คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4932/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มอบอำนาจให้บุคคลที่มีรายชื่อในกลุ่ม ก. คนใดคนหนึ่งในจำนวน 3 คน ลงลายมือชื่อหรือบุคคลที่มีรายชื่อในกลุ่ม ข. 2 คน ในจำนวน 8 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันกระทำกิจการต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 ถึงข้อ 5 ได้แก่ ยื่นคำฟ้อง ดำเนินคดีทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีล้มละลาย แจ้งความร้องทุกข์ รับเงินหรือทรัพย์สิน รวมทั้งให้มอบอำนาจช่วงแทนโจทก์ได้ การมอบอำนาจให้บุคคลในกลุ่ม ก. เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนกระทำกิจการแยกกันได้ ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร ข้อ 7 (ค) ส่วนการมอบอำนาจให้บุคคลในกลุ่ม ข. เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลหลายคนร่วมกันกระทำมากกว่าครั้งเดียวต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร ข้อ 7 (ข)
การมอบอำนาจช่วงให้บุคคลที่มีรายชื่อคนใดคนหนึ่งในจำนวน 3 คน มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งที่รวมทั้งมีอำนาจมีรับเงินหรือเอกสารและอื่นๆ ได้ เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียวต้องเสียค่าอากรแสตมป์จำนวน 10 บาท ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร ข้อ 7 (ก)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายยอดยิ่ง เดชภูวดล และ นางสาวขจิตมาศ เย็นบำรุง มีอำนาจแต่งตั้ง นายอรรถพล ชูสาย หรือนายโกศล อัศวเดชานุกร หรือนายสุริยนันท์ ชาญประโคน เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงเพื่อฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนเอเชียธนกิจ จำกัด (มหาชน) โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักฐานการกู้ยืมโดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ทุกชนิดทุกประเภทจำนวนที่มีอยู่ในเวลานั้นและที่จะมีต่อไปในอนาคตในวงเงิน 14,500,000 บาท โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้และมียอดหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นเงิน 3,266,677.14 บาท ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง 2,037,914.30 บาท รวมเป็นเงิน 5,304,591.44 บาท เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทเงินทุนเอเชียธนกิจ จำกัด (มหาชน) ที่มีต่อจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้โดยได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องและบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์แล้วจำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,304,591.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 3,266,677.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นลายมือชื่อปลอมและการปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จำเลยชำระหนี้แก่บริษัทเงินทุนเอเชียธนกิจ จำกัด (มหาชน) แล้ว สัญญาขายสินทรัพย์เป็นโมฆะ โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วเงินโดยไม่สุจริต คิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย ทั้งคำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถาม จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 และโจทก์กับบริษัทเงินทุนเอเชียธนกิจ จำกัด เพิกเฉยไม่รับเงินจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,013,403.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,266,677.14 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 17 พฤษภาคม 2544) ต้องไม่เกินจำนวน 1,291,187.70 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5 และ 6 ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (5) ขอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องใหม่กับวินิจฉัยประเด็นอื่นๆ ตามรูปคดีต่อไปนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การต่อสู้ไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีและหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5 และ 6 ของโจทก์ ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมายคดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสองฉบับปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การปิดอากรแสตมป์ไม่จำต้องปิดในขณะฟ้องเพราะสามารปิดได้ในวันที่อ้างส่งเอกสารเพื่อรับฟังเป็นพยานหลักฐานเท่านั้น โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวข้างต้น เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (5) และเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาในประเด็นที่มิได้วินิจฉัยใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 แต่เมื่อได้พิเคราะห์ถึงว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีข้ออื่นๆ แล้ว โดยที่จำเลยทั้งสี่ก็มิได้อุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นข้ออื่นๆ นั้น คงอุทธรณ์คัดค้านเฉพาะในข้อที่ว่าศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยประเด็นเรื่องหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับของโจทก์ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมายเท่านั้นประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้ว และเพื่อมิให้เป็นการล่าช้าแก่คดี ศาลฎีกาจึงเป็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อน ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่มิได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติได้ว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ4 (เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5) และหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินคดีเอกสารหมาย จ.5 (เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6) ได้ปิดอากรแสตมป์จำนวน 330 บาท และ 90 บาท และขีดฆ่าแล้วตามลำดับ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับดังกล่าวปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 (เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5) เป็นกรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้บุคคลที่มีรายชื่อในกลุ่ม ก. คนใดคนหนึ่งในจำนวน 3 คน ลงลายมือชื่อหรือบุคคลที่มีรายชื่อในกลุ่ม ข.2 คนในจำนวน 8 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันกระทำกิจการต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 ถึงข้อ 5 ได้แก่ ยื่นคำฟ้อง ดำเนินคดีทั้งในคดีแพ่งคดีอาญา คดีล้มละลาย แจ้งความร้องทุกข์ รับเงินหรือทรัพย์สินรวมทั้งให้มอบอำนาจช่วงแทนโจทก์ได้ การมอบอำนาจให้บุคคลในกลุ่ม ก. เป็นการมอบอำนาจให้กระทำกิจการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ตามรายตัวบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7 (ค) ส่วนการมอบอำนาจให้บุคคลในกลุ่ม ข. เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลหลายคนร่วมกันกระทำมากกว่าครั้งเดียวต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7 (ข) สำหรับการมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินคดีเอกสารหมาย จ.5 (เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6) ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลที่มีรายชื่อคนใดคนหนึ่งในจำนวน 3 คน มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่รวมทั้งมีอำนาจรับเงินหรือเอกสารและอื่นๆ ได้ เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียวต้องเสียค่าอากรแสตมป์จำนวน 10 บาท ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7 (ก) หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 และหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินคดีเอกสารหมาย จ.5 ของโจทก์จึงปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมายสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share