส่วนสารประกอบอื่นๆ คือสารอาหารรสหวาน ส่วนประกอบจากสมุนไพร และสารประกอบเพื่อแต่งสี รส กลิ่น ลักษณะสารขึ้นรูป สารเพิ่มเนื้อ สารพาหะ มีปริมาณร้อยละ 0 ถึง 50 และ 0 ถึง 25 ของน้ำหนักองค์ประกอบสมุนไพรที่ผลิตขึ้นตามลำดับ และข้อถือสิทธิ ข้อ 3 ถึงข้อ 7 ก็มีข้อความในทำนองที่สามารถประกอบเพิ่มเติมด้วยสารอื่นได้อีก แสดงให้เห็นว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทอาจจะไม่ได้ประกอบด้วยส่วนประกอบ 5 ประการ ดังที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งหากจำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าสารประกอบอื่นๆ ตามข้อถือสิทธิ ข้อ 1 จำเป็นต้องมี แต่อยู่ในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนประกอบอื่นเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นช่องทางให้บุคคลอื่นกล่าวอ้างถึงส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่ได้ผลิตขึ้น ในทำนองนี้เช่นกัน ดังนี้ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่า การเติมสารประกอบอื่นๆ ในปริมาณที่น้อยมากเช่นนั้น ทำให้การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทเกิดความแตกต่างจากตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทรจนเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่เช่นใด อนึ่ง การที่ข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรพิพาทได้ระบุไว้อย่างกว้าง เมื่อได้รับการยอมรับให้จดทะเบียนสิทธิบัตรเช่นนี้ ย่อมจะเป็นการห้ามและกีดกั้นมิให้บุคคลอื่นคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ที่จะมีลักษณะของส่วนผสมตามที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิได้ ซึ่งในทางกลับกัน การพิจารณาว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทเป็นงานที่ไม่ปรากฏอยู่แล้วหรือไม่ ก็ย่อมจะต้องถูกพิจารณาเปรียบเทียบอย่างกว้างขวางเข่นเดียวกันและถือว่า งานที่ปรากฏก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นขอจดทะเบียนนั้นหากมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นเดียวกันข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรพิพาทแล้ว ก็จะทำให้การประดิษฐ์ของจำเลยที่ 1 ขาดความใหม่ได้ ทั้งนี้ การพิจารณาว่าการประดิษฐ์ใดเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่นั้น มิได้มีแต่เพียงวิธีการตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบไม่เพราะวิธีตรวจสอบตามมาตรฐานสากลยังมีวิธีอื่นด้วย เช่น หลักเกณฑ์การทดสอบการละเมิดในภายหลัง (Post infringement test) เป็นต้น เมื่อตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทรได้กล่าวถึงการนำกวาวเครือมาผสมกับนมสัตว์ ปั้นเป็นลูกกลอนใช้รับประทานซึ่งหากพิจารณาว่าใช้อัตราส่วนผสมอย่างละร้อยละ 50 ไม่ว่าจะมีสารประกอบอื่นในจำนวนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนผสมดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ก็จะมีลักษณะเดียวกับข้อถือสิทธิของการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทนั่นเอง การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทจึงไม่อาจนับเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ได้ เพราะมีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดไว้ก่อนแล้ว ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในทำนองที่ว่า ตำรายาหัวกวาวเครือดังกล่าวไม่ได้การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือการรับประทานยาตามตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทรต้องมีพิธีกรรมอื่นประกอบนั้นไม่มีผลทำให้การพิจารณาความสมบูรณ์ของสิทธิบัตรเกี่ยวกับการประดิษฐ์ขึ้นใหม่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับข้อเท็จจริงเรื่องสรรพคุณและลักษณะของการประดิษฐ์นั้น สิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 ได้ระบุไว้ในบทสรุปการประดิษฐ์ว่า เพื่อรักษาโรคบางาชนิดและส่งเสริมสุขภาพ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยืนยันในสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงไม่ต่างจากยาอายุวัฒนะตามตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทร และข้อถือสิทธิ ข้อ 8 ได้ระบุว่า “ขึ้นรูปตามลักษณะองค์ประกอบสมุนไพรจากกวาวเครือที่ผลิตได้ และตามความเหมาะสมในการใช้ ซึ่งอาจเป็นลักษณะอัดเม็ด ปั้นเป็นยาลูกกลอน ยาบรรจุในแคปซูล เป็นยาที่มีลักษณะเป็นน้ำ หรือเป็นยาที่มีลักษณะเหนียวตักได้” ดังนั้น การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทก็อาจมีลักษณะเป็นยาลูกกลอนด้วย หาใช้มีเฉพาะแต่ลักษณะเป็นแคปซูลดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ ทั้งลำพังการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของผลิตภัณฑ์เช่นนี้ หาได้ส่งผลให้การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรพิพาทเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่แต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างสิทธิบัตรพิพาทกับตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทรและเห็นว่าสิทธิบัตรพิพาทไม่ใช่การะประดิษฐ์ขึ้นใหม่และไม่มีขั้นการประดิษฐ์ขึ้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share