แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ (วิทยาศาสตร์การแพทย์) มีหน้าที่ในการตรวจผลเลือด ผลทางเคมี อุจจาระ และปัสสาวะ เพื่อส่งให้แพทย์วินิจฉัยและทำการรักษาโรคแก่ผู้ป่วยต่อไป หน้าที่ของโจทก์จึงเป็นหน้าที่อันสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาโรคแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง อันจะส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โจทก์นำเลือดของผู้ป่วยโรคไตไปตรวจ แต่ผลการตรวจเลือดไม่สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย เมื่อแพทย์สั่งให้โจทก์ตรวจเลือดของผู้ป่วยรายนี้อีกครั้ง ผลการตรวจเลือดในครั้งที่สองซึ่งเป็นผลการตรวจที่ถูกต้อง ได้ผลเลือดที่มีค่าแตกต่างจากที่ตรวจในครั้งแรกมาก และในวันที่เป็นเวรของโจทก์ที่จะต้องเตรียมเลือดให้ผู้ป่วย โจทก์ไม่ไปปฏิบัติงานตามหน้าที่อ้างว่าสั่งให้พยาบาลปฏิบัติหน้าที่แทน นอกจากนี้เมื่อแพทย์สั่งให้โจทก์หาผลเลือดทางเคมี 2 ชนิด แต่โจทก์ตรวจหาให้เพียงชนิดเดียว ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ไม่ครบถ้วน จึงต้องสั่งให้โจทก์ตรวจหาค่าที่ยังไม่ได้ตรวจอีกชนิดหนึ่ง การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการประมาทเลินเล่อ ขาดความเอาใจใส่ และความรับผิดชอบในหน้าที่ ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ไม่ครบถ้วน ล่าช้า ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และชีวิตของผู้ป่วย อันมีผลกระทบถึงชื่อเสียงของโรงพยาบาลจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์เป็นอย่างมาก จึงเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และยังถือว่าเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยสุจริตอีกด้วย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (3) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583
การพิจารณาว่าการเลิกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นก็ได้ เมื่อปรากฏว่าการกระทำของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยเสียชื่อเสียงในการประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชนเป็นอย่างมาก และเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงนับว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือเลิกจ้างโจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ปฏิบัติงานในหน้าที่บกพร่อง ไม่อุทิศตัวให้กับงานในภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทำให้เกิดผลเสียหายแก่จำเลย มีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อวิชาชีพและองค์กร ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๑๖,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายเงินประกันการทำงานจำนวน ๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายค่าจ้างจำนวน ๑๖,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายค่าชดเชยจำนวน ๑๒๙,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จและจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน ๙๗,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ปฏิบัติงานบกพร่อง ผิดพลาดในหน้าที่ ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในตำแหน่งหน้าที่การงาน และโจทก์กล่าวให้ร้ายผู้บริหารของจำเลยและเจ้าหน้าที่จำเลยไปในทางที่เสียหายไม่เป็นความจริง ทำให้จำเลยได้รับความเสื่อมเสียต่อการประกอบกิจการและเสียชื่อเสียง โจทก์ไม่อุทิศตัวให้แก่หน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และมิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ทำความเสียหายให้จำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยมีสิทธิที่จะยึดเงินประกันการทำงานของโจทก์ได้ ค่าจ้างซึ่งจำเลยยังค้างชำระแก่โจทก์นั้นเนื่องจากมีข้อบกพร่องในการแก้ไขการเสียภาษีอากรของโจทก์และเจ้าหน้าที่ทุกคน จำเลยจึงระงับการจ่ายเงินของโจทก์ไว้ก่อน ซึ่งจำเลยจะจ่ายให้ภายหลังเมื่อทำการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน ๑๘,๓๖๐ บาท ชำระเงินประกันการทำงาน จำนวน ๔,๐๐๐ บาท ชำระค่าจ้าง จำนวน ๑๔,๘๕๐ บาท ชำระค่าชดเชย จำนวน ๑๒๙,๖๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเสียก่อน ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ (วิทยาศาสตร์การแพทย์) มีหน้าที่ตรวจผลเลือด ผลทางเคมี อุจจาระ และปัสสาวะ เพื่อส่งให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาโรคต่อไป เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๓ แพทย์สั่งให้พยาบาลเจาะเลือดผู้ป่วยแล้วนำไปให้โจทก์ตรวจการทำหน้าที่ของไต แต่เมื่อแพทย์ได้รับผลการตรวจเลือดจากโจทก์แล้วเห็นว่าผลการตรวจเลือดไม่สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย โดยผลของการตรวจเลือดเป็นอาการของคนปกติธรรมดา ซึ่งผู้ป่วยโรคไตไม่น่าจะมีผลเลือดเช่นนั้น เมื่อแพทย์สั่งให้โจทก์ตรวจเลือดผู้ป่วยรายนี้อีกครั้ง ผลการตรวจเลือดในครั้งที่สองซึ่งเป็นผลการตรวจที่ถูกต้อง ได้ผลเลือดมีค่าแตกต่างจากที่ตรวจในครั้งแรกมาก และในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๓ เวลา ๒๒.๒๐ นาฬิกา เป็นเวรของโจทก์ที่จะต้องเตรียมเลือดให้ผู้ป่วย แต่โจทก์ไม่ไปปฏิบัติงานตามหน้าที่อ้างว่าสั่งให้พยาบาลปฏิบัติหน้าที่แทน นอกจากนี้ในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๓ แพทย์สั่งให้โจทก์ตรวจหาผลเลือดทางเคมี ๒ ชนิด แต่โจทก์ตรวจหาผลทางเคมีให้เพียงชนิดเดียว ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ไม่ครบถ้วนจึงต้องสั่งให้โจทก์ตรวจหาค่าทางเคมีที่ยังไม่ได้ตรวจอีกชนิดหนึ่ง เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ (วิทยาศาสตร์การแพทย์) มีหน้าที่ในการตรวจผลเลือด ผลทางเคมี อุจจาระ และปัสสาวะเพื่อส่งให้แพทย์วินิจฉัยและทำการรักษาโรคแก่ผู้ป่วยต่อไป หน้าที่ของโจทก์จึงเป็นหน้าที่อันสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง อันจะส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการประมาทเลินเล่อ ขาดความเอาใจใส่และความรับผิดชอบในหน้าที่อันเป็นความบกพร่องอย่างยิ่ง จำเลยประกอบกิจการโรงพยายบาลเอกชนความถูกต้องรวดเร็วในการวินิจฉัยและการรักษาโรค รวมทั้งความปลอดภัยของผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการที่จะได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากผู้ป่วยหรือผู้ที่จะนำผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา หากการวินิจฉัยและการรักษาโรคของโรงพยาบาลจำเลยมีแต่ความผิดพลาด บกพร่อง ล่าช้า ซึ่งมีผลให้ผู้ป่วยต้องเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต หรือสุขภาพแล้ว ก็ย่อมไม่มีผู้ใดกล้าเข้ามารับการรักษาหรือนำผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลจำเลยอย่างแน่นอน ดังนั้น การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ขาดความเอาใจใส่และความรับผิดชอบในหน้าที่ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ไม่ครบถ้วน ล่าช้า ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และชีวิตของผู้ป่วย อันมีผลกระทบถึงชื่อเสียงของโรงพยาบาลจำเลยเป็นอย่างมากดังกล่าวแล้วจึงเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และยังถือว่าเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตอีกด้วย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๓) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์นั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องชดใช้ค่าเสียหายใก้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ หรือไม่ ต้องพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่มิใช่การกระทำความผิดของลูกจ้างเลยก็ได้ แต่เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าการกระทำของโจทก์อันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น เป็นเหตุให้จำเลยเสียชื่อเสียงในการประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชนเป็นอย่างมาก และเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงนับว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในส่วนนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.